พสกนิกรทยอยปักหลักชมซ้อมใหญ่ริ้วขบวนฯ ตั้งแต่เที่ยงของวันที่ 20

เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง  ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเดินทางมาชมการซ้อมใหญ่เสมือนจริงริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งที่ 3  ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูจุดคัดกรอง 9 จุด ได้แก่ บริเวณแยกสะพานมอญ ท่าช้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม่พระธรณีบีบมวยผม ถนนกัลยาณไมตรีแยกสะพานช้างโรงสี แยกวัดพระเชตุพนฯ ท่าพระจันทร์ และใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยบริเวณที่หน้าศาลฎีกา ซึ่งเป็นบริเวณตรงข้ามกับพระเมรุมาศ เป็นจุดที่สามารถชมริ้วขบวนได้สวยงามที่สุด ประชาชนต่างมาต่อคิวเข้าจุดคัดกรองบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมตั้งแต่ช่วงเที่ยงของวันที่ 20 ตุลาคม หลายคนเดินทางมาหลังเลิกงานเพื่อเข้าคิวข้ามคืนให้ได้ตำแหน่งดีที่สุดในการชมริ้วขบวน

เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนผ่านจุดคัดกรองเข้ามาในพื้นที่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำรั้วมากั้นในแต่ละจุดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีพื้นที่สำหรับประชาชนจิตอาสาและเจ้าหน้าที่เดินด้านหลัง หากประชาชนคนได้ออกจากจุดกั้นรั้วจะต้องปั้มหมึกที่แขนเพื่อเป็นการแสดงตนว่าได้ผ่านจุดดังกล่าวแล้ว จึงสามารถเข้าไปพื้นที่เดิมได้ โดยใช้เวลาเพียงไม่นานประชาชนก็จับจองเต็มพื้นที่ทางเท้าตั้งแต่ศาลฎีกา เรื่อยมาจนถึงศาลหลักเมือง ทำเนียบองคมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลด้วยความเรียบร้อยและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเดินแนะนำข้อปฏิบัติตลอดเส้นทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะที่บริเวณวงเวียนหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ประชาชนต่างทยอยมาต่อแถวบริเวณจุดคัดกรองแยกสะพานมอญตั้งแต่ 22.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม ยิ่งดึกประชาชนยิ่งคับคั่งจนแถวยาวไปหลายกิโลเมตร เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาต่างเดินเข้ามาอย่างเป็นระเบียบ โดยจับจองที่นั่งบนฟุตบาธตลอดเส้นทางที่ริ้วขบวนเคลื่อนผ่านและบริเวณสนามหญ้าริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นเวลา 07.26 น. เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนจุดคัดกรองที่ 2 หรือจุดบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม ได้เข้ามาชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริมบาทวิถีตลอดแนวนอกเขตราชวัติฝั่งเดียวกับพระเมรุมาศ และบริเวณทางเท้าเกาะกลางพระเมรุมาศและเวทีการแสดงซึ่งรองรับได้ร่วม 20,000 คน ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนเป็นอย่างมากที่ได้ชมอย่างใกล้ชิด แม้จะมีแดดร้อนจัดแต่ประชาชนก็ต่างรู้สึกตื้นตันหน้าที่ตำรวจคอยเดินแนะนำข้อปฏิบัติตลอดเส้นทาง

Advertisement

Advertisement

 

ขณะที่ นางสาวธนิศา ไชยวงศ์วาน อายุ 55 ปี กล่าวว่า หลังจากเลิกงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมได้รีบกลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อมาถึงบริเวณจุดคัดกรองแม่พระธรณีบีบมวยผม พบว่าแถวยาวมากแล้วเพราะ หลายคนมาตั้งแต่บ่าย ซึ่งเท่าที่ถามสำรวจด้านหน้ามีประชาชนมาเช้าสุดที่เที่ยงวัน จึงได้ต่อแถวเลยคลองหลอดมาสักระยะ เมื่อตัดสินใจว่าจะมาแล้วจึงพยายามศึกษาเส้นทางจากข่าวต่างๆให้มากที่สุด และรีบมาก่อนเวลา 22.00 น. ป้องกันการปิดถนน อยากเข้ามาให้ลึกที่สุดเพื่อดูริ้วขบวนทั้ง 3 ริ้ว อยากเห็นพระยานมาศสามลำคาน พระมหาพิชัยราชรถ และราชรถปืนใหญ่สักครั้งในชีวิต รวมถึงอยากเฝ้าฯพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่เสด็จฯร่วมด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าจะรอนานมาก ไม่ได้นอนตลอดทั้งคืนแต่เมื่อเข้ามาในพื้นที่ก็ฮึกเหิม รู้สึกอดทนได้และมีกำลังใจ

“ได้มากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาแล้ว 9 ครั้ง และได้น้อมนำคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ตลอด มีรายได้ก็ใช้จ่ายให้เพียงพอ ที่เหลือเก็บไว้ใช้ในอนาคต ประหยัดต่อไป นางสาวธนิศากล่าว

นางอารียา ปิ่นเกตุ อายุ 77 ปี เดินทางมาจากจังหวัดลพบุรี ด้วยรถไฟตัวคนเดียว กล่าวว่า เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม และมาต่อคิวบริเวณจุดคัดกรองตั้งแต่ เวลา 02.00 น. โดยที่ผ่านมาได้เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพแล้ว 3 ครั้ง กราบสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 2 ครั้ง และมาเข้าร่วมดูการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเป็นครั้งแรก ทั้งยังตั้งมั่นว่าจะมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในวันที่ 26 ตุลาคมอย่างแน่นอน

“รู้สึกใจหายทุกครั้งที่ได้มากราบลาพระองค์ ดิฉันไม่กลัวความเหนื่อยยาก เพราะมาด้วยความตั้งใจ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ มาด้วยความคิดถึง คิดถึงพระองค์มาก” อารียากล่าวน้ำตาคลอและว่า

“ทุกวันนี้ก็น้อมนำเอาคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้ตลอดคือ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักเยอะมาก พอเก็บมาก็เอาแบ่งให้เพื่อนบ้านกิน แจกไป เพราะพระองค์สอนให้เราแบ่งปัน และต้องอดทนด้วย ดูจากที่พระองค์เป็นแบบอย่าง”

นางอภิรดี ประวีณวงศ์วุฒิ อายุ  42 ปี เดินทางมาจากย่านเมืองทองธานี จ.นนทบุรี พร้อมพี่สาว กล่าวว่า สำหรับการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตนมาร่วมชมเป็นครั้งแรก และที่ผ่านมาเมื่อเว้นว่างจากภาระงานจะมาเข้ากราบสักการะพระบรมศพฯตลอด ทั้งนี้ ในช่วงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะมาร่วมอย่างแน่นอน  นอกจากนี้ ยังได้น้อมนำเอาคำสอนของ ในหลวงร.9 มาใช้ในการสอนลูก เช่น เรื่องการซื้อของเล่น ต้องรู้จักพอเพียง ไม่ซื้อเยอะจนเกินไป และหมั่นดูแลรักษาให้ดี เป็นต้น

“ตั้งใจมาด้วยใจจริง ไม่กลัวลำบาก เพราะพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้เราเรื่องความเพียรและอดทน เพื่อครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่เคยคิดจะท้อถอย” อภิรดีกล่าว

นางสาวปาจรีย์ เทพศิริ อายุ 54 ปี ชาวชุมพร นักการท่องเที่ยวชำนาญการ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มาพร้อมพี่สาว และหลานสาว กล่าวว่า เดินทางจากชุมพรเพื่อมารอชมการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศตั้งแต่บ่ายของวันที่ 20 ตุลาคม โดยพากันนั่งเข้าคิวรอบริเวณริมคลองหลอด ถนนอัษฎางค์ หลับๆ ตื่นๆ เพราะตื่นเต้นที่รุ่งเช้าจะได้ชมริ้วขบวนตามที่ตั้งใจ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วของการซ้อมใหญ่ คิดว่าวันจริง 26 ตุลาคมคงเข้าไม่ถึง เพราะประชาชนคงมากันเป็นจำนวนมาก

“เรามาด้วยใจล้วนๆ ตัวเองเกิดมาทันช่วงที่พระองค์เสด็จฯ ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จำได้ว่าตอนอายุ 7 ขวบ มีครั้งหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ โดยรถไฟมาที่อำเภอหลังสวน  จ.ชุมพร ทรงเยี่ยมทุกข์สุขประชาชน พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องไปรับเสด็จ ก็ขอพ่อไปด้วย ก็ถามพ่อว่าในหลวงจะมาบ้านเราไหม พ่อก็บอกว่าท่านจะไปตามที่ที่ประชาชนลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ ความรู้สึกนี้ฝังใจเรามาตลอด ทุกวันนี้พูดถึงพระองค์ไม่ได้ น้ำตาเอ่อทุกที รักพระองค์มาก อธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก เชื่อว่าบารมีของพระองค์อยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง คิดว่าคนไทยทุกคนคิดเหมือนกันข้อนี้ เป็นความรู้สึกซาบซึ้ง ส่านตัวลำบากแค่ไหนก็จะมาชมริ้วขบวนให้ได้ บอกหลานด้วยว่า พระองค์ทรงเหนื่อยมา 70 ปี ท่านทำเพื่อคนไทย ใครลำบากก็รีบไปช่วย ให้เขาได้สัมผัสบรรยากาศวันนี้ว่าประชาชนรักท่านแค่ไหน เมื่อหมดรุ่นเราแล้วเขาจะได้มีเรื่องเล่าให้รุ่นต่อๆ ไปได้” พสกนิกรจากชุมพร กล่าว

 

ธนิศา ไชยวงศ์วาน
ปาจรีย์ เทพศิริ
อภิรดี ประวีณวงศ์วุฒิ
อารียา ปิ่นเกตุ

ภายหลังการซ้อมริ้วขบวนที่ 1 และ 2 ในเวลาประมาณ 12.00 น.

พ.อ.รชต วงษ์อารีย์ รองเจ้ากรมการสารวัตรทหารบก หนึ่งในจิตอาสา ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประชาชน กล่าวว่า ตนสมัครเป็นจิตอาสาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน รับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าชมริ้วขบวนในพื้นที่ ซึ่งการทำหน้าที่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ากลัว แต่ดูแลไม่ให้มีคนลุกล้ำ หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เข้ามาในพื้นที่ที่ริ้วขบวนเคลื่อนผ่าน หากพบก็จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีใครที่ทำอะไรไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามในฐานะประชาชนคนหนึ่งรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสมาถวายงานครั้งนี้ เพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่คนไทยทุกคนต่างร่วมใจน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย

“ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความเสียใจบรรเทาลง แต่ก็ยังมีความอาลัย ซึ่งอยากให้ทุกคนแปลเปลี่ยนความเศร้าโศกเสียใจในความสูญเสียครั้งนี้ มาเป็นพลังบวกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยนำคำสอนของพระองค์มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความพอเพียง ความเสียสละ ความอดทน ซึ่งพระองค์ทรงเป็นตัวอย่างให้ประชาชนทั่วประเทศ ทรงใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือยเช่นคนรวยหรือคนมีฐานะทั่วไป” พ.อ.รชตกล่าว

นายชิโนรส  ใจบุญ อายุ 34 ปี อาชีพวิศวกร บริษัทเอกชน กล่าวว่า ตนเดินทางมาจากบ้านย่านแคราย ตั้งแต่เวลา 04.00 น. พร้อมกับภรรยา เข้าฝั่งจุดคัดกรองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตั้งใจมาส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานหนักเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อยู่ดี กินดี ซึ่งไม่ใช้มีฐานะร่ำรวย แต่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข พระองค์เสด็จฯไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อแก้ปัญหาความยากไร้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกคนได้เห็นอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ตนได้มีโอกาสเฝ้าฯรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่9 จะรู้สึกตื้นตันใจ น้ำตาไหล ด้วยความปกติในพระบารมี

“ผ่านไป 1 ปีแห่งความสูญเสีย ทำใจได้มากขึ้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่า พอถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ความรู้สึกจะเป็นเช่นไร คงต้องทำใจอีกรอบ เพราะเหมือนกับว่า พระองค์เสด็จสู่สรวงสวรรค์แล้วจริงๆ” นายชิโนรส กล่าว

ชิโนรส ใจบุญ
พ.อ.รชต วงษ์อารีย์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image