ส่งเสด็จพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน สู่สวรรคาลัย : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ในโลกนี้ไม่มีประชาชนชาติใดที่จะโชคดีเสมอเหมือนกับชนชาวไทย ทั้งนี้เพราะคนไทยทั้งปวงได้เกิดอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่

คนไทยนับแต่อดีตตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมามีการสร้างบ้านแปลงเมืองจนเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้เพราะได้อยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารและใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดิน จวบจนปัจจุบันพสกนิกรชาวไทยได้เข้าสู่ใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 10

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชาวไทยและชาวโลกที่ทรงมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรผู้อยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสโดยไม่แบ่งแยกสถานะ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือหมู่เหล่า ทรงรับฟังปัญหาทุกข์ยากของราษฎร และพระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ที่สำคัญวันนี้ประวัติศาสตร์ของชาติได้ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการแล้วว่าพระองค์ทรงมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาให้พสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่ดีมีสุขอย่างแท้จริง ซึ่งตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์พระองค์ทรงได้อุทิศพระวรกาย ทรงคิดค้นนวัตกรรมและโครงการในหลากหลายมิติทั้งนี้ก็ด้วยความรักความห่วงใยที่มีต่อประชาราษฎร์ทั้งมวล และหากมีการศึกษาแนวทางการพัฒนาวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่มีกษัตริย์ชาติใดที่ทรงยอมเหนื่อยยากและเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนไปทั่วทุกถิ่นของประเทศ

Advertisement

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเทและคิดค้นในระยะหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดดอกออกผลนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่จับต้องได้และโครงการเหล่านั้นจะคงอยู่เพื่อได้รับการสืบสานพระราชปณิธานแห่งการพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตามวันนี้โครงการที่นำมาซึ่งการพัฒนานั้นใช่ว่าจะส่งผลดีเฉพาะสังคมไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นแต่ในทางกลับกันแนวทางแห่งการพัฒนาและนวัตกรรมต่างๆ ได้ส่งผลดีต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมไปยังนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ผู้นำได้สัมผัสในเชิงประจักษ์ และเห็นถึงคุณค่าเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอันนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากการที่พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นอุทิศพระวรกายในหลากหลายมิติเพื่อประชาชนซึ่งเปรียบเสมือนลูกหลานอันแท้จริงนั้นจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีความสุขกับการที่ได้ทรงงานในพระราชกรณีต่างๆ ซึ่งในมิตินี้สอดคล้องกับพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงตรัสความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการทำงานที่นี่ว่าที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการอยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า คือคนไทยทั้งปวง….”

ในมิติของการพัฒนาประเทศที่สำคัญที่สุดซึ่งนานาประเทศทั่วโลกยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าการพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมในทุกองค์รวมจะเป็นต้นทางหรือรากฐานอันสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาประเทศแห่งอนาคตทั้งนี้เพราะคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด การพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนั่นคือหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าการพัฒนาสังคมและประเทศชาติซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนและก้าวไปในทิศทางแห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพคงต้องเริ่มจากการวางรากฐานด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์

องค์การสหประชาชาติเป็นองค์กรหนึ่งที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ของมวลประชาชาติจึงกำหนดรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Humman Development Liftime Achievement Award) ให้เป็นรางวัลเกียรติยศด้านการพัฒนาของโครงการแห่งสหประชาชาติ โดยจะมอบแก่ Nation Human Devenlopment Report ที่มีผลงานดีเด่นทุก 2 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 6 ประเภท ซึ่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้นและคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทุนมนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรางวัลเกียรติยศที่ได้ทูลเกล้าฯถวายนั้นเป็นความคิดริเริ่มของสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดเป็นกรณีพิเศษที่มอบให้แก่บุคคลอันเป็นรางวัลประเภท Life-long achievement ซึ่งเป็นรางวัลที่ริเริ่มขึ้นใหม่

โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระองค์แรกที่ได้รับการถวายรางวัลดังกล่าว

การพัฒนาทุนมนุษย์ที่ส่งผลเลิศสู่สังคมอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกมิติหนึ่งคือมิติแห่งการพัฒนาศึกษาและด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาอย่างเหลือคณานับ

โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ รวมทั้งกองทุนที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการฯของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 เพื่อถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554

จากการที่รัฐบาลได้ถวายพระราชสมัญญานาม พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินในครั้งนั้น ศาตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ในฐานะเลขาธิการสภาการศึกษา อธิบายสาระสำคัญว่า “การถวายพระราชสมัญญานาม พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ทำให้คำว่า ‘ครู’ กลับมามีความหมายอีกครั้งตลอดจนทำให้คนที่จะก้าวมาเป็นครูมีความมั่นใจในอาชีมากขึ้น”

และแน่นอนวันนี้สังคมไทยต่างประจักษ์ชัดแล้วว่า ครูเป็นอาชีพที่มีความหมายและมีความสำคัญต่อสังคม ซึ่งครูทั้งหลายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันต่างได้ปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนาคนพัฒนาชาติอันเปรียบเสมือนเรือจ้างหรือเรือทองที่ประคองสังคมไทยตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นครู 2 ลักษณะ กล่าวคือ ทรงมีพื้นฐานแห่งความเป็นครู เห็นได้จากสมเด็จพระบุรพการีหลายพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างและทรงมีพระวิญญาณของความเป็นครู เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระราชปิตุลา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทุกพระองค์ทรงสนับสนุนการศึกษา ทรงสร้างโรงเรียน ทรงอบรมสั่งสอน ทรงมีวิธีการสอนอย่างแยบยล และสอนให้เป็นคนดี

ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ความตอนหนึ่งว่า “คนดีของฉันรึจะต้องไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่ต้องพยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม”

จากความสำคัญดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความเป็นครูจึงอยู่ในสายพระโลหิตของในหลวง พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินอย่างแท้จริง ด้วยความสำคัญของครู เนื่องในโอกาสที่ครูอาวุโสเข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ เมื่อปี พ.ศ.2516 พระองค์พระราชทานพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า

“งานของครูเป็นงานพิเศษผิดแปลกกว่างานอื่นๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือว่าครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ ซึ่งผู้เป็นครูแท้จริงก็พึงใจและภูมิใจอยู่แล้ว”

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นวันที่คนไทยทั้งในและต่างประเทศต้องโศกเศร้าเสียใจและอาลัยยิ่งเมื่อพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินเสด็จสวรรคต จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าพสกนิกรของพระองค์ท่านได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดี เมื่อมีการเปิดให้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ จะเห็นได้ว่าประชาชนได้เดินทางมาจากทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศถึงจำนวนกว่า 12 ล้านคน เหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์นี้คงจะตราอยู่ในใจของคนไทยตราบนิรันดร์

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสืบสานในพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้คนไทยทุกหมู่เหล่าจึงควรที่จะตั้งมั่นด้วยการสานต่อที่พ่อทำโดยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริ และโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสตร์พระราชาแห่งการพัฒนาที่สำคัญยิ่ง ไปขยายผลสู่การปฏิบัติซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป

เหนือสิ่งอื่นใดผู้ประกอบวิชาชีพครูหรือบุคลากรในแวดวงการศึกษาตลอดจนประชาชนทั่วไปจงตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาชาติซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์แห่งอนาคต ด้วยความสำคัญดังกล่าวสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินตอนหนึ่ง ความว่า “ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักอยู่แล้วว่าการศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ปรารถนาความเจริญในการประกอบกิจการงานจะต้องหมั่นเอาใจใส่แสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้ที่ล้าสมัยสมรรถภาพไป….” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2503)

วันนี้ถึงแม้ว่า “พระผู้เป็นครูของแผ่นดิน” จะจากพสกนิกรของพระองค์ท่านไปแล้ว แต่ด้วยพระราชกรณียกิจที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่านานัปการที่ทรงมีต่อประเทศชาติ ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยทั้งมวลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

และในฐานะลูกของพระราชา ข้าของแผ่นดิน จึงขอน้อมเกล้าส่งเสด็จพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินสู่สวรรคาลัย

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image