ปธ.ฎีกามอบนโยบายผู้บริหาร3ชั้นศาล ชี้’คดีค้าง’ปัญหาหนัก พอใจศาลอุทธรณ์ เสียงปชช.ชื่นชม

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา

เมื่อวันที่20ตุลาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวมอบนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกาแก่ผู้บริหารศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 150 คน ว่า ในการบริหารงานศาลยุติธรรมขอให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เนื่องจากตนเพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เมื่อเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ได้มอบนโยบายไปแล้ว 4 ประการ เพื่อให้ทราบทิศทางการบริหารงาน คือ 1.ดำเนินการให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

“2.พัฒนาศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม โดยส่งเสริมให้มีการศึกษา การฝึกอบรม ทั้งในและต่างประเทศ และให้ยึดมั่นประมวลจริยธรรมในการดำรงตน เนื่องจากเห็นว่า การศึกษา เป็นสิ่งสำคัญ จึงควรสนับสนุนให้บุคลากรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม 3.เพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี และเพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ปัจจุบันเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มากมาย จึงขอให้คนรุ่นใหม่เช่นเลขานุการของศาลต่างๆ นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

“และ4.ดำเนินการส่งเสริมเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ที่เหมาะสมแก่การดำรงตนตามสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นปัจจุบัน โดยได้เตรียม ความพร้อมเพื่อเสนอฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้พิพากษาเป็นอาชีพเดียวที่มีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่ เพราะมีการระบุไว้ในกฎหมาย ผู้พิพากษาทุกคนจึงพึงทราบอยู่แล้วว่า ตนเองมีหน้าที่อย่างไร”

ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมประสบกับปัญหาคดีค้างนานเช่นเดียวกับศาลอื่นๆทั่วโลก แต่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ปัญหาหนักที่สุดคือ คดีที่ค้างพิจารณาที่ศาลฎีกา แม้ว่าอดีตประธานศาลฎีกาทุกท่านพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายว่า สำหรับในศาลฎีกา คดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้คดีเก่าที่ค้างพิจารณามาทำก่อน ไม่ว่าคดีจะยากหรือซับซ้อนก็ตาม และจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลว่าระยะเวลาการพิจารณาสำนวนของผู้พิพากษา ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ภายหลังจากได้รับการจ่ายสำนวนไปแล้ว เนื่องจากศาลฎีกาต้องทำงานเป็นตัวอย่างให้แก่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นต่อไป

Advertisement

ประธานศาลฎีกา กล่าวด้วยว่า สำหรับศาลอุทธรณ์ เป็นศาลที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้มาผู้ติดต่อราชการศาล ไม่ว่าเป็นทนายความหรือประชาชน ต่างชื่นชมว่า การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ไม่มีคดีค้างพิจารณา จึงขอให้รักษามาตรฐานดังกล่าวไว้ คือ คดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสำนวนคดี ควบคู่ไปกับความรวดเร็วในการอำนวยความยุติธรรมด้วย จะต้องมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้หลายคดีถึงที่สุดแค่ศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงควรเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกา และขอให้ช่วยกันคิดว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุด จะเผยแพร่ในลักษณะของคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไร

ประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า สำหรับศาลชั้นต้น บางศาลคดีค้างนานเกิน5ปี จึงขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคไปติดตามเร่งรัด โดยขอให้ตั้งเป้าหมาย หรืออาจมอบหมายให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยติดตามเร่งรัด เพื่อช่วยกันลดคดีค้างนาน ขณะที่ตนจะให้ฝ่ายเลขาธิการประธานศาลฎีกาติดตามและรายงานผลทุก3เดือน หากศาลใดปริมาณคดีไม่ลดลง จะเดินทางไปช่วยแก้ไข ไม่ขอระบุกำหนดเวลาการพิจารณาว่า เมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วควรพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากอาจมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้

ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกากล่าวตอนท้ายการประชุมว่า จะประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image