“ตะบันน้ำ” สูบน้ำด้วยน้ำ : เทคโนโลยีการสูบน้ำอัตโนมัติ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

“ตะบันน้ำ” หรือ ไฮดรอลิคแรม (Hydraulic Ram) เป็นเทคโนโลยีการสูบน้ำอัตโนมัติที่ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่อาศัยเชื้อเพลิงหรือไฟฟ้า เพียงแค่ใช้พลังงานจากน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนระบบ ก็สามารถสูบน้ำไปใช้ได้แล้ว ทั้งยังประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการอีกด้วย

อ.ดร.จิระกานต์ ศิริวิชญ์ไมตรี ภาควิชา วิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ข้อมูลว่าเครื่องตะบันน้ำเป็นเทคโนโลยีการสูบน้ำที่เป็นประโยชน์มาก เนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือไฟฟ้าให้สิ้นเปลือง ซึ่งในต่างประเทศใช้กันมากว่า 200 ปีแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวค่อนข้างยุ่งยาก และประสิทธิภาพการสูบน้ำค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องสูบน้ำที่ใช้เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ แต่เชื่อว่าในอนาคตเครื่องตะบันน้ำจะเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นแน่นอน

“ตนเองได้ศึกษาวิจัยเครื่องตะบันน้ำมา 5-6 ปีแล้ว ก็ได้พัฒนาเครื่องตะบันน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สูบน้ำได้ปริมาณที่มากขึ้น ทำให้คนทั่วไปเริ่มให้ความสนใจ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องที่มีอยู่ยังเป็นเครื่องขนาดเล็กใช้ในระดับครัวเรือนเท่านั้น ขณะที่ภาคการเกษตรต้องการน้ำในปริมาณมาก ดังนั้นหากพัฒนาเครื่องตะบันน้ำที่มีขนาดใหญ่สูบน้ำได้ปริมาณมากขึ้น เชื่อว่าทำให้มีเกษตรกรสนใจอย่างแน่นอน”

สำหรับหลักการทำงานของเครื่องตะบันน้ำ อ.ดร.จิระกานต์ อธิบายว่า เริ่มจากน้ำจากแหล่งน้ำไหลเข้าสู่ท่อรับน้ำไปยังเครื่อง ผ่านวาล์วทิ้งน้ำจนความเร็วของการไหลเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดแรงยกวาล์วทิ้งน้ำให้ปิด ซึ่งการปิดวาล์วทิ้งน้ำทำให้เกิดความดันจำนวนมากในตัวเครื่อง เรียกว่า ปรากฏการณ์ Water Hammer ทำให้วาล์วกันน้ำกลับถูกยกขึ้น น้ำส่วนหนึ่งจะถูกอัดเข้าไปเก็บในถังแรงดันและเข้าสู่ท่อจ่ายน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ ขณะเดียวกันความดันในตัวเครื่องจะลดลงทำให้วาล์วกันน้ำกลับปิดและวาล์วน้ำทิ้งเปิด ตะบันน้ำก็เริ่มทำงานรอบใหม่อีกครั้ง

Advertisement

ทั้งนี้จุดที่ติดตั้งเครื่องตะบันน้ำต้องอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำอย่างน้อย 1.5 เมตร แต่ถ้าให้ดีควรต่ำกว่าประมาณ 2-3 เมตร และท่อส่งน้ำมายังเครื่องต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 15 เมตร แรงดันน้ำถึงจะเพียงพอทำให้ระบบดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันเครื่องตะบันน้ำที่พัฒนาขึ้นมาสามารถสูบน้ำได้มากกว่าระดับแรงดันตั้งต้นถึง 10 เท่า เช่น ถ้าแรงดันน้ำเริ่มต้นที่ 2 เมตร (ความสูงจากผิวน้ำมาที่ตัวเครื่องตะบันน้ำ) จะสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่ที่สูงกว่าถึง 20 เมตรเลยทีเดียว

66885_973420939362166_4395638883742623293_n

การสูบน้ำด้วยเครื่องตะบันน้ำ หากคิดปริมาณน้ำที่ผ่านเข้าเครื่องเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จะถูกใช้เพื่อเพิ่มแรงดันและทิ้งไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นน้ำที่สูบขึ้นมาได้ ซึ่งปริมาณน้ำที่ได้ก็แปรผันกับความสูงที่ส่งน้ำขึ้นไป ยิ่งสูงปริมาณน้ำที่ได้ก็จะน้อยลง จากการทดสอบประสิทธิภาพในการสูบน้ำขึ้นไปที่ความสูง 6 เมตร จะได้น้ำประมาณ 6,800 ลิตรต่อวัน ซึ่งก็เพียงพอที่ใช้ในบ้านเรือน 1-3 หลัง หรือสูบเพื่อไปกักเก็บไว้เตรียมใช้งานต่อไป

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะกบการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ คือ ลำธาร บริเวณเชิงเขาที่มีแหล่งน้ำ น้ำตก ฝาย ทำนบกั้นน้ำ พื้นที่ติดคลองชลประทานหรือตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งแหล่งน้ำในลักษณะนี้ประเทศไทยมีอยู่จำนวนมากจึงสามารถนำเครื่องตะบันน้ำไปติดตั้งและใช้งานได้ไม่ยาก

“5-6 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้สนใจติดต่อขอซื้อเครื่องตะบันน้ำไปใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมที่จำหน่ายไปแล้วกว่า 50 เครื่องแล้ว มีที่หนึ่งที่ไปติดตั้งเป็นสวนยางพาราปลูกอยู่บนเนินเขาสูง มีลำธารอยู่ต่ำกว่าพื้นที่สวนลงไปประมาณ 20 เมตร ซึ่งหลักของเครื่องตะบันน้ำคือต้องมีแหล่งน้ำสูงกว่าบริเวณที่ติดตั้งเครื่อง จึงได้ใช้วิธีทำเขื่อนกั้นลำธารไว้เพื่อทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้ได้แรงดันน้ำที่มากพอสำหรับทำให้เครื่องตะบันน้ำทำงานได้สมบูรณ์และส่งน้ำขึ้นไปใช้ในสวนยางได้”

อ.ดร.จิระกานต์ บอกว่าเจ้าของสวนยางพาราพอใจมาก เพราะสูบน้ำขึ้นไปใช้ได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่สำคัญลงทุนไม่สูงมาก ราคาเครื่องตะบันน้ำในปัจจุบันใกล้เคียงกับราคาเครื่องปั้มน้ำแบบใช้ไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศเครื่องตะบันน้ำขนาดเดียวกันราคาสูงถึง 70,000-80,000 บาท ขณะที่ของไทยรารคาเพียง 7,000-8,000 บาทเท่านั้น ทั้งยังมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าด้วย

“ปัจจุบันมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูลจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ต้องการเครื่องตะบันน้ำขนาดใหญ่เพื่อไปใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งทางคณะฯ ได้เร่งพัฒนาเครื่องตะบันน้ำที่สามารถสูบน้ำได้จำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร ซึ่งหากพัฒนาขึ้นได้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกร” อ.ดร.จิระกานต์ กล่าวในที่สุด

ผู้สนใจเครื่องตะบันน้ำ ติดต่อสอบถามได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 0-3435-1897 ต่อ 7201 หรือ 09-1278-9800 ได้ตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image