คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “ยุคใหม่” ของ “สี จิ้นผิง”

AFP PHOTO / WANG ZHAO

ทั่วโลกจับตามองการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) อันเป็นการประชุมตัวแทนพรรค 2,300 คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากทั่วประเทศที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ณ มหาศาลาประชาชน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการหนึ่งคือต้องการรับทราบถึงถ้อยแถลงนโยบายต่อสมัชชาของประธานาธิบดี อันจะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการประเทศทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อเนื่องต่อไปอีก 5 ปี

อีกประการหนึ่งคือต้องการจับตามองกลุ่มบุคคลชุดใหม่ ที่ได้รับ “ความเห็นชอบ” จากสมัชชา ให้ทำหน้าที่กุมบังเหียนทั้ง “พรรค” และ “รัฐ” ต่อไปในอนาคต

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เวลา 3 ชั่วโมงเศษในการแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ต่อด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิก “คณะกรรมการกลาง” ของพรรคจำนวน 204 คน และมีมติปรับแก้ “ธรรมนูญพรรค” ที่เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของจีนในวันเดียวกัน

วันที่ 25 ตุลาคม คณะกรรมการกลางชุดใหม่ดังกล่าวจัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งแรก วาระสำคัญคือการลงมติเลือก “คณะโปลิตบูโร” ชุดใหม่ 25 คนและเลือก 7 คนในจำนวนนั้นขึ้นเป็น “คณะกรรมการประจำ” ( สแตนดิง คอมมิตตี) ทำหน้าที่สูงสุดในการกำหนดและควบคุมทุกการดำเนินการของพรรคและรัฐ ในระยะ 5 ปีถัดไป
“ด้วยการทำงานหนักหลายทศวรรษ ลัทธิสังคมนิยมที่มีลักษณะจำเพาะของจีน ได้ก้าวย่างสู่ยุคใหม่แล้ว” คือคำประกาศของ สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดวัย 64 ปีของจีน

Advertisement

“ยุคใหม่” ที่ว่านั้น จีน ไม่เพียงเป็นประเทศที่สามารถขจัดความยากจนได้หมดสิ้น สามารถปกป้องคุ้มครองทั้งผลประโยชน์และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ยุคที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอความเร็วลง แต่สูงด้วยคุณภาพ ในขณะที่ยังคงเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดกว้างให้การต้อนรับต่อทั้งโลกต่อไปเท่านั้น หากแต่ยังเป็นยุคที่ “อิทธิพล ความดึงดูดและศักยภาพในการก่อให้เกิดรูปธรรมต่างๆขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศของจีนเพิ่มมากขึ้น และเรายังเป็นชาติใหม่และสำคัญในการอุทิศตนเพื่อสันติและพัฒนาการของโลก”

สี จิ้นผิง กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า หลังครบวาระ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลกถึง 89 ล้านคนในปี 2049 แล้ว

“เมื่อถึงปี 2050 อันเป็นวาระครบรอบ 2 ศตวรรษหลังเกิดสงครามฝิ่น ซึ่งทำให้ ‘อาณาจักรกลาง’ แห่งนี้จ่อมจมลงสู่ห้วงเวลาแห่งความเจ็บปวดและอับอาย จีนจะกลับมาผงาดใหม่อีกครั้งสู่จุดสูงสุดของโลก” และ
“แม้ว่ายังจำเป็นต้องทำงานอย่างหนัก แต่ภาพดังกล่าวนั้นปรากฏชัดเจน จีนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยรายได้ที่จะอยู่ในระดับสูงพร้อมด้วยระบบสวัสดิการสังคมที่มีประสิทธิภาพ มีรัฐบาลที่สนองตอบและรับใช้ประชาชน การเมืองที่สะอาดมีหลักประกันถึงสิทธิทั้งหลายของประชาชน ทั้งยังเป็นประเทศที่สวยงามอันเป็นที่รักของพลเมืองทุกคน”

Advertisement

เป็น “ยุคใหม่” ที่เปี่ยมด้วยทะเยอทะยานอย่างอหังการ

 

 

สมัยประชุมสมัชชาฯที่ 19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทิศทางของสาธารณรัฐประชาชนจีนชนิดมี “นัยสำคัญ” ไปจากห้วงเวลา “พลิกฟื้นแผ่นดิน” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง ในปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งถูกสืบทอดต่อมาโดย เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา 2 ผู้นำก่อนหน้า

สี จิ้นผิง ไม่เพียงเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เลิกใส่ใจตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงๆ หันมาทุ่มเทให้กับคุณภาพและความยั่งยืนของการเติบโตเท่านั้น แต่ยังพร้อมนำพรรคคอมมิวนิสต์ ก้าวออกจากกรอบการนำภายในประเทศสู่ความเป็นผู้นำบนเวทีโลก แตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับวิถี “โดดเดี่ยว งำประกาย” ในยุคก่อนหน้านี้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนนัยทางการเมืองที่น่าสนใจอย่างยิ่งในมุมมองของนักสังเกตการณ์จีนทั้งหลาย นั่นคือ การประชุมสมัชชาฯสมัยที่ 19 นี้คือการยืนยันว่า สี จิ้นผิง คือบุคคลผู้ครองอำนาจและอิทธิพลสูงสุดในจีน ชนิดที่ผู้นำน้อยคนนักสามารถทำได้

มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ยืนยัน “ชัยชนะทางการเมือง” ของ สี จิ้นผิง ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดเมื่อปี 2012 ท่ามกลางภาวะระส่ำระสายไร้ทิศทางของจีน เพราะสมัชชาฯพรรคในครั้งนี้ไม่เพียงแค่รับรองการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยที่ 2 ของเขาเท่านั้น ยังปรับปรุง รัฐธรรมนูญพรรคใหม่ ให้บรรจุ “ความคิดสี จิ้นผิง” ลงไปนั้น เพื่อ “เป็น (หนึ่งใน) แนวทางสำหรับนำไปปฏิบัติของพรรค” อีกด้วย

นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เรื่อยมา มีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สมัชชาฯพรรค ยอมรับและกำหนดให้บรรจุความคิดและชื่อลงไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือผู้ก่อตั้งพรรคอย่าง “เหมา เจ๋อตุง”

“ทฤษฎีเติ้ง” ของอดีตผู้นำ อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง นั้น ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับ “ความคิดเหมา” ก็ต่อเมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง เสียชีวิตลงเมื่อปี 1997 แล้วเท่านั้น

เควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เขียนบทความแสดงความคิดเห็นไว้ใน “ไฟแนนเชียล ไทมส์” ถึงกรณีนี้ ดังนี้

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมเคยพูดเอาไว้ว่า (สี จิ้นผิง) จะกลายเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุดของจีนนับตั้งแต่ เติ้ง เสี่ยวผิงเรื่อยมา ปรากฏว่าผมผิด เพราะตอนนี้ต้อง เขาคือผู้นำที่ทรงอิทธิพลสูงสุดนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง ทีเดียว”
จู้ด บลันเชทท์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองจีน ประจำสำนักวิจัย คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด นิวยอร์ก ตีความการบรรจุ “ความคิดสี” ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า สะท้อนถึงการรวมศูนย์อำนาจ ความเชื่อถือ ความชอบธรรมและอิทธิพลตามระบบอยู่ในตัวบุคคลเพียงคนเดียว “เพื่อผลักดันสิ่งที่ (สี จิ้นผิง) เห็นว่าถูกต้องให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพกว่า”

เนื่องจาก “หากใครคนใดคนหนึ่งมีสถานะอยู่เหนือพรรค ก็ยากที่ใครก็ตามในระดับต่ำลงไปไม่ยอมนำคำสั่งทั้งหลายไปปฏิบัติ”

อันที่จริง นัยสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ นับแต่นี้ต่อไปจะไม่มีใครต่อต้านสี จิ้นผิงอีกแล้ว

เพราะการต่อต้านสี จิ้นผิง ถูกยกขึ้นเทียบเท่ากับการต่อต้านพรรคไปแล้ว

 

 

คณะกรรมการประจำใน คณะโปลิตบูโร ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกลดจำนวนลงจาก 9 คนเหลือเพียง 7 คนในการประชุมสมัชชาฯครั้งที่แล้ว ถึงการประชุมครั้งนี้ กรรมการประจำ 5 คนจากจำนวน 7 คนพ้นจากตำแหน่งไป ตาม “ขนบธรรมเนียมพรรค” ที่ไม่มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถือปฏิบัติกันเรื่อยมาว่า จะไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเมื่ออายุเกิน 68 ปี

หลงเหลือเพียง 2 คนคือ สี จิ้นผิง กับ หลี่่ เค่อเฉียง ในวัย 64 และ 62 ปีตามลำดับ

ผู้ที่เกษียณพ้นหน้าที่ไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัตินั้นรวมถึง หวัง ฉีซาน พันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของ สี จิ้นผิง และเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นที่หวั่นเกรงกันไปทั่ว

การแต่งตั้งกรรมการประจำใหม่ 5 คน ถูกจับตามองมากที่สุด ด้วยเหตุที่ว่า 1 ในจำนวนนั้นโดยปกติแล้วคือ “ทายาท” สืบทอดตำแหน่งต่อจาก สี จิ้นผิง เมื่ออายุครบ 68 ปีในตอนสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2
ผู้สันทัดกรณีถึงกับกะเก็งกันล่วงหน้าว่า ถ้าไม่ใช่ “เฉิน มินเอ๋อ” ที่เชื่อกันว่าเป็นทายาททางการเมืองของสี จิ้นผิงแล้ว ก็คงหนีไม่พ้น “หู ชุนหัว” เลขาธิการพรรคสาขากวางตุ้ง ที่ล้วนอยู่ในวัย 50 เศษด้วยกันทั้งคู่ สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 2 สมัยได้โดยไม่เลยวัยเกษียณ

เอาเข้าจริงคณะกรรมการประจำชุดใหม่ ไม่มีใครเลยที่สะท้อนถึงความเป็น “ทายาททางการเมือง” ที่ชัดเจนของสี จิ้นผิง ที่ชัดเจน

รายแรกคือ “หวัง หูหนิง” ที่ปรึกษา “สูงสุด” ด้านนโยบายต่างประเทศมาตั้งแต่ยุคของ เจียง เจ๋อหมิน, หู จิ่นเทา เรื่อยมาจนถึงสี จิ้นผิง เป็นเจ้าของทฤษฎี “อำนาจนิยมใหม่” ที่ตรงกันข้ามกับแนวคิด “ภาวะผู้นำร่วม” ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศมากจนถึงกับมีผู้ให้ฉายาว่าเป็น “คิสซิงเจอร์แห่งเมืองจีน”

น่าเสียดายที่หวัง หูหนิง อายุ 62 ปีแล้ว

ถัดมา เป็น “หลี่ จ้านซู่” เพื่อนสนิทยาวนานของสี จิ้นผิง เป็นผู้รวบรวมการสนับสนุนจากแกนนำพรรคเพื่อหนุนสี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคเมื่อปี 2012 และว่ากันว่ามีบทบาทสำคัญในการบรรจุ “ความคิดสี จิ้นผิง” ไว้ในรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่สูงวัยถึง 67 ปีแล้ว

คนที่สามคือ หวัง หยาง มือเจรจาต่อรองทางการค้าระดับสุดยอดที่จีนมีอยู่ เติบใหญ่มาจากยุวชนพรรค ก่อนสร้างชื่อด้วยการบริหารเศรษฐกิจของกวางตุ้งจนรุ่งเรือง อายุ 62 ปีแล้วเช่นกัน

คนที่สี่ คือ “หัน เจิ้ง” ที่เคยเป็นมือขวาของ สี จิ้นผิงมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้ คาดหมายกันว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจสำคัญๆ ทั้งหมดทางด้านเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ อายุ 63 ปีแล้ว

สุดท้าย คือ “เจ้า เล่อยี่” จากมณฑลชิงไห่ ตำแหน่งเดิมก็คือ ผู้อำนวยการกรมจัดการองค์กร ที่ทั้งทรงอิทธิพลและลึกลับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ อายุ 60 ปี น้อยที่สุดในบรรดากรรมการประจำด้วยกัน แต่สี จิ้นผิง เลือกให้เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานปราบปามคอร์รัปชั่นที่ทรงอิทธิพลคนใหม่

พิเคราะห์จากคณะกรรมการประจำชุดใหม่ รวมเข้ากับประเด็นว่าด้วย “ความคิดสี” ในรัฐธรรมนูญ ไม่ยากที่นักสังเกตการณ์จีนส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า อย่างน้อยที่สุด สี จิ้นผิง กำลังจะทำลายธรรมเนียมปฏิบัติทั้งในเรื่องเกษียณเมื่อครบ 68 ปีและการครองอำนาจ 2 สมัย ด้วยการกลายเป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจต่อไปตามความต้องการ

ส่วนจะกลายเป็น “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” ท่วงทำนองเดียวกับ วลาดิมีร์ ปูติน หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์วิจัยของแต่ละปัจเจกไป

 

 

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจีนแทบทุกคนเห็นตรงกันว่า “ยุคใหม่” ของ “สี จิ้นผิง” จะเป็นไปในรูปแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จมากขึ้น รวมศูนย์อยู่ที่พรรคและเลขาธิการพรรคมากยิ่งขึ้นกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา บางคนกลับปัดข้อกล่าวอ้างของการก้าวไปสู่ความเป็น “ศูนย์กลางของโลก” ภายในครึ่งแรกของศตวรรษนี้ว่า เป็นเพียง “วาทะกรรมทางการเมือง” ปกติทั่วไป

กระนั้น ริชาร์ด แม็คเกรเกอร์ นักวิชาการอังกฤษที่คร่ำหวอดกับจีนศึกษาเจ้าของหนังสือ “เดอะ ซีเครท เวิลด์ ออฟ ไชนาส์ คอมมิวนิสต์ รูลเลอร์ส” ยก 3 เหตุผลขึ้นมาแจกแจงให้เห็นว่า จีนในยามนี้ มีพลานุภาพและความเชื่อมั่นมากกว่าครั้งไหนๆ ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ในอันที่จะก้าวไปสู่จุดที่เป็นเป้าหมายดังกล่าว

ประการแรก นี่คือช่วงเวลาที่จีนมีความมั่นใจในตัวเองและในชนชาติของตัวเองสูงสุด หลังจากสามารถจัดการจนเศรษฐกิจที่สั่นคลอนจากภาวะแทรกซ้อนของวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาให้อยู่ในภาวะ “เสถียร” ได้ นอกเหนือจากการฝ่าฟันวิกฤตการณ์การเงินระดับโลกเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้มาได้ โดยไม่พังพาบเหมือนหลายๆชาติในภูมิภาคเดียวกัน

ประการถัดมา จีนกำลังอยู่ในสถานะมั่นคงอย่างยิ่ง สามารถแสดงออกได้ อวดอิทธิพลได้ ให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม โลกตะวันตกกำลังตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพ เคลือบแคลงในศักยภาพหรือทิศทางของตัวเอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็กำลังทุ่มสมาธิอยู่กับการ “ทบทวนตัวเอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศและเขตเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป

สุดท้าย ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง จีนกลายเป็นประเทศที่มีผู้นำ ที่มีทั้ง “วินัย” และ “อำนาจ” มากที่สุดในบรรดาผู้นำโลกร่วมสมัยเดียวกัน ข้อเปรียบเทียบที่ต่างขั้วที่สุดในแง่นี้ก็คือ ผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ ไร้วินัยที่สุดและมีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในบรรดาผู้นำร่วมรุ่นทั้งหลาย

ยิ่งมองไปที่ความต่างของระบบการเมือง ยิ่งทำให้ความแตกต่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในแง่ของการบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของผู้นำ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่า ความท้าทายที่ สี จิ้นผิง ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ จะลดขนาดเล็กลงหรือลดความหลากหลายลงแต่อย่างใด นักสังเกตการณ์บางรายเชื่อด้วยซ้ำไปว่า ยิ่งเบ็ดเสร็จมากขึ้นเท่าใด โอกาสล้มเหลวยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

เช่นกัน ข้อกังขาทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้ง เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นเปิดประเทศ กระนั้นกระบวนการนำของจีนก็ยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้มาจนถึงขณะนี้

และหากจีนยังดุ่มเดินบนเส้นทางแห่งความสำเร็จนี้ต่อไป ไม่แน่นักว่า “โลก” ที่เราคุ้นเคยอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image