‘พาณิชย์’ โล่ง ส่งออกฉลุยโตเกินคาด ลุ้นต่อปีหน้าภายใต้ปัจจัยลบรอท่า

ช่วงโค้งสุดท้ายปี 2560 หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2560 ขึ้นมาอยู่ในกรอบ 5.7-8% จากเดิมที่คาดไว้เพียง 3-5% แต่ยังเหลือเวลาให้ลุ้นอีก 2-3 เดือนสุดท้าย (ตุลาคม-ธันวาคม) ว่าจะดีได้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.2% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน นับเป็นมูลค่าต่อเดือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,454 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.73% เกินดุลการค้า 3,358

ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การส่งออก 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปีนี้ มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี การนำเข้ามีมูลค่า 163,203 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.75% เกินดุลการค้า 12,231 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทุกตลาดต้องการสินค้าเพิ่ม

Advertisement

ในเรื่องดังกล่าว นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะภาวะการค้าระหว่างประเทศและความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นในทุกตลาดสำคัญ ประกอบกับกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ดีเกือบทุกรายการ ทั้งปริมาณและราคาเช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขณะที่การส่งออกข้าว และอาหารขยายตัวได้ดีจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ รวมถึงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง

เมื่อหักการส่งออกทองคำออก ให้เห็นสินค้าที่เป็นภาคการผลิตที่แท้จริง (เรียล เซ็กเตอร์) การส่งออกยังขยายตัวได้ถึง 10.3% และหลังหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมันรวมทองคำ ยังขยายตัว9.3% ส่วนกลุ่มสินค้าหลัก 2 กลุ่ม คือ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 14.7% ของการส่งออกทั้งหมด หรือ 25,789 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.4% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สัดส่วน 79.7% หรือ 139,796 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 8.4%

โดยสินค้า 10 อันดับแรกที่ส่งออกขยายตัวในช่วง 9 เดือน คือ 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือ 19,601 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.9% จากรถยนต์นั่งที่ส่งออกได้ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่รถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกรวมถึงส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ยังขยายตัวต่อเนื่อง 2.เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบคิดเป็นสัดส่วน 7.6% หรือ 13,393 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.1% 3.ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วน 4.3% หรือ 7,498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 53.8% 4.เม็ดพลาสติก สัดส่วน 3.6% หรือ 6,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.4%

Advertisement

อันดับ 5.แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วน 3.5% หรือ 6,137 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 8.4% 6.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัดส่วน 3.2% หรือ 5,675 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.8% 7.อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สัดส่วน 3.1% หรือ 5,524 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.9% 8.เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 3.1% หรือ 5,415 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.5% 9.ทองคำ สัดส่วน 2.9% หรือ 5,140 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 16.8% และ 10.น้ำมันสำเร็จรูปสัดส่วน 2.9% หรือ 5,030 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 33.3%

พาณิชย์มั่นใจปีนี้ขยายตัวได้8%

จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจพร้อมกับปรับเป้าการส่งออกปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 7% ดังนั้น 3 เดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องส่งออกให้ได้อย่างน้อย 19,061 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปีนี้มีมูลค่ารวม 232,618 ล้านเหรียญสหรัฐจากปี 2559 มีมูลค่า 215,387 ล้านเหรียญสหรัฐในแง่มูลค่านับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนการค้าชายแดน และผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (การค้าชายแดน) 9 เดือนแรกปีนี้พบว่ามีมูลค่าร่วม 971,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.68% ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.8 ล้านล้านบาท จึงต้องลุ้นกันว่าค้าชายแดนจะฉุดภาพรวมการส่งออกให้ไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ แม้ว่ากรมการค้าต่างประเทศจะมั่นใจว่าการค้าชายแดนยังขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออก และดีขึ้นตามเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ปรับเป้าหมายการค้าชายแดนลง ยังคงยืนตัวเลขเดิมที่ 1.8 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเป้าหมายการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่ายอดค้าชายแดนในปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1.20 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับภาพรวมส่งออก

อีกทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มผ่อนคลายคง โดยมองว่าปัจจัยค่าเงินบาทจะไม่มีผลกระทบกับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้ตกลงทำคำสั่งซื้อและราคาสินค้ากันไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะส่งมอบในช่วง 3 เดือนที่เหลือปีนี้

เพราะพฤติกรรมการค้าที่ทำคำสั่งซื้อและตกลงราคาล่วงหน้ากันประมาณ 2-3 เดือนเช่นนี้ กอปรกับเมื่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโหมทำการตลาดเพื่อผลักดันการส่งออกช่วงปลายปีนี้ อาจจะช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อในปัจจุบันได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะส่งผลต่อไปในปีหน้า ตัวเลข 3 เดือนท้ายที่ลุ้นกันจึงน่าจะมาจากการรักษายอดและการขยายตัวให้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเป็นหลัก

เร่งจัดกิจกรรมดันส่งออกโค้งสุดท้าย

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญผลักดันการส่งออกช่วงโค้งสุดท้ายของปีตั้งแต่ช่วงปลายตุลาคม-ต้นพฤศจิกายนนี้ ได้เชิญผู้นำเข้าจากหลายประเทศเจรจาซื้อขายข้าวในไทย คาดว่าจะขายข้าวได้รวม 3 หมื่นตัน แบ่งเป็นคำสั่งซื้อทันที 586 ล้านบาท และเกิดคำสั่งซื้อต่อเนื่องอีก 3 หมื่นล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะนำผู้ประกอบการไทยด้านสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าภาพยนตร์และบันเทิงเจาะตลาดสหรัฐ นอกจากนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์เครื่องประดับโลกในไทย ส่วนในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงปลายปี เจาะตลาดสุขภาพและความงามในจีน และเจาะตลาด 7 เมืองน่าสนใจในอินเดีย ทั้งกลุ่มอาหาร เกษตร และไลฟ์สไตล์และส่งเสริมตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรม www.thaitrade.com

“เป้าหมายส่งออกปี 2561 ขณะนี้ยังไม่ได้เคาะตัวเลขออกมา แต่เตรียมหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) และภาคเอกชนร่วมกันในกลางเดือนมกราคมปีหน้า ก่อนสรุปตัวเลข โดยคาดหวังว่าการขยายตัวส่งออกปีหน้าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น” นางจันทิรากล่าว

โดยแผนผลักดันส่งออกปีหน้า จะทำทั้งต่อยอดแผนเดิมให้ดีขึ้น และมีกลยุทธ์ใหม่ เช่น กลยุทธ์การเจาะตลาดเป็นรายเมือง (ซิตี้ โฟกัส) สานต่อนโยบายความเป็นหุ้นส่วน (สตราเตจิก พาร์ตเนอร์ชิฟ) และเปิดตลาดในประเทศที่นายกรัฐมนตรีเคยไปเยือน เช่น อาเซียน รัสเซีย จีน อิหร่าน อังกฤษ และเดินหน้าให้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) บรรลุผลเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าออนไลน์

กลยุทธ์ใหม่ที่เน้นทำมากขึ้นในปีหน้า คือ การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิช มาร์เก็ต) โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นกลุ่มสถาบันอย่างโรงแรม ร้านอาหาร สวนสนุกก่อสร้างและตกแต่ง ซึ่งสามารถเสนอขายสินค้าทั้งซัพพลายอุตสาหกรรมได้ ส่งเสริมการส่งออกภาคบริการมากขึ้นทั้งตัวสินค้าและที่เป็นบริการเช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ กลุ่มสุขภาพและรับบริหารโรงแรม, เจาะตลาดตามความต้องการของคู่ค้า เช่น เจาะตลาดที่กำลังพัฒนา ต้องการสินค้าพื้นฐานอุปโภคบริโภค ก่อสร้าง และเกษตร เช่น แอฟริกา ปากีสถาน บังกลาเทศ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในปีหน้าคือ ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ และผลกระทบจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) มาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ นโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย

สอดคล้องกับภาคเอกชน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ที่ระบุว่า ปัจจัยหลักที่น่าสนใจและจะต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิด ที่จะมีผลกับการส่งออกของไทย คือ เบร็กซิท เพราะเป็นปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอน ตามกำหนดการจะต้องเจรจาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2562 หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ คาดว่ากฎระเบียบเรื่องภาษีศุลกากรของทั้งสองฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การจะส่งสินค้าจากไทยไปสหราชอาณาจักรและส่งต่อไปยังยุโรปอีกที อย่างน้อยอาจจะต้องผ่านด่านการตรวจถึง 2 รอบ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเป็นต้น คาดว่าผลจากเบร็กซิทจะไม่กระทบกับการส่งออกของไทยในปีนี้แต่อาจส่งผลกับปีหน้า และปีถัดๆ ไป

“สรท.คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6% และขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกของทั้งปีเพราะมูลค่าส่งออก 9 เดือนทำได้แล้ว 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 9.3% หาก 3 เดือนที่เหลือยังรักษาทิศทางขยายตัวต่อเนื่องได้ สามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ดังเช่น 2 เดือนก่อนหน้า คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 9% กว่าๆ และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะขยายตัวได้ 10% เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเริ่มฟื้นตัว มีความต้องการในการนำเข้าสินค้าที่แท้จริง” นางสาวกัณญภัคกล่าว

ดังนั้น หากตัวเลขการส่งออกในปีนี้ขยายเป็นตัวเลข 2 หลัก สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่าปัจจัยลบที่เคยหวั่นๆ เมื่อต้นปียังไม่ส่งผลนักในปีนี้ ทั้งเรื่องค่าเงินผันผวน ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะกลายเป็นของจริงในปีหน้าได้..เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image