3 นักวิชาการร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” เผยพัฒนาการแนวคิด-ธรรมเนียมถวายพระเพลิงแต่ครั้งกรุงเก่า

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่เวทีเอเทรียม งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์มติชนจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียน “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”, ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ผู้เขียน “งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง”, ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และผู้เขียน ” รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7″

ดร.เกรียงไกร กล่าวว่าแบบแผนการก่อสร้างพระเมรุมาศ เริ่มชัดเจนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีความคิดถ่ายทอดมาสู่งานศิลปะแขนงต่างๆ โดยพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนปลายมีการแบ่งเป็นพระเมรุมาศเอก โท และตรี ทรงปราสาท กำหนดพื้นที่ใช้สอยในอาคาร แต่เมื่อเปลี่ยนมาสู่กรุงเทพฯ เป็นการเชื่อมต่อแบบกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่องสมบูรณ์ เพราะสมัยรัชกาลที่ 1 มีสงครามจนถึงการชำระกฎหมาย แต่ก็มีความพยายามรื้อฟื้นธรรมเนียมใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงปรับพระเมรุมาศให้เข้ากับคติความเชื่อมแบบสมัยอยุธยา

“ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีบริบททางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนเรือนยอกพระเมรุมาศ และเริ่มมองถึงความคุ้มค่าของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อเสร็จงานแล้วสามารถในไปใช้ก่อสร้างอย่างอื่นได้ต่อ รวมถึงมีการสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกในผังบริเวณด้วย และให้ยกเลิกพระเมรุใหญ่ ซ้อนชั้นเรือนยอดน้อยลงรวมถึงใช้ไม้ขนาดเล็กเพื่อประหยัดทรัพยากร จนกลายเป็นแบบแผนที่สืบทอดมา” ดร.เกรียงไกรกล่าว

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า คำว่า “เมรุ” ปัจจุบันเข้าใจกันว่าหมายถึงที่เผาศพ แต่จริงๆมาจากคำว่า “พระสุเมรุ” ที่หมายถึงศูนย์กลางหลักโลก ซึ่งมีอยู่ในคติของพุทธทุกนิกาย โดยสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุมีการสื่อออกมาอย่างหลากหลาย แปรความออกมาเป็นสถาปัตยกรรม โดยคติที่เห็นว่า “เมรุ” เป็นสัญลักษณ์ของงานอวมงคล มาปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นหมายความว่ารับมาจากสมัยอยุธยา

“สมัยกรุงเก่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจะประดิษฐานที่วิหารสมเด็จ เมื่อมีการถวายพระเพลิงจึงต้องสร้างอาคารรูปแบบที่คล้ายกันเพื่อทำพิธี ความหมายจากเดิมที่หมายถึงศูนย์กลางหลักโลกจึงเคลื่อนมาหมายถึง พระเมรุมาศ

“การเปลี่ยนแปลงทางโลกกับระบบความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยกันเสมอ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เศรษฐกิจก่อนการปฏิรูปการปกครองเป็นการแบ่งส่วยจากหัวเมือง แต่พอมีระบบงบประมาณแผ่นดิน ไม่สามารถรวบรวมเงินจำนวนมากอย่างเดิม ราชการจึงต้องเปลี่ยนแปลง ขนบราชวงศ์จึงปรับแต่การแสดงความศักดิ์สิทธิ์ยังคงอยู่ เช่นที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการลดทอนราชรถลงและเพิ่มดุริยางค์เหล่าทัพในระบบยุโรปมากขึ้น จนออกมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

ดร.นนทพร กล่าวว่า กรณีที่มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ 2 รอบนั้น เดิมในธรรมเนียมอยุธยาจะมีระยะเวลาการถวายพระเพลิงอยู่ในช่วงหลังบ่ายโมงไม่เกิน 4 โมงเย็น และถวายพระเพลิงครั้งเดียว จนมาถึงสมัยรัชกาลที่5 เริ่มมีธรรมเนียมการรอให้แขกกลับไปก่อนจึงถวายพระเพลิงจริง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกลิ่น จึงเกิดการถวายพระเพลิง 2 ช่วง รอบแรกเป็นช่วง 4-5 โมงเย็น อีกรอบหลังแขกกลับ แต่ในธรรมเนียมหลวงจะดึกหน่อย โดยมีการแสดงมหรสพควบคู่ คือ โขน แต่ในโบราณอาจมีการจุดดอกไม้เพลิง และหายไปในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ต้องการให้เป็นการไว้ทุกข์อย่างตะวันตกจึงงดงานรื่นเริง ภายหลังจึงมีการนำโขนกลับมาแสดงในงาน

ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่บูธมติชน ดร.นนทพร, ดร.เกรียงไกร และดร.รุ่งโรจน์ มาแจกลายเซ็นพบปะพูดคุยกับนักอ่าน โดยบรรบากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น มีนักอ่านที่เพิ่งฟังเสวนาจบตามมาพูดคุยถึงเรื่องในการเสวนาพร้อมทั้งขอลายเซ็นจากนักเขียน

น.ส.ทิพวรรณ์ สายสงวน อายุ 44 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ในวันนี้มาซื้อหนังสือสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ และหนังสือรามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งมีคนที่บ้านฝากซื้อเนื่องจากเป็นคนที่อ่านหนังสือแนวศิลปวัฒนธรรมของมติชนอยู่แล้ว แต่ตนเองนั้นสนใจหนังสือแนวประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ติดตามอ่านหนังสือมติชนมาโดยตลอด ซึ่งในวันนี้ได้รับของแถมเป็นกระเป๋าผ้า รู้สึกชอบมาก เนื่องจากลายสวย รวมถึงที่คั่นหนังสือก็ทำได้สวยงาม ส่วนบูธมติชนจัดได้สวยงาม เพราะตและปีทราบว่าจะมีธีมการตกแต่งบูธซึ่งทำได้ดีทุกครั้ง โดยตนมาเดินงานหนังสือทุกปี ปีนี้แม้คนจะดูน้อยกว่าปกติแต่ก็ยังคึกคักเหมือนเดิม

ด้านนายณัฐภูมิ รับคำอินทร์ สถาปนิก อายุ 35 ปี กล่าวว่าวันนี้ตนมาร่วมฟังเสวนา “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ของมติชนที่เวทีเอเทรียม โดยลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางเฟซบุ๊ก วันนี้ซื้อหนังสือชุดสู่ฟ้าเสวยสวรรค์ 2 ชุด โดยมีเพื่อนฝากซื้ออีกชุดหนึ่ง เนื่องจากตนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงสถาปัตยกรรม เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและความสนใจ โดยติดตามอ่านหนังสือประเภทศิลปวัฒนธรรมของสำนักพิมพ์มาตลอด นักเขียนที่ชื่นชอบมีทั้ง อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อ.เกรียงไกร เกิดศิริ อ.ไกรฤกษ์ นานา รวมถึงอีกหลายๆคนที่ตีพิมพ์กับมติชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะบูธมติชนที่ผู้อ่านให้ความสนใจเลือกซื้อหนังสือ เล่มที่ขายดีอันดับ1 คือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” รวมเรื่องราวการก่อสร้างพระเมรุมาศในหลายแง่มุมซึ่งนำมาจำหน่ายราคาพิเศษเฉพาะในงาน อีกทั้งทางสำนักพิมพ์มติชนมีของที่ระลึกลวดลายสวยงามสอดคล้องกับแนวคิดการตกแต่งบูธ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” แลกรับได้เมื่อซื้อหนังสือตามกำหนด

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 จัดไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยวันที่ 26 ตุลาคม จะปิดทำการเวลา 15.00 น. และวันที่ 25-27 ตุลาคม ที่เวทีเอเทรียม ผู้จัดงานร่วมถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image