ร.9 กับการส่งเสริมสถานะไทยในเวทีโลก

กรมฝนหลวงให้ข้อแนะนำการทำฝนเทียมกับจอร์แดน

หมายเหตุ “มติชน”นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ยังประโยชน์ให้กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ยากที่โลกนี้จะมีพระมหากษัตริย์อย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะพระองค์ท่านไม่เพียงแต่ครองราชย์มาอย่างยาวนาน แต่ยังทรงบำเพ็ญประโยชน์มหาศาลให้กับปวงชน และประโยชน์เหล่านั้นก็มีความยั่งยืน มรดกของพระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ รับรู้ว่าไม่สามารถหาใครมาเสมอเหมือนได้

ดอน ปรมัตถ์วินัย

ด้วยเวลายาวนานที่ทรงอุทิศพระองค์ให้กับพสกนิกรเป็นเรื่องที่กระจ่างแจ้งเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นเสมือนผู้ดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องราว ในทุกย่างก้าวของพระองค์

กว่า 50 ปีที่พระองค์ไม่ได้เสด็จออกนอกประเทศเลย ขณะที่ในส่วนของนานาประเทศ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนเพื่อเจริญพระราชไมตรี เพื่อให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงฐานะของประเทศไทยซึ่งแม้เป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่ก็มีประวัติศาสตร์อันแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เป็นประเทศที่ประชาชนภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชและประชาธิปไตยตลอดมา ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของใคร ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศ

Advertisement

การที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ก็ทำให้เกิดความนิยมประเทศไทยในหลายด้านจากประชาชนในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะคนมีอายุในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนีและเบลเยียม ก็ยังนึกถึงเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยือน และไม่ลืมที่จะพูดถึงพระสิริโฉมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งอยู่ในความทรงจำของผู้คนหลายประเทศ

สิ่งที่ทุกคนตระหนักคือการที่พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ที่ได้ทุ่มเทพระวรกายและพระวิริยะอุตสาหะให้กับความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐานทั้งหลายที่ประชาชนในทุกภาคประสบอยู่ พระองค์เสด็จฯเยือนประเทศไทยเกือบครบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ห่างไกลและยากลำบากเพียงใด ทรงสนพระทัยกับปัญหาของประชาชนอย่างยิ่ง

เรามักจะเห็นพระองค์ท่านทรงถือแผนที่เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลว่าแต่ละแห่งที่พระองค์เสด็จฯไปเป็นอย่างไร ทำให้ทรงรับทราบถึงความจำเป็น ความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละภูมิภาค และพระองค์จะทรงพยายามแก้ไขปัญหาให้กับอาณาประชาราษฎร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บัดนี้สิ่งที่พระองค์ทรงทุ่มเทก็เป็นที่รับทราบอย่างกว้างขวางขึ้น ทั้งจากพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเท จากการเสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ และจากการที่องค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเอ็นก็ดี ให้การยอมรับ มีการกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก เหล่านี้สะท้อนให้เห็นความยอมรับที่มีต่อพระองค์และต่อสิ่งที่ทรงปฏิบัติ

เยี่ยมคารวะ ปธน.ติมอร์เลสเต ระหว่างดูงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เชื่อว่าแม้จะผ่านพ้นวันที่ 26 ตุลาคมไปอีกนานเท่าใด ก็จะมีการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นต้นตำรับของการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปรากฏชัดในทุกด้าน ไม่ว่าจะการรักษาน้ำ ดิน การคมนาคม การสัญจร การจราจร การพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ และอื่นๆ อีกมาก จากพระปรีชาสามารถที่เป็นพื้นฐานของพระองค์ ซึ่งทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่างๆ

ปัจจุบันจอร์แดนได้นำเอาโครงการฝนหลวงไปทดลองปฏิบัติ แม้ว่าสูตรที่ใช้ในบ้านเรา ณ วันนี้อาจแตกต่างกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของเขา แต่ขณะนี้จอร์แดนกำลังทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากไทย เพื่อนำโครงการฝนหลวงไปปรับใช้ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ผล และจะเป็นประโยชน์กับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเหล่านั้น ทั้งยังอาจนำไปใช้ในทวีปอื่นๆ ได้ด้วย

เรื่องราวดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าทางด้านการทูตของไทย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาที่สามารถนำไปใช้ในประเทศข้างเคียงหรือในต่างทวีป ซึ่งเชื่อว่าจะแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น เพราะปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงความร่วมมือกับไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความร่วมมือสามฝ่ายโดยมีประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในลักษณะไตรภาคี เพื่อให้โครงการที่เราดำเนินการกับประเทศต่างๆ ประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้นด้วย อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศในยุโรป

การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยที่เป็นการดำเนินการตามศาสตร์พระราชา ถือเป็นตัวช่วยและเป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ตามเป้าหมาย 17 ข้อของการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ และ ณ วันนี้ก็มีความสนใจในเชิงที่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับไทยในเรื่องดังกล่าว

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะหารือในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SEP for SDGs Partnership ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้น กระทั่งเวทีสหประชาชาติก็ยังเห็นคุณค่า และมีการนำไปบรรจุในแถลงการณ์ของกลุ่ม 77 ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายเอสดีจีส์ ปี 2573

เวทีระหว่างประเทศหลายเวทีก็มีความสนใจและอยากจะมาเชื่อมประสานกับผู้ที่ประสานงานเรื่องนี้ในภูมิภาคของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ไทยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียนในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งในกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) และการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ซิก้า) ด้วย

ความร่วมมือดังกล่าวยังมีอีกหลายลักษณะ อาทิ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในประเทศเหล่านั้น และการดำเนินโครงการชุมชนในเชิงปฏิบัติ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นในภาคการเกษตร แต่ก็มีการรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าศาสตร์พระราชาสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาให้บรรลุผลได้ในหลายมิติ และทำให้เกิดการระเบิดจากข้างใน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ก็รับทราบและกำลังนำเอาเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในไทยอันเนื่องมาจากพระปรีชาสามารถและพระราชดำริของพระองค์ไปจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ หลังจากที่เคยพิมพ์มาแล้วเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยผนวกเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

เราถือว่าในด้านต่างประเทศ พระองค์เป็นเสมือนผู้ที่ได้เชื่อมประเทศไทยกับนานาประเทศที่ทรงเสด็จฯเยือน ต่อมาก็ทรงเชื่อมประเทศไทยกับนานาประเทศด้วยผลสัมฤทธิ์จากโครงการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริในท้องถิ่น จนมาถึงยุคที่มีการนำเอาศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเชื่อมประสานเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุผลตามเป้าหมายเอสดีจีส์ ซึ่งเป็นวาระของโลกในทุกวันนี้

ฐานะของประเทศในไทยในสถานะแชมเปี้ยนของ “อำนาจละมุน” ก็จะชัดเจนและเด่นยิ่งขึ้นตามกาลเวลา อันเนื่องมาจากรัฐบาลปัจจุบันก็มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวทางของศาสตร์พระราชาดังกล่าวไปปฏิบัติและเผยแพร่

เรื่องเหล่านี้เป็นองคาพยพเดียวกันที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้ ซึ่งน้อยคนและน้อยประเทศในระดับเดียวกับประเทศของเราจะสามารถไปสัมผัสและแตะมือกับประเทศทั่วโลกได้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะในอดีตที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงอำนาจละมุนของไทย เรามักนึกถึงศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอาหาร แต่บัดนี้เรามีจุดเน้นอันเป็นแก่นแกนในเรื่องของอำนาจละมุนที่เป็นสาระ และรับรู้ได้ตามวาระสำคัญของโลก โดยไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศทั้งหลายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจริงได้ในดินแดนของมิตรประเทศทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้ก็มาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้แปรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเครื่องมือทางการทูตที่สำคัญของไทยในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image