‘ฟิสิกส์แม่งเถื่อน’ คมพิสิฐ ประสาท เมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ครูก็ต้อง (กล้า) เปลี่ยน

หลังเหตุการณ์ฝนตกหนักเช้ามืดวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากคลิปฝ่าน้ำท่วมสูงและผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ คลิปๆ หนึ่งที่มีคนแชร์มากนับหมื่นครั้ง มีคนดูยอดวิวพุ่งหลายแสนคน คือคลิปจากเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ฟิสิกส์แม่งเถื่อน”

โดยเพจดังกล่าวมีคนกดไลค์มากกว่า 1.5 แสนคน เอาเหตุการณ์น้ำท่วมมาปรับให้เข้ากับสูตรทางฟิสิกส์ เพื่อช่วยให้ผู้ชมจดจำสูตรสมการทางฟิสิกส์ได้ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วม ก็เอาตัวอย่างเหตุการณ์มาคำนวณเรื่องแรงลอยตัวซะอย่างงั้น

สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่เก่งฟิสิกส์ คลิปดังกล่าวเหมือนมาปลดล็อกปัญหาการเรียนฟิสิกส์

“เข้าใจง่ายดี ใช้ศัพท์ชาวบ้านๆ ใครๆ ก็เข้าใจได้ ไม่ต้องเก่งฟิสิกส์มากก็เข้าใจ” และ “ให้เทคนิคที่เข้าใจง่าย เหมาะกับคนเข้าใจยาก และมีความเถื่อนแบบหักดิบด้วย55ชอบๆๆ” คือความเห็นรีวิวที่ถูกโพสต์ไว้ที่หน้าเพจ เมื่อคลิกเข้าไปอ่าน

Advertisement

เห็นลีลาการสอนสร้างสรรค์ไม่เหมือนใครแบบนี้ อาจจะคิดว่าแอดมินเพจนี้เป็นครู แต่ความจริงไม่ใช่เลย เขาชื่อ “คมพิสิฐ ประสาท” ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้า ประจำอยู่ กฟภ. อยู่ในหน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และปริญญาโทจาก ม.เกษตรฯ พอมีเวลาว่างก็ชอบสอนหนังสือ

– ที่มาของการทำเพจฟิสิกส์แม่งเถื่อน?

เกิดจากบางครั้งที่ผมไปสอนแล้วไปเจอกับน้องๆ ก็จะมีคนบ่นว่าทำไมสิ่งที่เรียนมาไม่อธิบายแบบผมเลย บางเรื่องก็อธิบายยาวจนไม่รู้เรื่อง ผมก็เลยบอกน้องไปว่าฟิสิกส์มันไม่มีอะไรเลย ขอให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อนแล้วทุกอย่างมันจบ ผมก็จะพยายามที่จะใช้คำให้สั้นกระชับและง่ายในการอธิบาย พอรู้คอนเซ็ปต์ปุ๊บทุกอย่างมันก็จบ

Advertisement

คอนเซ็ปต์ที่ผมหมายถึงก็คือเราต้องเข้าใจว่าวิชาฟิสิกส์แก่นมันคืออะไร คือบางครั้งครูเล่าเป็นทฤษฎีหรืออะไรก็ไม่รู้มากมาย แต่ผมจะเรียงลำดับใหม่ในการทำความเข้าใจ อย่าเพิ่งเล่าประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเจอ ให้เล่าแกนของมันก่อน จากนั้นค่อยๆ แกะทีละเรื่อง รวมถึงใส่รายละเอียดปีกย่อยลงไป ส่วนตัวผมเอาแกนมาวางก่อน คลิปที่ทำออกมาก็มีพื้นฐานจากแนวคิดแบบนี้ ก็คือสิ่งแรกที่เด็กๆ ต้องรู้ก่อน อย่างคลิปที่ผมเพิ่งทำออกมาสอนเรื่องแรงลอยตัว ก็ให้เด็กแทนค่าลงไป เพราะอันนี้ได้ใช้จริงส่วนแรงลอยตัวเกิดจากอะไร ค่อยไปเจาะรายละเอียดทีหลัง ให้เด็กค่อยๆ รับรู้

– ลีลาความสร้างสรรค์ในแต่ละคลิป ฉีกกฎความเป็นครูแบบเดิม?

ไม่ได้คิดอะไรขึ้นมา เพราะผมเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้ว จริงๆ ผมไม่ใช่คนตลกมาก ผมเป็นคนตรงๆ คิดอะไรก็พูดทำออกไป คือผมมองว่าเด็กยุคนี้บางทีเขาเก่งนะครับ เขาแค่ต้องการการแลกเปลี่ยน เวลาผมสอนผมจึงเน้นการแลกเปลี่ยน คุณคิดยังไงก็พูดมาแล้วมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่การกดเด็กไว้ให้ตั้งใจฟังเท่านั้น

– คลิปไหนคนดูเยอะสุด ผลตอบรับเป็นไง?

คลิปที่คนดูเยอะสุดเป็นคลิปที่เกี่ยวกับปัญหาของคนเรียนฟิสิกส์เลย ผมโพสต์คลิปนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ทำเพจ เกี่ยวกับเรื่องการแตกแรง ที่ใครเรียนฟิสิกส์ต้องเจออันนี้แน่นอน คนแตกไม่เป็นและจำไม่ได้ เทคนิคที่ทำให้คนจำได้คือการไปหาความสัมพันธ์ของสูตรกับคำเพื่อทำให้เด็กจำได้ บางคำจะออกแนวทะลึ่งหน่อยแต่ไม่ถึงกับหยาบคายจนรับไม่ได้ เป็นสูตรให้นึกถึงและนำมาใช้ได้ง่าย คลิปนั้นมีคนดูหลายแสนคน เพราะเป็นอะไรที่จดจำง่าย เงื่อนไขของผมในการสอนและทำคลิปผมเน้น สั้นกระชับ และทำอย่างไรให้จำง่าย คลิปนั้นน้องหลายคนที่มีปัญหาการจดจำเกี่ยวกับการแตกแรงก็เคลียร์ และสามารถจดจำนำไปใช้ได้

คือผมคิดว่า ถ้าใครเรียนฟิสิกส์จริงๆ และสัมผัสกับเด็กรวมถึงเข้าใจเด็ก ก็จะรู้ว่ากรณีอย่างนี้มันเป็นปัญหาของเค้าจริงๆ คลิปที่ผมทำและอธิบายด้วยเทคนิคของผมมันเหมือนเป็นอะไรที่มาปลดล็อกเขา พอดูจบหลายคนถึงบอกว่านี่แหละที่เขาต้องการ ที่เค้างงมานาน! อันนี้แหละ! ถ้าไปดูหนังสือเรียนมันไม่มีอะไรอย่างนี้ บางครั้งเด็กอ่านแล้วมันทำให้นึกภาพไม่ได้ เพราะนึกไม่ออกแล้วไม่เข้าใจมันก็ไม่จดจำ

– ฟิสิกส์ยากไหมในความเห็นส่วนตัว และประโยชน์ของมัน?

การเรียนฟิสิกส์ถามว่ายากไหมมันก็เหมือนกับการทำอะไรต่างๆ ส่วนตัวผมตอบแล้วว่าเอาจริงๆ โดยสรุปไม่ยากเลย แต่เราต้องรู้ลำดับว่าเราจะเดินไปอย่างไร อย่างผมให้เดินขึ้นชั้นสามถามว่าจะให้กระโดดไปไหมมันก็ไม่ได้ มันก็ต้องรู้ว่าบันไดอยู่ตรงไหนหรือจะไต่อย่างไร นี่คือการเรียนฟิสิกส์ ถามว่าการเรียนฟิสิกส์คืออะไร ฟิสิกส์มันคือการเรียนปรากฏการณ์ธรรมชาติ การอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมรถเบรกแล้วเราหัวทิ่ม ซื้อทำไมรถเบรกแล้วรถมันหยุด พวกนี้คือปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมด เวลาผมสอนผมจะยกเหตุการณ์ที่คุณต้องเจอแน่นอนเช่นการขึ้นรถเมล์ ก็เอากฎของนิวส์ตัน อธิบายใส่ไปในเหตุการณ์นั้นเลย แล้วเด็กจะจำว่ามันเกิดเพราะอะไรเพราะมันเกิดการเชื่อมโยงกับประสบการณ์และเหตุการณ์

ทุกวันนี้ผมย้ำเลยนะครับว่าการศึกษาบ้านเราเรียนเพื่อสอบ ถ้าจะมีใครพูดว่าระบบการศึกษาแบบนี้ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกเหมือนถูกบังคับไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากก็พูดได้ มันก็มีข้อดีข้อเสีย ซึ่งข้อเสียคือเด็กไม่ได้ทำตามความฝันที่อยากจะทำกลายเป็นคนไม่เก่ง เพราะเขาไม่อยากทำหรือเรียนแบบนี้

– ทำไมการเรียนการสอนฟิสิกส์ในเมืองไทยดูเหมือนยากมาก เด็กจำนวนไม่น้อยรู้สึกล้มเหลวกับการเรียนฟิสิกส์?

มันดูเหมือนยากมากถ้าพูดถึงการเรียนการสอนจริงๆ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ยากเลย แต่การเรียนฟิสิกส์ในบ้านเราเน้นการอธิบายเป็นคำพูดเยอะมากเกินไป พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนกันโยนหนังสือมาให้เล่มหนึ่งแล้วก็มีสมการมาให้เต็มไปหมด เด็กนักเรียนหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแค่ช่วงครั้งหน้าก็งงไปหมดแล้วอะไรนักก็ไม่รู้มากมาย จะถึงอะไรที่เป็นแก่นหรือหัวใจ เด็กก็ไม่อยากอ่านแล้ว เพราะเจออารัมภบทซะเยอะ เด็กก็ไม่อยากเรียนเพราะมันไม่รู้เรื่อง อย่างที่ผมบอกมันต้องโฟกัสที่แกนของการเรียน โดยสรุปแล้วผมคิดว่าเราต้องเอาปริมาณความสัมพันธ์ต่างๆ มาอธิบายก่อน แล้วค่อยอธิบายต่อว่าทำไมมันจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่การอธิบายแล้วมาสรุปว่าได้ความสัมพันธ์แบบนี้ เด็กมันอ่านไม่ถึง

นอกจากนี้ ผมคิดว่าบทเรียนมันออกแบบมาให้ก่อให้เกิดการงงง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียงลำดับบทเรียน ซึ่งถ้าหากถามผม ผมเห็นว่าเราควรต้องเรียนเรื่องปริมาณบางอย่างมาก่อน เช่นหากจะเรียนเรื่องแรงก็ต้องผ่านเรื่องเวกเตอร์มาก่อน แล้วโจทย์แรงบางครั้งมันก็ผสมกับการเคลื่อนที่มาด้วย แต่บางครั้งผู้สอนข้ามแล้วสลับบทไปมาจนงง เด็กเชื่อมโยงไม่ได้ อันหนึ่งที่เห็นภาพชัดคือ เรื่องการเคลื่อนที่ซึ่งบทนี้คือบทสำคัญที่สุด เด็กหลายคนถอดใจเพราะทำโจทย์ไม่ได้ สมมุติรถคันหนึ่งมีการเคลื่อนที่และมีแรงมากระทำเท่านี้ด้วยความเร่งเท่านี้ ถามว่าได้ระยะถามเท่าไหร่? ถามว่าเรื่องนี้มีกี่บท ตอบว่ามีสองบทปนกันแต่บางครั้งเราเรียนเรื่องแรงก่อนบางครั้งเราเรียนเรื่องการเคลื่อนที่ก่อน สุดท้ายไม่เคยเอาสองเรื่องนี้มาบูรณาการกันเลย เด็กก็ไม่เข้าใจ ว่ามันคืออะไร และที่สำคัญเมื่อมีการต่อยอด เด็กไปเรียนเรื่องการเคลื่อนที่แบบหมุน ซึ่งครูก็จะสอนสูตรใหม่ขึ้นมาอีก ทั้งที่การเคลื่อนที่แบบหมุนกับการเคลื่อนที่ทางตรงมันก็คืออันเดียวกัน เพียงแต่มันเปลี่ยนวิธีการคิด ครูจึงต้องเชื่อมโยงให้เด็กเห็นวิธีคิดเหล่านี้ให้ได้ อะไรแบบนี้

– ข้อบกพร่องการเรียนการสอนปัจจุบัน?

ตอนนี้แต่ละโรงเรียนผมคิดว่าอาจจะมีปัญหาการเรียงบทเรียนไม่เหมือนกัน เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีอำนาจพิเศษในการเรียงบทเรียน ทั้งประเทศไม่ใช่ว่าเหมือนกันหมด ซึ่งในความเป็นจริงเค้าจะมีหลักไว้ให้ อย่างความเห็นของผมเห็นว่าควรจะต้องเรียนเรื่องการเคลื่อนที่มาก่อน เรียนเรื่องการเคลื่อนที่ให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่แบบโปรเจ็กไทล์ การเคลื่อนที่แบบตรงหรือแบบหมุน แล้วค่อยไปเรียนงานพลังงาน ซึ่งถ้าไปดูในข้อสอบจริงๆ จะพบว่าการเคลื่อนที่ต่างๆ มันมีงานพลังงานมาแทรก เพราะฉะนั้นต้องเรียนการเคลื่อนที่เส้นตรงก่อนแล้วเอางานพลังงานมา แล้วค่อยเรียนการเคลื่อนที่อื่นๆ

ฟิสิกส์ต้องมีสเต็ปในการเรียนเหมือนคณิตศาสตร์ ถ้าพลาดไปสเต็ปหนึ่งมันจะทำให้เด็กงง เจ๊งกันเลยทีเดียว นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ผมมีคลิปอยู่คลิปหนึ่งไม่ค่อยมีคนดูแต่เป็นคลิปที่มีสาระเป็นคลิปที่พูดถึงการเรียนฟิสิกส์อย่างไรให้เก่งซึ่งผมบอกเลยไปตามสเต็ป แล้วชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด

– ถามเรื่องเกี่ยวกับครู กับปัญหาการสอนฟิสิกส์ในไทย?

จริงๆ ผมก็สัมผัสกับครูสอนฟิสิกส์หลายท่าน ผมเคยถูก อบจ.นครราชสีมา จ้างไปอบรมครูสอนฟิสิกส์ พบว่าไม่ใช่อาจารย์ท่านไม่เก่งนะครับ อาจารย์ท่านเก่งทุกคน แต่ว่ามันมีปัญหาเชิงปัจจัยหลากหลาย ยกตัวอย่างอาจารย์คนนี้สอนฟิสิกส์ ม.4 อาจารย์อีกคนสอนฟิสิกส์ ม.5 และอีกคนก็สอน ม.6 ซึ่งอย่างที่ผมบอกเนื้อหามันเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน แต่มันมีปัญหาอาจารย์ ม.5 ก็โทษว่าอาจารย์ ม.4 สอนไม่ดีเลย อาจารย์ ม.6 ก็โทษ อาจารย์ ม.5 สอนไม่ครบ คือมันจะมีปัญหาอาจารย์ไม่ต่อเนื่องกัน ใครบอกอาจารย์เมืองไทยไม่เก่ง ไม่จริงอาจารย์มีความรู้ ถ้าเด็กเข้าไปถามอาจารย์ก็ตอบได้ นอกจากนี้ เรื่องคาบเวลาก็มีส่วน คือบางครั้งมีเวลาแค่ 50 นาที ในการเรียน ซึ่งแค่การเดินข้ามอาคารเรียน เพิ่งนั่งให้หายเหนื่อยก็แทบจะหมดเวลาแล้ว จะถามก็ไม่กล้าถามต้องไปเรียนที่อื่นอีก

– ทำอย่างไรให้เด็กกล้าตั้งคำถามเก่ง?

การเรียนฟิสิกส์มันต้องถาม เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ แต่ถามว่าทำอย่างไรให้เด็กกล้าตั้งคำถาม ผมก็บอกเลยว่าทุกวันนี้ผมยังทำตรงนั้นไม่ได้นะครับ ทุกวันนี้ผมยังใช้วิธีที่ทำให้เด็กสงสัยไปด้วยกัน ชี้ชวนให้ตั้งคำถามหรือถามนำ เพื่อให้เด็กเกิดความสงสัย อยากรู้อยากหาคำตอบ

– เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปกับการปรับตัวของผู้สอน?

จริงๆ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากๆ เพราะมันช่วยครู ไม่ได้เป็นตัวถ่วงครูเลย คือทุกวันนี้เด็กสามารถหาข้อมูลได้เอง แทบจะบอกได้เลยว่าเด็กไม่ต้องมานั่งเรียนก็ได้ คือเวลาที่ผมสอน ผมจะถามเด็กเลยว่าอยากเป็นอะไรมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร แล้วอยากทำอะไร ถ้ามีเป้าหมายอยากเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องรู้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นจะถามคำถามเราอย่างไรในวิชาที่เราสนใจ นั่นคือการมีเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ตามลำดับ ตรงไหนที่ไม่เข้าใจ หรือเกิดปัญหาขัดข้องในการเรียนรู้นั้นเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะคอยแนะนำให้เด็กค่อยๆ เก็บประสบการณ์ การรับรู้ในวิชาเรียน แล้วเด็กก็จะเก่งและเชี่ยวชาญเอง นั่นคือต้องมีเป้าหมายก่อน

ส่วนครูจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์อย่างไรในการสอนนั้น เมื่อเด็กสามารถเข้าถึงความรู้ได้เองแค่ปลายนิ้วมือ ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนผมเองนั้นครูไม่ควรจะเป็นแบบเดิม ครูต้องมีหน้าที่ในการช่วยตอบคำถามเด็ก ช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีการตอบปัญหาให้เด็กแก้ปัญหาได้เอง ช่วยให้เด็กไปต่อได้ ช่วยให้เด็กตั้งคำถามในการเรียนรู้ของตนเอง ในอดีตครูอาจจะคิดว่าตนเองมีความรู้และมีหน้าที่นำมามอบให้นักเรียน แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว บางครั้งเด็กก็เรียนมาแล้ว หรือมีความรับรู้มาแล้ว ถ้าครูยังทำหน้าที่แบบเดิมเช่นสอนตามหนังสือ เป็นการจดในหนังสือ โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนมันก็จะทำให้เด็กเบื่อ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้ความรับผิดชอบของเด็กเข้าร่วมด้วย ในส่วนเนื้อหาที่ต้องสอนนั้น ก็ควรมีการนำเสนอการสอนโดยปรับรูปแบบ ต้องเน้นให้มีความกระชับ สั้น

– คุณเชื่อเรื่องเด็กฉลาดหรือเด็กโง่โดยกำเนิดหรือไม่ วิธีการสอนดีแค่ไหนก็ไม่ดีขึ้น?

จากประสบการณ์ที่ผมสอนมาทุกระดับแล้วนะครับ ผมคิดว่ามันอยู่ที่การรับรู้ ผมไม่มีวิธีคิดเรื่องฉลาดหรือไม่ฉลาด ผมไม่มอบถ้อยคำเหล่านี้หรือแปะป้ายอันนี้ให้กับนักเรียน หากจะมีก็เป็นเรื่องของการหารับรู้ไวหรือรับรู้ช้า ที่สุดท้ายเขาควรจะรู้ คือบางคนอาจจะรับรู้ไวบางคนอาจจะรู้ช้า อย่างวิชาสังคมบางคนรู้ แต่บางคนเข้าใจเรื่องนี้ช้า แต่สุดท้ายถ้าเราตั้งใจพูดกับเขา เขารับรู้ได้ทั้งคู่นะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนไม่มีโง่ ผมคิดว่าเขาแค่รับรู้ช้า อาจจะสะดุดเพราะอย่างที่ผมบอกแต่ละคนมีประสบการณ์ในการเดินทางมาไม่เหมือนกัน บางคนหกล้มมาจนชินมีประสบการณ์จนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ครูว่าต้องมีหน้าที่ดูว่าเขาต้องการอะไรหรือขาดอะไร ใส่ความรับรู้ให้เขาไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็จะเก่ง

– ทำไมถึงเก่งฟิสิกส์?

จริงๆ ผมชอบหลายวิชานะ คณิตศาสตร์ผมก็ชอบสอน แต่ฟิสิกส์ผมชอบตรงที่มันคือการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ มันสนุกดี มันเห็นภาพ ผมสามารถเล่าให้เด็กฟังได้ยกตัวอย่างเรื่องแรงเสียดทาน เวลาผมสอนผมก็จะยกสูตรมาก่อนเรื่องเนื้อหาเดี๋ยวค่อยว่ากัน โดยในสูตรก็จะชี้ให้เห็นว่ามันมีเรื่องสำคัญอะไรที่ต้องเข้าใจ จากนั้นก็นำสูตรไปอธิบายให้เห็นภาพ เช่นยกไปเปรียบเทียบโดยนำไมเคิล แจ๊กสัน สมมุติว่าไปเต้นอยู่บนดวงจันทร์ เพื่อให้เด็กเห็นคำตอบจากการเรียนเรื่องดังกล่าวนั่นเอง พอเด็กเห็นภาพเขาก็จะร้องอ๋อ แล้วกลับไปดูสมการที่ผมสอนอีกครั้ง แล้วเขาก็จะเกิดสมการขึ้นมาในหัวแล้ว นึกแทนค่าต่างๆ ด้วยตัวเองได้ เพราะครูเคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง

– แนะนำเด็กที่อยากเก่งฟิสิกส์?

1.คุณต้องเชื่อมั่นว่าฟิสิกส์ไม่มีอะไรยาก จากนั้นก็ 2.ต้องเน้นเรื่องขั้นตอนอย่างที่ผมบอกว่าไม่มีใครสามารถกระโดดจากชั้นหนึ่งแล้วไปชั้นสามได้ ส่วนขั้นตอนนั้นก็ต้องหาว่าขั้นตอนมันคืออะไร อย่างขั้นตอนที่ผมบอกก็เป็นเรื่องที่ผมพบมาด้วยตัวเอง จากการสอนกับเด็กและพบว่ามันใช้ได้

– จะบอกยังไงกับเด็กที่อาจจะชอบเรียนแต่ไม่ชอบระบบที่โรงเรียน?

การมาเรียนมันก็ทำให้เราได้พบเพื่อน ได้เห็นสังคม ที่ผมบอกไม่ได้หมายความว่าให้เราต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียนที่เดียว การเรียนมันคือการทำอย่างไรก็ได้ให้รู้ ไม่ใช่การนั่งฟังหรือทำการบ้านส่งครูเท่านั้น จะไม่ชอบโรงเรียนหรือผู้สอนก็ได้แต่ต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญคือทำอย่างไรก็ได้ให้รับรู้ จะอ่านหนังสือก็ได้ อย่าติดกรอบว่าการเล่าเรียนต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมตอนนี้การเรียนมันอยู่ทุกที่

– ถึงเด็กที่กำลังจะเรียนฟิสิกส์?

เดี๋ยวนี้เด็กบางแห่งเรียนฟิสิกส์กันตั้งแต่ ม.2 ถามว่าเด็กไทยเรียนวิชาฟิสิกส์หนักไปไหม ต้องบอกว่าระบบการศึกษาของเราตอนนี้มันค่อนข้างแย่ โรงเรียนต่างๆ มีห้องพิเศษตามโครงการต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด มีการเก็บเงินเพิ่ม เพราะต้องจ้างอาจารย์มาสอนเพิ่ม ซึ่งอาจารย์พวกนี้ก็ต้องสอนแบบแอดวานซ์ บางคนยกบทเรียนระดับมหาวิทยาลัยมาสอนเลย พ่อแม่ผู้ปกครองที่รู้ก็ดีใจและเข้าใจว่าลูกฉันต้องเก่งแน่นอน ระบบแบบนี้มันก็สร้างผู้แพ้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน

คุณกำลังอยู่ในสังคมแบบนี้ดังนั้นก็ต้องปรับตัวเอง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายของตัวเองนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image