พสุ โลหารชุน ปลัดป้ายแดง ก.อุตฯ คีย์แมนเอสเอ็มอีไทย

ห้วงเวลานี้ คำกล่าวที่ว่า Put the right man on the right job หรือ “ใช้คนให้ถูกกับงาน” น่าจะเหมาะกับ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่มากที่สุด

เพราะหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เป็นกลไกหนึ่งขับเคลื่อนประเทศ แต่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” ก่อน ซึ่งปลัดพสุ หรือ ดร.ต้อง คือข้าราชการที่เติบโตจากสายงานด้านการดูแลเอสเอ็มอีมาตลอดนั่นเอง

ปลัดพสุย้อนช่วงชีวิตการทำงานว่า หลังเรียนจบคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2523 ก็เดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คณะวิศวกรรมอุตสาหการ จบในปี 2525 และต่อด้วยปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหกรรมและการวิจัยการดำเนินงานจากสหรัฐอเมริกาในปี 2529 เมื่อกลับมาเมืองไทยก็เริ่มต้นชีวิตราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรมทันที โดยเริ่มต้นทำงานในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดือนมีนาคม 2530

“ตอนที่เริ่มต้นชีวิตข้าราชการ รู้สึกเป็นจังหวะที่ดี เพราะได้ทำงานกับผู้บริหารเก่งๆ หลายท่าน ซึ่งยุคนั้นบทบาทของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคือการพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการไทย ที่ขณะนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลังอยู่ในช่วงเติบโต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้จากญี่ปุ่น”

โดยช่วงปี 2531 บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยได้ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย มีการให้ความรู้ ฝึกอบรม ซึ่ง กสอ.ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตหลัก เป็นซัพพลายเชน ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานหลัก โดยสถานที่อบรมคือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกล้วยน้ำไท มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ กว่า 100 หลักสูตร มีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นมาประจำ เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการไทย

Advertisement

การรับเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ยุคเริ่มต้น เพราะก่อนหน้านั้นช่วงปี 2510 ไทยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากยุโรป สมัยนั้นเป็นยุคเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลหการที่เป็นส่วนประกอบของทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและพลาสติกด้วย

และในช่วงปี 2539-2540 กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการปรับโครงสร้างสำคัญ ด้วยการจัดตั้งสถาบันอิสระจำนวน 11 สถาบัน อาทิ สถาบันยานยนต์ สถาบันพลาสติก สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันพัฒนาสิ่งทอ เพื่อให้หน่วยงานอิสระนี้ทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการให้ครอบคลุมและมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะระบบบริหารของหน่วยงานจะกึ่งรัฐกึ่งเอกชน

Advertisement

ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะเห็นความร่วมมือกับต่างประเทศอีกหรือไม่?

มีแน่นอนครับ โดยอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันเมื่อดูเทคโนโลยีจากทั่วโลกจะมีประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น กสอ.จะร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศในการฝึกฝนผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่กระบวนการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต

อย่างตอนนี้ก็มีบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนในอีอีซี อาทิ บริษัทเด็นโซ่จากญี่ปุ่น จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ใช้อินเตอร์เน็ตในการดำเนินการทั้งระบบ และบริษัทฮิตาชิมีความสนใจพัฒนาบิ๊กดาต้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้บริการบริษัทที่เข้าลงทุนในพื้นที่

ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ได้ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีแขนกล และงานด้านการส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆ อาทิ การพัฒนา Robotic System Integrators ผ่านศูนย์การเรียนรู้อุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ของสถาบันไทย-เยอรมัน และบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน และประธานบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

ความร่วมมือระหว่างสถาบันไทย-เยอรมันและบริษัทเด็นโซ่ คือตัวอย่างความร่วมมืออันดับต้นๆ ภายหลัง 500 นักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเด็นโซ่คือเอกชนญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น คือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือเมติ ในการร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ ซึ่งไทยคือหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ามาทำงานด้วย และเด็นโซ่จะตั้งศูนย์อย่างเป็นทางการที่ศูนย์ส่งเสริมกล้วยน้ำไท

นอกจากความร่วมมือกับต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมเองมีแผนการเดินหน้าอุตสาหกรรม 4.0 อย่างไร?

แผนงานสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดภายในสิ้นปีนี้คือการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ อินดัสทรี ทรานส์ฟอร์เมชั่น เซ็นเตอร์ (ไอทีซี) ทั่วประเทศ โดยจะตั้งอยู่ภายในศูนย์ภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรวม 11 แห่ง จากปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วที่ศูนย์ภาคกล้วยน้ำไท เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภารกิจของศูนย์ดังกล่าวจะเน้นช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่นั้น แน่นอน ต่างมีเทคโนโลยีที่จะเดินไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงจะเน้นทำงานร่วมคือประสานความร่วมมือให้ธุรกิจรายใหญ่เข้ามาช่วยพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประเทศไปพร้อมๆ กัน

ตอนนี้ศูนย์ที่กล้วยน้ำไทอยู่ในช่วงทดลองเปิดดำเนินการ มีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการประมาณ 10 ราย ส่วนอีก 11 ศูนย์ที่เหลือจะเร่งจัดตั้ง โดยจะอนุมัติงบจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท ที่จัดสรรเงินไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาทสำหรับการยกระดับเอสเอ็มอี โดยโครงการนี้จะขออนุมัติงบจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนนี้มีคณะกรรมการกองทุนฯซึ่งผมเป็นประธานอยู่แล้ว

ดูเหมือนภารกิจของศูนย์ไอทีซีจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาเอสเอ็มอีด้วย?

ใช่ครับ เกี่ยวโยงกัน เพราะปัจจุบันกระทรวงมีภารกิจในการเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนเอสเอ็มอีได้โดยตรง ผ่านกองทุนเอสเอ็มอีฯวงเงิน 20,000 ล้านบาท และยังมีเงินจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ด้วย แต่เงินจากแหล่งต่างๆ จะแยกประเภทเอสเอ็มอีที่จะช่วยเหลือชัดเจน อย่างเงินกองทุนเอสเอ็มอีฯ 20,000 ล้านบาท จะเน้นเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีระดับจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการคัดกรองของคณะกรรมการเอสเอ็มอีจังหวัด เน้นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ขยายกิจการ ซื้อเครื่องจักร ไม่ใช่การนำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียน เพราะต้องการให้เม็ดเงินหมุนในระบบเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ

ขณะนี้กองทุนเอสเอ็มอีฯมีการอนุมัติเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วจำนวน 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะถึง 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีคำขอเข้ามาเกือบเต็มวงเงินแล้ว

กองทุนเอสเอ็มอีฯถูกจับตาอย่างมาก เพราะมีเอสเอ็มอีบางกลุ่มร้องเรียนถึงความล่าช้าของขั้นตอนอนุมัติในช่วงที่ผ่านมา?

เรื่องนี้เป็นความจริง ได้มีการหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตลอด แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การมีกองทุนนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อใส่เงินให้เอสเอ็มอีเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ภารกิจของกองทุนจึงเน้นการช่วยเหลือแบบพัฒนาควบคู่ไปด้วย อาทิ ขออนุมัติเงินไปซื้อเครื่องจักร ต้องมีเอกสารใบเสนอราคาที่ชัดเจน มีแผนการผลิตแสดงถึงความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ เพราะเงินกองทุนคือเงินงบประมาณ ด้วยขั้นตอนดังกล่าว เอสเอ็มอีบางรายที่ไม่ได้รับอนุมัติจึงมีการร้องเรียน ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงได้ทุกกรณีแน่นอน หรือบางรายได้รับอนุมัติเงินแต่ถึงเวลาเบิกจ่ายช้า ก็เพราะการจะเบิกจ่ายเงินลงไปจริงๆ จะต้องเกิดผลในทางปฏิบัติ อาทิ ใช้ชำระค่าเครื่องจักร เพราะหากอนุมัติเงินทันทีก็อาจมีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในขั้นตอนการอนุมัติเงินของกองทุนเอสเอ็มอีฯเอง ก็อาจมีลำดับขั้นที่ใช้เวลาอยู่บ้าง ขณะนี้มีการแก้ไขขั้นตอนตลอดเพื่อให้กระชับ แต่ยังคงรักษาหลักเกณฑ์ของวัตถุประสงค์ ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก จึงรอบคอบ เร็วๆ นี้จะมีการปรับหลักเกณฑ์อีกครั้ง

กองทุนเอสเอ็มอีฯ 20,000 ล้านบาท มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการช่วยเหลือและพัฒนาเอสเอ็มอี ไม่ใช่การอัดเงินเพียงอย่างเดียว จุดยืนนี้สำหรับผมต้องนิ่ง ต้องเดินหน้าต่อ ส่วนเสียงร้องเรียน คัดค้าน เรารับฟัง แต่ก็อยากให้เข้าใจกระบวนการส่วนนี้

“…การมีขึ้นของกองทุนเอสเอ็มอี ไม่ใช่การอัดเงินเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ภารกิจของกองทุนจึงเน้นการช่วยเหลือแบบพัฒนาควบคู่ไปด้วย…”

บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม นโยบายการเดินหน้า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย?

ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่แบ่งเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 5 อุตสาหกรรมเดิม (เอส-เคิร์ฟ) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-Generation Automotive) สนับสนุนการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) การผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม การออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสวมใส่

3.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง (Advance Agriculture and Biotechnology) เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงที่มีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ การวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ 4.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food processing) การเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหาร การวิจัยและผลิตโภชนาการเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร 5.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ

รวมทั้งสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (นิว เอส-เคิร์ฟ) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน (Advance Robotics) เป็นอุตสาหกรรมที่โลกมีความต้องการสูง และจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์ 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) มีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น สนามบินอู่ตะเภาจะได้รับการยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานและฝึกอบรม เมื่อผสานกับสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชีย

3.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) สนับสนุนหมอและพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ โรงพยาบาลที่ทันสมัย การลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต/สมาร์ทโฟน 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) เรามีฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกำหนดมาตรฐานชีวภาพเข้ากับการค้า อาทิ ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก เป็นการก้าวเข้าสู่ Bioeconomy 5.อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ทั่วโลกมีความต้องการสูงมาก และเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีพ อาทิ E-commerce/Digital Content/Data Center/Cloud Computing

ทั้ง 10 อุตสาหกรรมคือทิศทางที่ผู้ประกอบการไทยควรดำเนินการ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงานใหญ่ๆ ผมไม่กังวล แต่สำหรับเอสเอ็มอีถือเป็นกลุ่มที่กระทรวงต้องช่วยเหลือ เรื่องนี้ผมมีนโยบายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และใช้ศูนย์ไอทีซีที่จะจัดตั้งทั่วประเทศเป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนา ให้เครือข่ายของ 10 อุตสาหกรรมเข้ารับบริการจากผู้เชี่ยวชาญที่มีทั้งเอกชนชั้นนำ มหาวิทยาลัย และกระทรวง ให้ความช่วยเหลือปฏิรูปองค์กร เมื่อเอสเอ็มอีแข็งแกร่งผลิตสินค้าใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็จะสามารถเป็นซัพพอร์ตเตอร์ให้กับเอกชนรายใหญ่

การคืบหน้าพัฒนาพื้นที่อีอีซี?

คืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … (พ.ร.บ.อีอีซี) เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสมาชิก สนช.รับหลักการ ผ่านการพิจารณาวาระแรกแล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุดคือปลายปีนี้ และช้าสุดคือต้นปีหน้า ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงก็ทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ซึ่งพื้นที่อีอีซีรองรับการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเอกชนรายใหญ่ทาง สกรศ.จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ส่วนเอสเอ็มอีจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวง ซึ่งแนวทางพัฒนาจะเชื่อมโยงกับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรม

กระทรวงจะพัฒนาเอสเอ็มอีให้สอดรับกับอีอีซี ผลิตสินค้าภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยบทบาทของเอสเอ็มอีไทยจะต้องเป็นซัพพอร์ตเตอร์ให้กับเอกชนรายใหญ่ รูปแบบคล้ายกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงประกอบ 17 โรง และเอสเอ็มอีไทยรับหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้ผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเอสเอ็มอีส่วนนี้ประมาณ 2,000-3,000 โรง ดังนั้น หากเอกชนรายใหญ่ตั้ง 100 โรง เป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมคือผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยตั้งโรงงานให้ได้ 100 โรง เพื่อผลิตชิ้นส่วนสายการผลิตหลัก

ภารกิจกระทรวงในด้านอื่น?

ก็จะมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กิจการเหมืองแร่ของประเทศ การจัดทำมาตรการอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนการดูแลมาตรการฐานโรงงานให้อยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจส่วนนี้ได้ตั้งแต่งผู้บริหารระดับรองปลัดและผู้ตรวจราชการเข้ามารับผิดชอบแล้ว เพื่อให้ภาระงานไม่กระจุกตัว และทุกคนได้มีส่วนในการร่วมบริหาร ผลักดันงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง อาทิ นโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ทันเปิดหีบฤดูใหม่คือ 2560-61 ก็จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้แน่นอน

นโยบายที่ตั้งใจทำในช่วง 2 ปีกับตำแหน่งปลัดกระทรวง?

มี 3 เรื่องหลักที่ผมตั้งใจทำให้สำเร็จในขณะที่ผมเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.การพัฒนาบุคลากร อยากเห็นการพัฒนาระบบของกระทรวงที่เป็นต้นแบบของหน่วยงานอื่น โดยรูปแบบดังกล่าวขณะนี้ได้ศึกษาแนวทางของเอกชนชั้นนำในไทยมาปรับใช้แล้ว เบื้องต้นจะใช้แนวทางพี่สอนน้องในช่วงการทำงาน 2-3 ปีแรกของข้าราชการรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้องาน ซึมซับวัฒนธรรมองค์กร และพร้อมจะพัฒนางานไปร่วมกับข้าราชการรุ่นพี่

2.การกำหนดให้หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมมีการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนอย่างเข้าถึง มีความคล่องตัว สะดวก โดยมีหน่วยงานให้บริการข้อมูลด้านขออนุญาตตั้งโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานสนับสนุนธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบ และ 3.มีการจัดทำฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าของหน่วยงานในสังกัด ที่สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้รวดเร็ว เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนางานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบอนุญาตขอขยายโรงงานของอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ละวันแต่ละเดือนจะมีจำนวนแฟ้มเอกสารจำนวนมาก แต่ไม่เคยนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เรื่องนี้จะมีการปรับปรุง ทุกหน่วยงานต้องมีบิ๊กดาต้าของตัวเอง

ทำงานหนักมาตลอด เวลามีความเครียด ปลัดทำกิจกรรมอะไรบ้าง?

ผมนั่งสมาธิครับ นั่งกับภรรยา เพราะรู้สึกว่าเมื่อทำแล้วมันทำให้เรามีสติ เกิดความคิดต่อยอดในการพัฒนางานใหม่ ตลอดจนการแก้ปัญหาในบางเรื่องที่มีอุปสรรค แต่ช่วงนี้งานเยอะก็พยายามหาเวลานั่งให้บ่อยที่สุด

ทราบว่าชอบตีกอล์ฟมาก?

ก็ชอบครับ(ยิ้ม) เคยใช้สิทธิลาพักร้อนไปตีด้วยนะ แต่ไม่เสียงาน เพราะเป็นกีฬาที่เล่นมาตลอด ต้องใช้ความคิดในการตีตลอด อย่างเมื่อก่อนก็ชอบตีกับพี่สิ่ว (นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม)

จบบทสนทนาด้วยมุมน่ารักของปลัดพสุ คีย์แมนเอสเอ็มอีที่ทำงานอย่างมีแบบแผนกับเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอีไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image