สำนักพระราชวังบวงสรวงไหว้ครูช่างแทงหยวกเพื่อจัดทำเครื่องสดตกแต่งพระจิตกาธาน

เมื่อเวลา 09.14 น. วันที่ 22 ตุลาคม ที่ลานกลางแจ้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ท้ายพระบรมมหาราชวัง กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง จัดพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก เพื่อใช้ในการจัดทำเครื่องสดตกแต่งพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีนางพัฒนา เกตุกาญจโน ผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นประธาน มีนายช่างจากกองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ช่างแทงหยวกจาก 4 ภูมิภาค นักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธีกว่า 100 คน ทั้งนี้ พิธีเริ่มต้นด้วยการกล่าวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นางพัฒนาเป็นประธานจุดเทียน จากนั้นมีการกล่าวโองการบวงสรวงครูช่างแทงหยวก นำน้ำมนต์ธรณีสาร น้ำพระพุทธมนต์ ประพรมเครื่องบวงสรวง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และต้นกล้วยต้นเอกที่ช่างราชสำนักได้ทำพิธีตัดที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นต้นสำคัญที่จะใช้ในการแทงหยวกบริเวณเรือนยอดชั้นที่ 9 ชั้นสูงสุดด้วยลายลูกฟักช่องกระจก ประกอบด้วย ลายฟันปลาและลายฟันสาม

นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง กล่าวภายหลังพิธีว่า งานแทงหยวกที่จะถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ นายช่างต้องมีพิธีไหว้ครูเป็นการเคารพต่อครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นขวัญกำลังใจต่อช่าง และยิ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพใหญ่ๆ ก็จะมีพิธีบวงสรวงครบสำรับ ทั้งอาหารคาวหวาน สำรับผลไม้ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ อาทิ พิมพ์สำหรับกดมะละกอดิบ มีดแทงหยวก มีดปาดมุม เลื่อย ก้านลาน และกระดาษทอง ทุกอย่างที่จะใช้ประดับพระจิตกาธาน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือขันน้ำพระพุทธมนต์ ขันน้ำพระเทพมนต์ น้ำมนต์พระธรณีสาร ที่เราทำพิธีเอง ประกอบด้วยใบไม้มงคล อาทิ ใบคูน ใบขนุน ใบยอ ใบมะยม ฝักส้มป่อย มะกรูด ใบเงินใบทอง ใบมะขาม นำมาประพรมเครื่องบวงสรวงเครื่องมือและตัวช่างเองเพื่อเกิดความเป็นสิริมงคล ขณะเดียวกันได้เชิญพระรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครูแห่งงานช่าง ซึ่งในบรรดานายช่างศิลปกรรมทุกแขนงเคารพนับถือ ร่วมบวงสรวงด้วย

นายบุญชัยกล่าวอีกว่า ภายหลังงานบวงสรวงยังได้ประชุมแบ่งหน้าที่ช่างแทงหยวกตามความถนัดการทำงาน ดังนี้ สกุลช่างจากจังหวัดสงขลารับผิดชอบฐานชั้นเรือนไฟ หรือชั้นรัดเอว ทำลายกลีบบัวจงกล 5 ชั้น, สกุลช่างฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์ รับผิดชอบชั้นรัดเกล้า, สกุลช่างเพชรบุรี รับผิดชอบชั้นเรือนยอด 9 ชั้น ทำลายลูกฟักช่องกระจก, สกุลช่างจากฝั่งอีสาน ได้แก่ มหาสารคาม และอุบลราชธานี ทำลายกระจังทิศ กระจังเจิม ซุ้มบันแถลงที่เป็นกาบกล้วย ซึ่งจะอยู่บริเวณมุมของเรือนยอดพระจิตกาธานทุกชั้น ส่วนลายเถาไขว้เลขเก้าไทย อ.กฤษณะ เฟื่องฟู ช่างราชสำนักที่คิดลายนี้เป็นผู้รับผิดชอบ

Advertisement

“แต่ละสกุลช่าง 4 ภูมิภาคจะทำงานร่วมกับช่างกองศิลปกรรม ตามความถนัดอย่างสกุลช่างมหาสารคามและอุบลราชธานีจะชำนาญการแทงหยวก ทำปราสาทผึ้ง กาบกล้วยต่างๆ เขาจะถนัดมาก ช่างที่คัดมานี่เป็นทายาทอย่างดี ส่วนสกุลช่างสงขลามีความเชี่ยวชาญแทงยวกยาวๆ ด้วยที่ภาคใต้ยังนิยมเผาศพเชิงตะกอนอยู่ เขาปลงศพในป่าช้า เขาก็เอาต้นกล้วยขนาดใหญ่มากมาแทงหยวกยาว 3 เมตรกว่า โดยไม่ต้องต่อ เพื่อเผาศพ”

นายบุญชัยกล่าวอีกว่า การแทงหยวกจะเริ่มในวันที่ 23 ตุลาคม จนไปแล้วเสร็จในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม จากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม โดยนายช่างกองศิลปกรรม จำนวน 13 นาย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image