บทบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ใน ‘สู่ฟ้าเสวยสวรรค์’

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติในธีม “ความทรงจำ” ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีหลายสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในหลากหลายแง่มุม ทั้งพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ถ้าเดินในงานไปตามบูธสำนักพิมพ์ต่างๆ จะเจอหนังสือแนวดังกล่าวมากมาย โดยเฉพาะบูธของ สำนักพิมพ์มติชน โซนพลาซ่า ซึ่งในงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ จัดในธีม “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” เมื่อเห็นจากธีมแล้ว คงเดาออกว่า บูธของสำนักพิมพ์มติชนในครั้งนี้เน้นเนื้อหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งบูธยังมีความพิเศษที่แตกต่างไปจากงานครั้งก่อนๆ โดยจัดบูธในลักษณะกึ่งนิทรรศการ และโปร่ง มีพื้นที่ในการเดินเลือกซื้อหนังสือ

ธีมสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ มาจากชื่อหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ที่เครือมติชนจัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การสร้างพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 โดยมีการตั้งทีมทำงานลงไปเก็บข้อมูลจากช่างฝีมือตามพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระเมรุมาศ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นนำมาเรียบเรียง เพื่อให้เห็นคติสัญลักษณ์ความหมายที่ปรากฏในพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร และทิม พร้อมภาพประกอบสี่สีทั้งเล่ม

Advertisement

นอกจากเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ภายในเล่ม สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ ยังรวมบทสัมภาษณ์บุคคล 10 ท่าน ที่อยู่เบื้องหลังในการก่อสร้างพระเมรุมาศ เช่น ประมุข บรรเจิดสกุล ผู้ดูแลการก่อร้างพระเมรุมาศ, อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แม่งานในการก่อสร้างพระเมรุมาศ, ก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9, สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์, กัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา ผู้คัดสรรต้นไม้มาประดับพระเมรุมาศ เป็นต้น
สิ่งที่พิเศษอีกประการหนึ่งของหนังสือสู่ฟ้าเสวยสวรรค์คือ หน้าปกปั๊มทองเป็นลายเส้นพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9

นอกจากหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว ทางสำนักพิมพ์มติชน โดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ยังมีหนังสือเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ แต่ให้มีประเด็นที่แตกต่างกัน โดยเริ่มที่เล่มนี้ “งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง” โดยมี ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ เป็นบรรณาธิการ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความว่าด้วยงานพระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับ “งานพระเมรุ” ในช่วงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ และธรรมเนียมการจัดงานศพในอุษาคเนย์

อีกเล่มคือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีตั้งแต่ปี 2559 หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ ในงานพระบรมศพและพระศพทั้งที่เป็นโบราณราชประเพณีที่มิได้ปฏิบัติแล้ว และที่คงมีอยู่ในปัจจุบัน อ่านแล้วเราจะเข้าใจในพระราชพิธีดังกล่าว และที่พิเศษในงานครั้งนี้ ทางสำนักพิมพ์มติชนจัดทำแจ๊กเก็ตหุ้มปกปั๊มทองเป็นลายเส้นพระโกศและลายดอกไม้ร่วงไว้หุ้มปกหนังสือดังกล่าว

นอกจากหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนแล้ว ทาง กองบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดทำเนื้อหาขึ้นมาเป็นพิเศษว่าด้วยประวัติศาสตร์งานพระเมรุสมัยโบราณ ทั้งเรื่องธรรมเนียมและสถาปัตยกรรม และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติในรัชกาลที่ 9 อีกทั้งออกแบบปก 2 แบบ พร้อมแจ๊กเก็ตปั๊มทองบนกระดาษ ซึ่งมีให้เลือก 2 สีคือ สีเทาและสีน้ำเงิน ส่วนเนื้อหานั้นเหมือนกันทั้งสองเล่ม เช่น พระเมรุมาศ เทวราชา พระโพธิสัตว์-พระอนาคตพุทธเจ้า โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, งานพระเมรุ (มาศ) : ศึกษาจากวรรณคดีและภาพวาด โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร หรือภาพงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชาที่ค้นพบใหม่ กับข้อวินิจฉัยเบื้องต้น โดย ผศ.พิชญา สุ่มจินดา

เป็นหนังสือที่ไม่ควรพลาดเลย

นอกจากหนังสือภายในงานแล้ว ยังมีนิทรรศการไฮไลต์ที่ผู้คนเข้าชมอย่างหนาแน่นคือ นิทรรศการ “ความท๙งจำ” บอกเล่าเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือและสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับสังคมโลก โดยนำเสนอพระราชกรณียกิจผ่านหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์กว่า 7 ทศวรรษ ทั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์เอง และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระองค์  นี่จึงเป็นนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ส่วนพระองค์และประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วง 7 ทศวรรษของการครองราชย์ไว้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกความงดงามที่เกิดขึ้นได้ คือความร่วมมือจากหลายฝ่ายมากๆ เพื่อถวายแด่พระองค์ด้วยความตระหนักว่าหนังสือเป็น ‘สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้’ ดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้แก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2514

ทั้งหนังสือดีๆและนิทรรศการเจ๋งๆแบบนี้ มีให้เลือกซื้อเลือกชมในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่จัดขึ้นถึงวันที่ 29 ตุลาคมนี้เท่านั้น ตั้งแต่ 10.00 -21.00 น.  (ยกเว้นวันที่ 26 ตุลาคม ปิดงานเวลา 15.00 น.)
หนอนหนังสือไม่ควรพลาด

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image