คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : แผนที่ของในหลวง ร.9 (ตอนจบ)

สัปดาห์ก่อนได้นำเสนอเรื่องราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ไว้ถึงเรื่องราวกว่าจะมาเป็น “แผนที่ของในหลวงรัชกาลที่ 9” โดยทรงเริ่มเล่าถึงวิธีการที่ในหลวง ร.9 ทรงทำแผนที่ในแบบฉบับของพระองค์เองขึ้น

บทพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการวิทยุชื่อ “รายการพูดจาประสาช่าง” ออกอากาศที่สถานีวิทยุจุฬาฯ ในชื่อรายการว่า พระภัทรมหาราชกับงานช่าง โดยมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ ทั้งนี้ นิตยสารลิปส์ ฉบับครบรอบปีที่ 11 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 ได้นำบทพระราชทานสัมภาษณ์มาเผยแพร่ไว้

โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าถึงห้วงตามเสด็จไว้ว่า

“เวลาตอนหลังนี่พวกเราที่ตามเสด็จ ก็ได้รับพระราชทานแจกแผนที่ซึ่งเวลาท่านใช้เองด้วยหรือท่านเอามาแจก ท่านใช้ท่านก็ทรงระบายสีเอง ท่านขีดเส้นตรงที่คิดว่าสมควรที่จะทำเขื่อน หรือจะทำฝายตรงไหนวางแผนในนั้น และระบายสีฟ้าเป็นน้ำ ส่วนเขื่อนหรือถนนท่านก็เอาสีแดงระบายวาดเป็นเส้นไปที่ท่านต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะว่าการทำเขื่อนแต่ละอันก็หมายถึงว่าต้องจ่ายงบประมาณของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

Advertisement

การจะเลือกทำที่ไหนนั้นนอกจากจะเลือกให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก คือต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และยังต้องคำนึงถึงงบประมาณความประหยัดด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเสนอโครงการมา ท่านก็จะต้องทอดพระเนตรก่อนว่ากั้นน้ำตรงนี้น่าจะเลี้ยงไร่นาไปได้ถึงแค่ไหน จะเพิ่มผลผลิตคุ้มและเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เป็นเหตุผลพอมั้ยที่จะจ่ายเงินของราษฎรเป็นจำนวนสูงเท่านี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องดูแผนที่ ถ้าใครมากราบบังคมทูลว่าขอพระราชทานอ่าง เขื่อน ฝาย อะไรที่ไหน จะต้องถามจนผู้กราบบังคมทูลแทบจะจนตรอกว่าอยู่ที่ไหน การเดินทางไปเป็นอย่างไร ทิศเหนือจดอะไร ทิศใต้จดอะไร บริเวณมีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วจึงทรงกำหนดลงในแผนที่ และดูระดับ ดูความสูง…”

สมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงเล่าถึงเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าผู้คนเดือดร้อนมาก จากการที่ทอดพระเนตรแผนที่อยู่เสมอก็คิดว่าท่านอาจมีทางอะไรที่จะช่วยบรรเทาหรือแก้ไขข้อเสียหายในบางส่วนได้เท่าที่เห็นวิธีปฏิบัติงานของท่านตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้วที่ท่านวางแนวพระราชดำริมาตั้งแต่ตอนน้ำท่วมครั้งก่อนหรือตอนน้ำเอ่อๆ ปริ่ม จำไม่ได้แล้ว

เริ่มต้นท่านไปค้นแผนที่กรุงเทพฯตั้งแต่สมัยโบราณเอาที่โบราณที่สุดเท่าที่จะโบราณได้ แล้วก็เอามาเรียงต่อกันตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดถึงสมัยใหม่มาดูว่าในสมัยเริ่มต้นนั้น มีน้ำที่เข้า-ออกกรุงเทพฯเท่าไร แล้วก็ภูมิประเทศเป็นอย่างไร การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นอย่างไร ท่านก็ดูประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่สมัยเก่าที่สุดเท่าที่จะหามาได้ แล้วก็ศึกษาข้อมูลพวกนั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image