คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘อุกกาบาต’ แห่งเวียนนา

AFP PHOTO / APA / GEORG HOCHMUTH

อย่าว่าแต่ในเมืองไทย ก่อนหน้านี้น้อยครั้งที่ทั่วโลกจะให้ความสนใจกับการเลือกตั้งในประเทศเล็กๆ บนแผ่นดินใหญ่ยุโรปอย่าง ออสเตรีย

แต่การเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้ได้สมาชิกสภาแห่งชาติ 183 ที่นั่งของที่นั่นเมื่อ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้รับการจับตามองไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาชาติในยุโรปด้วยกัน เพราะคนอย่าง “เซบาสเตียน คูร์ซ”
เซบาสเตียน คูร์ซ เป็นนักการเมืองที่โชนประกายเจิดจรัสที่สุดในแวดวงการเมืองออสเตรีย เป็นออสเตรียนคนแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุด นับตั้งแต่ เยิร์ก ไฮเดอร์ นักการเมืองป็อปปิวลิสต์ ผู้ล่วงลับ

ถึงขนาดได้รับการเรียกขานจากสื่อมวลชนว่า เปรียบเสมือน “อุกกาบาต” ที่กำลังกรีดผ่านฟ้าการเมืองของที่นั่นในยามนี้

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ คูร์ซ อายุยังน้อยมาก เขาเกิดเมื่อ 27 สิงหาคม 1986 เพิ่งครบ 31 ปีไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้นี่เอง

Advertisement

คูร์ซ นำพรรค ออสเตรียน พีเพิลส์ ปาร์ตี (โอวีพี) ที่ถูก “รีแบรนด์” พร้อมกับเติมคำว่า “นิว” หรือ “ใหม่” เข้าไปเมื่อเขาก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ครองที่นั่งสูงสุด 31.5 เปอร์เซ็นต์ เบียด พรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีโอ) และพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรีย (เอฟพีโอ) ที่เคยผลัดกันครองอำนาจมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงเป็นพรรคอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

นั่นหมายถึงว่า เซบาสเตียน คูร์ซ ได้สิทธิในการฟอร์มรัฐบาล แล้วก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในเร็ววัน
เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และอาจจะหมายถึงของทุกประเทศทั่วโลกอีกด้วย

คูร์ซ ไม่เพียงประสบความสำเร็จสูงสุดอย่างที่นักการเมืองผู้หนึ่งพึงมี การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดดังกล่าวยังเร็วมาก แรงมาก อย่างน่าทึ่ง เขาเป็นสมาชิกยุวชนพรรคโอวีพี มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น กำลังศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา อายุ 23 ปีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานยุวชนพรรค ปีถัดกลายเป็นสมาชิกสภากรุงเวียนนาแล้วยังก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่ครบ 25 ปี

Advertisement

เขาลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013 ทำสถิติได้คะแนนป็อปปิวลาร์ โหวต สูงที่สุดในสภา ขณะอายุ 27 ปี แล้วก็กลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุดในปีเดียวกัน ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองชนิดวางแผนไว้อย่างรอบคอบและเบ็ดเสร็จอีกด้วย

 

ใครก็ตามที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับ เซบาสเตียน คูร์ซ ล้วนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า นักการเมืองหนุ่มผู้นี้ สามารถซุกซ่อนความทะเยอทะยานทางการเมืองเอาไว้ได้อย่างมิดชิด หุ้มห่อปกปิดไว้ด้วยกิริยามารยาทนุ่มนวล พิถีพิถัน บดบังแก่นแท้ที่แข็งแกร่งของนักการเมืองมืออาชีพเอาไว้ด้วยความนุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน
ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองอุปมาเขาไว้ประหนึ่งเป็นเซียนหมากรุกการเมือง ที่คำนวณตาเดินไว้ก่อนล่วงหน้าเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เพียงหนึ่งหรือสอง แต่เป็นหลายหมากล่วงหน้า

คูร์ซ ปรากฏต่อหน้าทุกคนด้วยรอยยิ้มกว้าง รื่นเริงชวนสนิทสนมเหมือนคนหนุ่มไร้เดียงสา สูทเรียบหรูรับรูปร่าง ผมหวีเสยเรียบอยู่ตลอดเวลาด้วยเจล บางคนบอกว่าเขาแจ่มใสอยู่ทุกขณะ อารมณ์ดีเหมือนเพิ่งอาบน้ำเสร็จใหม่ทุกคราวไป ให้ความสนใจสูงกับทุกอย่างที่หลุดออกจากปากคู่สนทนา โน้มตัวไปข้างหน้า นิ่งฟังอย่างอดทน เพียงเพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกถึงการให้ความสำคัญต่อผู้พูด

“เดี๋ยวผมเอาน้ำมาให้ คุณสบายดีหรือเปล่า?” คือคำทักทายติดปากของคูร์ซ ทุกครั้ง ก่อนที่คู่สนทนาจะทันหย่อนร่างลงถึงเก้าอี้รับแขกด้วยซ้ำ

ด้วยท่าทีนุ่มนวลแต่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น คูร์ซ แสดงตนออกมาในฐานะ “คนของประชาชน” ผู้มีความมั่นใจในตัวเองสูงถึงขนาดมีคนเชื่อว่าเขาไม่เคยกลัวใครหรืออะไรเลย

“ผมแค่พูดอย่างที่คิด” และแน่นอน ทำอย่างที่เห็นว่าควรทำเท่านั้น

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมคูร์ซ ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงเลือกเดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ด้วยเครื่องบินพาณิชย์ บนที่นั่งชั้นประหยัด กินอาหารที่เสิร์ฟระหว่างเที่ยวบินตามปกติด้วยส้อมและมีดพลาสติกเหมือนคนทั่วไป

และจนถึงตอนนี้ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับแฟนสาว ในย่านไมดลิงก์ เขตปกครองที่ 12 ของกรุงเวียนนา ย่านที่เขาเกิดและเติบโต ซึ่งเต็มไปด้วยร้านเสริมสวย บริการอบผิวสีแทนและภัตตาคารอาหารตุรกี

รากเหง้าของเขาเพิ่งเปิดเผยออกมาระหว่างการรณรงค์หาเสียง คูร์ซ บอกว่า มารดาเป็นคนจากแถบ โลเวอร์ ออสเตรีย ที่ต้องเลี้ยงดูผู้เป็นยายมาด้วยกันด้วยเงินเดือนครู บิดาเป็นวิศวกร ซึ่งตกงานนานอยู่บ้างในบางขณะ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในย่านของคนอพยพเชื้อสายบอสเนีย ที่ทั้งพ่อและแม่อพยพเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990

คูร์ซ เป็นนักฟังที่ดี ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักเรียนการเมืองที่เรียนรู้ทุกอย่างรวดเร็วยิ่ง ทุกครั้งที่ได้ยินอะไรใหม่ๆ คำพูดติดปากของเขาคือ “เหลือเชื่อ!” หรือไม่ออกอุทาน “เป็นไปไม่ได้!”
คูร์ซ เป็นนักพูดที่ดี เป็นนักปราศรัยที่เรียกคนฟังได้แน่นขนัด แต่ในการสนทนาที่เป็นส่วนตัว บ่อยครั้งมากที่เขาเลือก “ฟัง” มากกว่าพูด

ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ซึมซับทุกอย่างเข้าไปในตัวอย่างซึมซาบราวฟองน้ำ!

 

 

“ผมไม่เคยคิดหรืออยากเป็นนักการเมืองอาชีพ” คูร์ซ มักกล่าวอ้างอย่างนั้น ราวกับว่าทุกอย่างในทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับตนเอง “เกิดขึ้นเอง” โดยจังหวะจะโคนในตัวของมันเอง ผสมผสานกับ “ความบังเอิญ” เท่านั้น หลายคนเคยคิดเช่นนั้น ทั้งๆที่ความเป็นจริงอาจเป็นอีกทางหนึ่ง

ฟอลเทอร์ แม็กกาซีน นิตยสารเชิงวิเคราะห์ข่าวของเวียนนา เปิดเผยเอาไว้ว่า ก้าวย่างสู่ความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของประเทศ ถูกวางแผนเอาไว้ล่วงหน้ายาวนานมาก โดยตัว คูร์ซ เองและทีมงาน โดยอ้างอิงจากสิ่งที่ ฟอลเทอร์ เรียกว่า “เอกสารลับของโอวีพี”

เอกสารลับของโอวีพี อ่านแล้วก็เหมือน “สตริปต์” เพื่อการยึดอำนาจพรรค ที่กำหนดทุกอย่าง ตั้งแต่แนวความคิด แนวทางดำเนินการ ระบุเอาไว้แม้กระทั่งประเด็นที่ต้อง “พูด” เรื่อยไปจนถึงเนื้อหาและจังหวะของการ “ให้สัมภาษณ์สื่อ” เรื่อยไปจนถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคชนิด “ยกเครื่อง” และ รายชื่อของผู้ที่พร้อมบริจาคเงินสมทบเพื่อการดำเนินการทางการเมือง

อุปมาได้ราวกับ “แผนการรบ” สำหรับ คูร์ซ และทีมงาน ที่วางเอาไว้อย่างละเอียดยิบ

ตอนที่รางานพิเศษเรื่องนี้เผยแพร่ออกมา คูร์ซ กำลังรอ “ฟิเลท์ มีญ็อง” ของตัวเองอยู่ในร้าน “โวล์ฟกังส์ สเต็กเฮาส์” ในนิวยอร์ก หลังการปฏิบัติภารกิจในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาโทรศัพท์กลับไปเวียนนา แสดงความกังขากับสื่อถึงความ “เป็นจริง” ของเอกสารลับดังกล่าว เปรยว่า ตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อการรณรงค์หาเสียง

กระนั้น ถึงที่สุด คูร์ซ ก็ยืนกรานว่า การเตรียมตัว เตรียมใจสำหรับ “ความเป็นผู้นำ” ของพรรคและรัฐ ไม่ใช่ “อาชญากรรม”

กระนั้นก็ยังยืนยันเด็ดขาดเช่นกันว่า ตนไม่เคยคิดที่จะโค่น ไรน์โฮลด์ มิทเตอร์เลห์เนอร์ หัวหน้าพรรคโอวีพี หรือ ผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นอย่างจงใจ

“ไม่มีทาง!” เขาย้ำอย่างหนักแน่น

เขาเคยแสดงความหนักแน่นเช่นนี้ เมื่อถูกขอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจากบรรดา “ผู้ใหญ่” ภายในพรรค เมื่อพบว่าไม่มีใครยอมให้ปฏิเสธ สิ่งที่เขาทำก็คือ ยื่นเงื่อนไขต่อรอง 7 ข้อ ที่สำคัญที่สุดในจำนวนนั้นก็คือ เขาเรียกร้องความเป็น “อิสระ” ในทุกๆประเด็นที่จำเป็นต้องดำเนินการในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ
ความสำเร็จในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศนี่เองที่ทำให้ คูร์ซ สามารถก้าวยาวๆก้าวใหญ่ทางการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

บรรดาแกนนำและกลุ่มทุนพรรค ยอมรับเงื่อนไขทั้งหลายที่ คูร์ซ ต้องการ แม้แต่การยอมลดทอนอำนาจของตัวเองลง เพื่อให้เขายอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

 

 

เซบาสเตียน คูร์ซ ประสบความสำเร็จหลายอย่างในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเพื่อแก้วิกฤตยูเครน เรื่อยไปจนถึง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อผลักดันสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ ที่ทำให้เขาสามารถ “ปะทะสังสรรค์” กับมือระดับ “เฮฟวี่เวท” ด้านการต่างประเทศ รวมทั้ง เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย
แต่ที่ฮือฮากันมากที่สุดก็คือ การเดิมพันกับผู้นำระดับโลกอย่าง “อังเกลา แมร์เคิล” แล้วได้ชัยชนะอย่างงดงาม

วิกฤตผู้อพยพเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2015 คือ ความสำเร็จที่ถือเป็นเสมือน “ซิกเนเจอร์” ของ คูร์ซ ปัญหาดังกล่าวถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนทั่วยุโรป เขาไม่เพียงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต้อนรับผู้อพยพ “ไม่จำกัด” ของ แมร์เคิล แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ประนาม การที่ทุกชาติในยุโรปบนเส้นทางอพยพ “โยนเรื่องนี้ทั้งหมดให้เป็นภาระของเยอรมนี”

คูร์ซ ดำเนินการทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่เขาเห็นว่า ถูกต้องและดีงาม เริ่้มตั้งแต่ต้นปี 2016 ด้วยการติดต่อกับทุกๆฝ่าย ใช้ความสนิทสนมและความไว้วางใจเท่าที่มี ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อ “ปิดเส้นทางอพยพบอลข่าน” ที่ผู้อพยพใช้กันในเวลานั้น

9 มีนาคม 2016 เส้นทางจากตุรกี ผ่านบอลข่านไปยังออสเตรียและเยอรมนี ถูกปิดผนึก ขัดแย้งโดยตรงกับความประสงค์ของ แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

แต่วิกฤตสร่างซาและยุติลงในเวลาต่อมา เปิดโอกาสให้อียูและมิตรประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาทางการทูตได้อีกครั้ง

เป็นแนวทางที่ คูร์ซ ยืนกรานมาถึงทุกวันนี้ว่า ไม่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังถูกต้องในด้านจริยธรรมอีกด้วย

หลังจากนั้นไม่ นาน เมื่อ คูร์ซ เดินผ่านเก้าอี้รถเข็นของ โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังผู้ทรงอิทธิพลของเยอรมนี รัฐมนตรีผู้คร่ำหวอดถามเป็นเชิงกระเซ้าเอาไว้ว่า

“แมร์เคิล บอกขอบคุณคุณหรือยัง?”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image