สมชัย ศรีสุทธิยากร มอง ‘เลือกตั้ง’ ไม่เกินส.ค.61

หมายเหตุ – นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” เกี่ยวกับความพร้อมของ กกต.เพื่อรองรับโรดแมปการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น


การเตรียมงานของ กกต.เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง

กกต.ได้มีการเตรียมงานไว้รองรับหลายอย่างทั้งในส่วนของระเบียบ ประกาศต่างๆ เพื่อรองรับกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กกต. กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนการเตรียมบุคลากร เบื้องต้นเราได้เตรียมเจ้าหน้าที่ กกต.ทุกจังหวัดให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพ ที่ผ่านมาเรามีปัญหาว่าการบรรจุแต่งตั้งบุคลากรให้ครบตามจังหวัดต่างๆ ยังมีปัญหาอยู่ ดังนั้น เราพยายามจัดบุคลากรให้ครบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบุคลากรที่จะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน จำเป็นต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์เพื่อรองรับกระบวนการสืบสวนที่จะเกิดขึ้นช่วงก่อนและหลังจากการเลือกตั้ง ส่วนระบบงานต่างๆ ได้เตรียมการทุกเรื่อง

หลักการที่สำคัญคือพยายามทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเตรียมการให้พร้อมกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ มองว่าปัญหาของตัวกฎหมายที่ยังไม่นิ่งโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจทำให้การเตรียมการในหลายๆ เรื่องแม้จะเตรียมการไปแล้วก็ตาม แต่พอถึงเวลาก็อาจทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเราพยายามผลักดันให้มีช่องทางการใช้สิทธิที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อดูร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ออกมาใหม่ อาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถใช้การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

Advertisement

ขณะนี้กระบวนการร่างกฎหมายลูกมีความคืบหน้าไปมาก ประเมินว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ประเด็นสำคัญคือคนไปกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรืออาจจะมีการโต้แย้งจากทาง กกต.ว่ามีหลักการบางเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจนจำเป็นต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย อาจจะต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ความเห็นส่วนตัวของผม มองว่ากระบวนการร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ทาง กกต.ได้มีการเสนอความเห็นไปยัง กรธ. มากพอสมควรแล้ว เมื่อ กรธ.ไม่ได้ใช้แนวคิดที่ กกต.เสนอไป ส่วนตัวผมคงไม่คัดค้านในขั้นตอนของ สนช. เพราะคิดว่า กกต.สามารถทำงานได้ในทุกรูปแบบที่ถูกออกแบบมา เราคงไม่ความเห็นแย้ง คงปล่อยผ่านให้ดำเนินการตามที่ได้ออกแบบมา ดังนั้น ปัญหาและอุปสรรคในฝั่งของ กกต. คงไม่น่าจะมี เราน่าจะยอมตามฝ่ายที่ได้เขียนกฎหมายมา อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีอุปสรรคจากทาง กกต. และหาก กรธ.และ สนช.ไม่มีประเด็นขัดแย้งกัน การตั้งกรรมาธิการร่วมฯคงไม่เกิดขึ้น หากมองระยะเวลาโดยเฉลี่ยเกี่ยวกับกระบวนการของกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ น่าจะเสร็จเรียบร้อยอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นการนับเวลา 150 วันจะเริ่มทันที ดังนั้น 5 เดือนหลังจากเดือนมีนาคมก็มีความเป็นไปได้สูงว่าการเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนสิงหาคม 2561

Advertisement

การเตรียมการของพรรคการเมืองจะทันหรือไม่ เพราะขณะนี้ทาง คสช.ยังไม่มีการปลดล็อก

ต้องไปดูว่าบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำสิ่งใดบ้าง หากนับเวลาถึงวันนี้มองว่าค่อนข้างตึง เพราะกำหนดการแรกสุดที่พรรคการเมืองต้องทำคือการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน นับระยะเวลาจากนี้ก็จะเหลือเวลาไม่มาก ประมาณ 2 เดือนเศษ กระบวนการนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพราะพรรคการเมืองใหญ่จะมีสมาชิกมาก การสำรวจสถานะของสมาชิกจำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ ส่วนกรอบระยะเวลา 180 วัน ที่พรรคต้องดำเนินการ อาทิ จัดหาสมาชิกให้ครบ 500 คน จัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ ดังนั้น อย่าไปคิดว่าหากทำไม่ทันแล้วจะสามารถขยายระยะเวลาได้ เพราะการขยายเวลาขอขยายได้จริง แต่ถ้าทำไม่เสร็จแล้วขอขยายเวลาผลที่เกิดขึ้นคือจะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

ถ้าหาก คสช.ปลดล็อกล่าช้ามองว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมกับพรรคที่จัดตั้งใหม่ แบบใดมีโอกาสได้เปรียบเสียเปรียบมากกว่ากัน

ถ้าปลดล็อกช้า พรรคการเมืองที่จัดตั้งอยู่เดิมจะเกิดความเสียเปรียบ เพราะว่าจะมีกำหนดการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากทำไม่ทันก็จะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งหรือได้เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองใหม่การจัดตั้งพรรคไม่มีกรอบเวลา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมมีความเป็นห่วงมากคือพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกเป็นจำนวนมาก เพราะการสำรวจสถานภาพของสมาชิกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกเป็นล้านคน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร กกต.ชุดใหม่ มองว่าสเปก กกต.เข้มจนเกินไปหรือไม่

สำหรับสเปก ของ กกต. หรือองค์กรอิสระ คงพูดกันในช่วงนี้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการตามจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้เคยให้ความเห็นไปในขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่าการกำหนดคุณสมบัติลักษณะดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะว่าไม่ได้แปลว่าคนที่รับราชการสูงจะทำงานได้ดี หรือคนที่มีคุณวุฒิสูงทำงานได้ การทำงานขององค์กรอิสระ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่คุณสมบัติอย่างเดียว แต่เขาต้องกล้าทำงาน กล้ารับผิดชอบ กล้าเหนื่อยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ต้องกล้าหาญที่จะทำงานกับฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าจะไม่มีผู้มาสมัคร ท้ายสุดก็จะมีผู้มาสมัคร แต่ผู้สมัครดังกล่าวจะถูกขีดวงไว้ของคนที่มีคุณสมบัติค่อนข้างสูง หลังจากนั้นการทำงานจะเป็นบทพิสูจน์เองว่าเมื่อได้คนที่มีคุณสมบัติสูงจะสามารถป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่ การเลือกตั้งจะดีขึ้นหรือไม่ ผลการเลือกตั้งจะทำให้ได้บุคลากรทางการเมืองที่มาทำหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน

มองว่าการกำหนดสเปกที่สูงจนเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่กล้ามาสมัครหรือไม่

คนสเปกสูงต้องกล้ามาสมัคร แต่คนสเปกไม่ถึงก็มาสมัครไม่ได้อยู่แล้ว คนสเปกสูงต้องขึ้นอยู่กับว่ามีจำนวนเท่าใด อาจจะน้อยลงกว่าเดิมมาก ผมเชื่อว่ามีคนที่มีคุณสมบัติครบมาแน่นอน 3 วันสุดท้ายน่าจะมีผู้มาสมัคร การมาเป็น กกต. มีความเสี่ยงแน่นอน เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมหาศาล โอกาสผิดพลาดมีสูง เสี่ยงถูกฟ้องร้องคดีต่างๆ รวมทั้งข้อจำกัดการทำงานจากข้อกฎหมายใหม่ก็มีจำนวนมาก ดังนั้น คนมาเป็น กกต.ชุดใหม่ ต้องเสียสละมากๆ ใครได้รับการสรรหาเข้ามาต้องทำงานด้วยความเสียสละ เพราะงาน กกต.ไม่ได้เป็นงานที่มีความสุขมากนัก แต่เป็นงานที่เหนื่อยและต้องเสียสละตัวเองพอสมควร

ในฐานะ กกต.รุ่นพี่ อยากฝากสิ่งใดถึงคนที่จะมาสมัครเป็น กกต.

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอยากจะให้ดูกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ แม้ว่ากฎหมายจะยังออกมาไม่หมดก็ตาม เพื่อจะได้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ กกต. อย่าคิดว่าเข้ามาแล้วค่อยมาเรียนรู้ แต่การทำงานจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ควรอ่านเพื่อให้เข้าใจว่าหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องทำคืออะไร และภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดใหม่เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าท่านเข้าใจก็จะได้ประเมินตนเองได้ว่าท่านพร้อมเข้ามาทำหน้าที่ กกต.หรือไม่ เพราะกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปมาก วิธีการเลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน หน้าที่ของ กกต.ก็ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสำเร็จ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบเอง สำนักงานมีส่วนช่วยเสนอแนะในการเสนอแนวทางวิธีปฏิบัติ แต่ กกต.ต้องตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าสิ่งที่สำนักงานเสนอนั้นทำแล้วได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือทำแล้วเป็นปัญหา เพราะเมื่อทำแล้วเป็นปัญหา สำนักงานไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ผู้รับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญาคือ กกต.

บทเรียนทำนองแบบนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว ยกตัวอย่าง ข้อเสนอให้กลับคูหาเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอทางเทคนิคที่มาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่มองว่าจะช่วยป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งได้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ คนที่รับผิดชอบคือ กกต. เกือบจะต้องรับผิดทางแพ่ง แต่โชคดีที่ทางกระทรวงการคลังวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำความผิดโดยประมาทไม่ได้ตั้งใจทำผิด จึงไม่มีการฟ้องร้องทางแพ่ง เป็นตัวอย่างว่า กกต.ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบและตัดสินใจทุกอย่าง

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่ กกต.ชุดหน้าต้องตัดสินใจคือการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่าจะกำหนดภายใต้กรอบ 150 วันอย่างไรจะรวมวันประกาศผลหรือไม่รวมวันประกาศผล เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ และยังไม่มีใครยอมชี้ขาดว่าความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร กฤษฎีกาก็ไม่ยอมชี้ ส่วน กรธ.ก็ยังไม่ยอมตอบให้มีความชัดเจนว่าหมายความอย่างไร จุดนี้ กกต.ชุดใหม่มีความเสี่ยงสูง หากจัดเลือกตั้ง 150 วันโดยไม่รวมวันประกาศผลหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วอาจถูกฟ้องร้องว่าจัดเลือกตั้งผิดรัฐธรรมนูญ ผมเป็นห่วงที่สุด หวังว่าการกำหนดวันเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในชุดของผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image