วิจิตร-ประติมากรรม ‘พระเมรุมาศ ร.9’

การก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสร็จสมบูรณ์ 100% โดยกรมศิลปากรได้รื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม

พระเมรุมาศ ทิศตะวันตก
พระเมรุมาศ ทิศตะวันตกเฉียงใต้

พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 มีลักษณะทรงบุษบก 9 ยอด บุษบกประธานมี 7 ชั้นเชิงกลอนซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมีขนาดใหญ่กว่าพระเมรุที่ผ่านมาทั้ง 4 พระเมรุ มีฐานกว้างด้านละ 59.6 เมตร สูง 55.18 เมตร การออกแบบยึดคติไตรภูมิ โดยเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม พระเมรุมาศครั้งนี้จึงมี 4 ชั้นชาลาซึ่งมากกว่าทุกพระเมรุที่ผ่านมาเพื่อแสดงถึงความสมจริงของเขาพระสุเมรุมากยิ่งขึ้น ส่วนสระอโนดาตที่รอบเขาพระสุเมรุนั้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทำเป็นสระน้ำขึ้นมาจริงๆ กล่าวได้ว่าเป็นพระเมรุมาศแรกที่มีการนำน้ำเข้ามาร่วมจัดภูมิสถาปัตย์มากที่สุด และที่สำคัญการกำหนดผังของพระเมรุมาศองค์ประธาน วางในจุดที่ตัดระหว่างแกนเหนือ-ใต้ที่ตรงกับแนวเจดีย์ทองในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และแนวแกนตะวันออก-ตะวันตกที่ตรงกับอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เชื่อมโยงว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 คือพระมหาราชาผู้เป็นใหญ่และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

พระเมรุมาศ ทิศใต้

พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 มีประติมากรรมประดับรอบพระเมรุมาศมากถึง 608 ชิ้น ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกพระเมรุ/พระเมรุมาศที่ผ่านมา ประกอบด้วย ประติมากรรมนูนต่ำพระโพธิสัตว์ในบริเวณบรรพแถลงบนชั้นเชิงกลอนชั้นที่ 7, เทวดายืนเชิญฉัตรชั้นชาลาที่ 3 และ ชั้นชาลาที่ 4 , เทวดานั่งเชิญพุ่มโลหะ/เชิญบังแทรก ประกอบด้วยเทวดาสวมมงกุฎยอดชัย/ยอดน้ำเต้า บริเวณชั้นชาลาที่ 1,2,3 สื่อความหมายว่าเทวดามารับเสด็จในวาระที่เสด็จกลับสู่ทิพยสถาน

พระพิฆเนศ 2 องค์ ได้แก่ พระพิเนก และพระพินาย ประดับชั้นที่ 2 บริเวณสะพานเกรินทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับที่ประดับครุฑยืน โดยพระพิฆเนศมีกายเป็นมนุษย์สูงใหญ่ เศียรเป็นช้าง มี 4 กร ประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน ถือเทพศาสตราวุธแตกต่างกันเล็กน้อย โดยพระพิเนกมีงาขวา ถือดอกบัวตูม ถือสังข์ อีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทรา(ประทานพร)และท่าอภัยมุทรา(ประทานอภัย) ส่วนพระพินายมีงาซ้าย ถือขอช้างอังกุศ ถือบาศ(เชือกบาศ) และอีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทราและและอภัยมุทรา ส่วนครุฑยืน มีทั้งหมด 6 องค์ ประดับรอบพระเมรุมาศในชั้นชาลาที่ 2 บริเวณสะพานเกรินทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก
ส่วนชั้นชาลาที่ 1 มีท้าวจตุโลกบาลประจำทิศทั้งสี่ ประดับบริเวณปลายมุมทั้งสี่ของพระเมรุมาศ ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก โดยท้าวจตุโลกบาล สื่อความหมายถึงเทวดาที่รักษาทุกข์สุขของมนุษย์โลกไว้ทั้ง 4 ทิศ และทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลก นอกจากนี้บริเวณเชิงบันไดบนชั้นที่ 1 ยังประดับคชสีห์และราชสีห์ ทั้ง 4 ด้าน รวม 8 องค์ คชสีห์แทนถึงเสนาบดีฝ่ายกลาโหม ส่วนราชสีห์ แทนถึงเสนาบดีฝ่ายมหาดไทย ส่วนบริเวณเชิงบันไดบนชั้นอุตตราวัฏ ประดับสัตว์มงคลประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า โค และสิงห์ ยึดตามคติความเชื่อไตรภูมิ ในเรื่องเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ และสระอโนดาต โดยบริเวณสระอโนดาต ประกอบด้วยสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง 10 ตระกูล สิงห์ 4 ตระกูล ม้า 4 ตระกูล โค 8 ตระกูล และสัตว์ผสม รวมทั้งหมดประมาณ 200 ชิ้น

Advertisement
พระเมรุมาศ ทิศตะวันตกเฉียงใต้

ประติมากรรมที่โดดเด่นต่างจากพระเมรุ/พระเมรุมาศที่ผ่านมา นั่นคือครุฑประดับหัวเสาโคมไฟโดยครั้งนี้เป็นครุฑในท่ากางแขน มือทั้งสองจับนาค จากเดิมที่ผ่านมาเป็นหงส์ สื่อว่าครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ซึ่งเชื่อกันว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 คือพระนารายณ์อวตารลงมา และประติมากรรมสุดท้ายคือ สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 9 คือ คุณทองแดงและคุณโจโฉคาบไปป์ ในอริยาบถนั่ง โดยจะประดับด้านซ้ายและด้านขวาของพระจิตกาธาน บนชั้นชาลาที่ 4

ประติมากรรมรอบพระเมรุมาศ ยังประกอบด้วยเทพนมรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน ได้แก่ เทพนมนั่งส้น และเทพนมแกะไม้กลีบลายพระโกศ, ครุฑยุดนาค ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน, เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง (เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ) ประกอบด้วย 4 ประเภท ได้แก่ ครุฑพนมนั่งราบยอดน้ำเต้า เทวดาพนมนั่งราบ พานรพนมนั่งราบ และ ยักษ์พนมนั่งราบ

พระเมรุมาศ ทิศเหนือ

Advertisement

ส่วนราวบันได ประดับด้วยนาค 1 เศียร นาค 3 เศียร นาค 5 เศียร และนาค 7 เศียร โดยราวบันไดนาคชั้นที่ 1 เป็นนาคเศียรเดียว รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ ได้ต้นแบบจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ราวบันไดนาคชั้นที่ 2 “เหราพต” เป็นนาค 3 เศียร อ้างอิงจากประติมากรรมนาค พบที่เตาวัดมะปรางค์ จ.สิงห์บุรี รูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย ราวบันไดนาคชั้นที่ 3 นาคทรงเครื่อง 5 เศียร พญาวาสุกรีนาคราช เป็นนาคสวมมงกุฎยอดชัย ต้นแบบจากราวบันไดนาควัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ศิลปะสมัยอยุธยา และราวบันไดนาคชั้นที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศองค์ประธาน เป็นชั้นที่สำคัญที่สุด เป็นนาคนิรมิตพญาอนันตนาคราช มี 7 เศียร ต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ละเศียรมีหน้าเป็นเทวดาตามคัมภีร์พระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนแท่นพญาอนันตนาคราช ส่วนชั้นสำซ่าง เป็นนาคเศียรเดียว การสร้างราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศครั้งนี้ ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่มีการสร้างราวบันไดนาคพระเมรุมาศ และยังเป็นครั้งแรกที่มีการประดับเลื่อม เป็นพลาสติกสังเคราะห์เคลือบสีสันต่างๆ

ความโดดเด่นของพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบในครั้งนี้ ยังได้น้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาถ่ายถอดผ่านภาพเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง ผนังภายในพระที่นั่งทรงธรรม ตลอดจนการจัดภูมิสถาปัตย์ในพื้นที่นอกรั้วราชวัติทางทิศเหนือที่เป็นทางเข้าหลักของพระเมรุมาศ อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับหญ้าแฝก ข้าว บ่อแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ต้นยางนา ต้นมะม่วงมหาชนก พืชผักสวนครัว และที่สำคัญมีคันนาดินสีทองเลข ๙ ที่สื่อว่าพระเมรุมาศสร้างขึ้นถวายให้กับในหลวง รัชกาลที่ 9

การก่อสร้างพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 เป็นการรวมสรรพวิชาช่างเพื่อให้งานครั้งนี้ออกมาสมพระเกียรติและวิจิตรงดงามมากที่สุด…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image