เอนก ร่วมเปิดตัวหนังสือ’เมือง กิน คนฯ’ชี้ ปฎิรูปการเมืองต้องกระจายอำนาจ-เข้าใจนคราภิวัฒน์

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีการเสวนาเปิดตัวหนังสือ เมืองกินคน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมือง และสุขภาวะของไทย เขียนโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พิมพ์โดยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีปาฐกถาพิเศษของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง หัวข้อ นคราภิวัฒน์ กับการปฏิรูปการเมือง

โดย ศ.ดร.เอนก ระบุว่า ประเทศไทยขณะนี้มีกระบวนการกลายเป็นนครอย่างเข้มข้นมากขึ้น การปฏิรูปประเทศโดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องสนใจนคราภิวัฒน์ ซึ่งกระบวนการนคราภิวัฒน์ เกิดมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเมืองต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยว และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นแล้ว แต่ต้องเข้าใจเรื่องเมืองและการพัฒนาเมือง

ซึ่งภาคการท่องเที่ยวของไทยใหญ่มากทำให้เกิดเป็นเมืองที่ยกขึ้นเป็นระดับโลก เช่นกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ถือเป็นนครที่มีคนเดินทางมาเยือนจำนวนมาก แต่ระบบการบริหารเมืองของเราไม่ได้ถูกวางแผนอย่างเป็นระบบมากนัก หลายเมืองที่เราตั้งใจจะให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก็กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวที่เราคิดว่าจะไม่มีอนาคตก็กลับมีอนาคต ตนจึงคิดว่าเรื่องแผนไม่สำคัญ แต่อยู่ที่การปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆมากกว่า ตามธรรมชาติที่เป็นจริง

ทั้งนี้ตนเองเชื่อว่าไทยมีวัฒนธรรมที่ปรับตัวเก่ง การบริหารอย่างเป็นทางการอาจจะไม่ได้ผลจึงต้องดูความจริง เชื่อว่าหลายเมืองในประเทศไทยเป็นเมืองที่มีอนาคต ไม่ว่าจะเป็นน่านอุดรธานีหรือเชียงคาน หรือแม่สอดซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวพม่า แสดงให้เห็นว่าเมืองต่างๆมันเติบโตไปเองได้ เราได้เห็น อปท.หลายแห่งเก่งระดับโลก ดังนั้นการปฎิรูปการเมือง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันผลักดันการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ให้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดพลังไปเสริมกับการพัฒนาของท้องถิ่น เกิดเป็นเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความภูมิใจของคนในชาติ

Advertisement

ศ.ดร.เอนก ระบุอีกว่า คนไทยเรามีความรักชาติและพร้อมจะตายเพื่อชาติ แต่เรายังขาดความรักเมือง เพราะเราไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมือง นคร หรือกรุง จึงทำให้พลังนี้ไม่เข้มแข็ง อันเป็นผลจากการเรียนที่มีแต่ประวัติศาสตร์ชาติ ผมคิดว่านคราภิวัฒน์ จะต้องทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้คนคิดแต่เรื่องชาติหรือเศรษฐกิจระดับชาติอย่างเดียว แต่จะต้องสนใจเมือง นครด้วย ต้องมีการสร้างเมืองนิยม ประวัติศาสตร์เมือง และใจของเมือง ที่ไม่ใช่แค่สถานที่ ซึ่งการปฏิรูปการเมืองจะปล่อยให้รัฐทำและวางแผนก็ทำได้ แต่ควรเสริมว่าการปฏิรูปควรเปลี่ยนจากภายใน หากเราไม่มีจิตใจที่ดีงามเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรภายนอกที่ดีงามด้วยไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องมองตัวเองว่าตัวเองมีปัญหาอย่างไร จะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร และจะมีวินัยได้อย่างไร เพื่อร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของเราดีขึ้น

ศ.ดร.เอนก ระบุด้วยว่า วิธีการบริหารประเทศ ของไทย เป็นระบบกรมมาธิปไตย ที่ใช้กรมต่างๆ ในการบริหาร เราไม่มีข้าราชการภูมิภาคที่แท้จริง ข้าราชการของจังหวัดก็เป็นข้าราชการที่กรมส่งไปลงภาคสนาม ผู้ว่าฯก็เป็นคนของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอก็เป็นคนของกรมการปกครอง เช่นเดียวกับปลัดจังหวัด หมายความว่าเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ บางครั้งฝนตกน้ำท่วมเพราะคนที่มาจากกรุงเทพไม่รู้ว่าน้ำไหลอย่างไร หากใครจะเถียงว่าระบบภูมิภาคดีอย่างไร ก็ต้องถามอย่างง่ายเช่นทำไมต้องย้ายผู้ว่าบ่อย ยกตัวอย่างจังหวัดลำปางเล่ากันว่า 11 ปีมีผู้ว่า 10 คน มันจะพัฒนาจังหวัดได้อย่างไร ทั้งนี้หากเราจะรักษาจังหวัดแบบทุกวันนี้ไว้ก็ต้องมีกติกาเช่นผู้ว่าฯต้องอยู่อย่างน้อย2ปี3ปี โดยเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าก็น่าจะต้องมีการถกเถียงศึกษากันอีก หากจะทำการจริงก็ทำได้ทั้งนั้น แต่หากไปพูดว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ข้าราชการของเราก็จะไม่พอใจ ซึ่งเมืองไทยทำไม่ง่าย แต่อย่าพึ่งท้อใจ ต้องพยายามทำอย่างไรให้พื้นที่เป็นหน่วยหลักในการพัฒนาแทนกรมของราชการ

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว ถึงหนังสือดังกล่าว โดยระบุว่า ชื่อหนังสือเมืองกินคน เป็นชื่อที่เรียงกันสามคำ คือ เมือง กิน คน เกิดจากหลักที่เวลาตนเองสอนหนังสือ จะยึดการเข้าใจหลักเรื่องการกินชีวิตกันในเมือง ไม่ใช่การพยายามบอกแค่ว่าเมืองคือเรื่องของการสร้าง แต่เป็นการพยายามเข้าใจว่าการมีชีวิตที่ดีในเมืองก็เป็นเรื่องของกำลังกินชีวิตของผู้อื่น คำถามต่อมาคือการกินชีวิตกันนั้น กินอย่างไร และจะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกันได้ ต่อมาคือปัญหาที่อยู่อาศัยในงานชิ้นนี้จะพูดเรื่องการกำเนิดของคอนโดมิเนียม ในเมืองกับการแย่งชิงพื้นที่อาหารที่ทำให้ความมั่นคงทางอาหารต่ำลงอย่างไร ซึ่งงานชิ้นนี้จะพูดถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเราว่ากระทบกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

Advertisement

นอกจากนี้ ในประเด็นการเมืองนคร ยังพูดเรื่องอำนาจ ที่จะชวนคิดเรื่องเมืองในฐานะมิติหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารแต่เป็นเรื่องของการรู้จักพื้นที่ ซึ่งต้องเกิดขึ้นคู่ขนานกับการศึกษาเรื่องการปกครองท้องถิ่น โดยการทำความเข้าใจเรื่องอำนาจในเมือง เป็นสิ่งสำคัญ ในหนังสือเล่มนี้

ส่วนในประเด็นผังเมืองนั้น สิ่งที่ต้องมีคือเรื่องของรัฐธรรมนูญท้องถิ่น ที่พูดเรื่องผังเมืองคือกระบวนการจัดสรรอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องโซนนิ่ง แต่เป็นเรื่องการจัดสรรอำนาจของคนในท้องถิ่น ที่จะต้องคุยกันแล้วได้สิ่งนี้ขึ้นมา ทั้งนี้หากคนไทยอยากเข้าใจว่าผังเมืองคืออะไรตนขออธิบายง่ายๆ ว่าผังเมืองคือหลักเมือง เป็นจิตวิญญาณของเมืองซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กระดาษ เป็นสิ่งที่ทำให้คนในเมืองรวมดวงใจ ไม่ใช่เรื่องการแก้ไปเรื่อยๆเพราะแค่มีอำนาจ หรือจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้เพราะมันสกัดขัดขวางการพัฒนา ทั้งนี้ตนมองว่าอย่ามองว่าผังเมืองเป็นเรื่องเทคนิคต้องพึ่งแต่นักออกแบบ ตนคิดว่าผังเมืองเป็นเรื่องกระแส มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image