พบวัตถุลึกลับ ทะยานผ่านดวงอาทิตย์

(ภาพ-NASA/JPL-Caltech)

ร็อบ เวอริค นักวิจัยด้านดาราศาสตร์จากสถาบันเพื่อการศึกษาดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ตรวจพบวัตถุลึกลับที่เดินทางระหว่างดวงดาว (อินเตอร์สเตลลาร์ ออบเจ็กต์-ไอเอสโอ) ที่โคจรด้วยความเร็วสูงผ่านเข้ามาในระบบสุริยะ ก่อนที่จะทะยานผ่านดวงอาทิตย์จากไปด้วยความเร็วสูงมากยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาและเป็นคนแรกที่จัดทำรายงานเสนอต่อศูนย์ไมเนอร์ แพลเนท เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลการค้นพบเกี่ยวกับดาวเคราะห์ขนาดย่อม, ดวงจันทร์, วัตถุธรรมชาติที่โคจรรอบโลก รวมถึงดาวหางต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก

เวอริคตรวจพบวัตถุประหลาดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเทหวัตถุแรกสุดที่ค้นพบว่าโคจรเข้ามาจากนอกระบบสุริยะ โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ แพน สตาร์ส 1 ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์สำคัญที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาใช้ เพื่อบ่งชี้และติดตามบรรดาเทหวัตถุใกล้โลก (นีโอ) ทั้งหลาย โดยเทหวัตถุซึ่งตรวจพบที่ผ่านมาทั้งหมดล้วนมีจุดกำเนิดภายในระบบสุริยะทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น วงโคจรของวัตถุจากนอกระบบสุริยะดังกล่าวซึ่งถูกตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “เอ/2017/ยูไอ” ยังแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเทหวัตถุหรือดาวเคราะห์ทั้งมวลในระบบสุริยะอีกด้วย กล่าวคือ วงโคจรของ “เอ/2017/ยูไอ” ไม่ได้มีวิถีที่เป็นระนาบเดียวกันหรือใกล้เคียงกับระนาบของวงโคจรของทุกๆ อย่างในระบบสุริยะ ตรงกันข้าม กลับมีวงโคจรที่ทำมุมเกือบตั้งฉากกับระนาบวงโคจรในระบบสุริยะทั้งหมดอีกด้วย

การค้นพบของเวอริค ได้รับการยืนยันจากนักดาราศาสตร์ที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตามหอสังเกตการณ์ทั่วโลกที่ส่งข้อมูลความเคลื่อนไหวประหลาดของเทหวัตถุดังกล่าวเข้ามายังศูนย์ สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงนักสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์โดยรวม

Advertisement

นายดาวิเด ฟาร์น็อคเคีย นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ศึกษาวัตถุใกล้โลก (ซีเอ็นอีโอเอส) ของนาซา ระบุว่า วงโคจรของ “เอ/2017/ยูไอ” จัดเป็นวงโคจรที่สุดโต่งที่สุดเท่าที่ตนเคยพบมาตลอดชีวิตของการเป็นนักดาราศาสตร์ เพราะนอกจากจะมีเส้นทางโคจรประหลาดแล้วยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเป็นพิเศษอีกด้วย “จนเราสามารถบอกได้เลยว่า มันวูบผ่านระบบสุริยะไปแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย” นายฟาร์น็อคเคียระบุ

ตามข้อมูลที่มีการตรวจสอบได้ พบว่า “เอ/2017/ยูไอ” มีความยาวไม่ถึง 1 ใน 4 ของ 1 ไมล์ หรือราว 400 เมตร ขณะที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะนั้น ความเร็วในการโคจรสูงมากที่ 24.1 กิโลเมตรต่อวินาที

(ภาพ-NASA/JPL-Caltech)

นักดาราศาสตร์หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนแรกที่ตรวจสอบต่างเข้าใจว่าเป็นดาวหาง แต่แปลกใจมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อพบว่ามันไม่มีหางยืดยาวออกซึ่งเป็นคุณลักษณะจำเพาะของดาวหางทั้งหลาย จากการคำนวณพบว่ามันโคจรเข้าไปยังจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน โดยโคจรเข้าไปภายในช่องระหว่างดวงอาทิตย์กับวงโคจรของดาวพุธ

Advertisement

หลังจากนั้นอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ทำให้ “เอ/2017/ยูไอ” เปลี่ยนวิถีและระดับความเร็ว เหวี่ยงมันให้โคจรด้วยความเร็วสูงมากขึ้นกว่าเดิมพุ่งออกนอกระบบสุริยะไปยังกลุ่มดาวพีกาซัส โดยเฉียดผ่านเข้ามาใกล้โลกเรามากที่สุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ระยะห่าง 15 ล้านไมล์ หรือราวไม่ถึงครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคาร ด้วยความเร็วสูงถึง 43.45 กิโลเมตรต่อวินาที

ด้วยความเร็วสูงมากดังกล่าว ทำให้เป็นการยากที่นักดาราศาสตร์ทั้งหลายจะใช้กล้องโทรทรรศน์จากสถานีสังเกตการณ์ต่างๆ ตรวจสอบรายละเอียดของตัว “เอ/2017/ยูไอ” ได้ โดยคาดหวังกันว่า มีความเป็นไปได้ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอาจจับภาพการโคจรออกจากระบบสุริยะของมันไว้ได้

ฟาร์น็อคเคียระบุด้วยว่า ด้วยความเร็วดังกล่าวทำให้ตอนนี้ “เอ/2017/ยูไอ” ปรากฏเป็นภาพที่เลือนรางมากแล้วและยังจางลงเร็วมากอีกด้วย แม้แต่กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินขนาดใหญ่ทั้งหลายก็ทำได้เพียงแค่ติดตามตำแหน่งของมันต่อไปได้อีกราว 1-2 เดือนเท่านั้น ไม่มีทางที่จะตรวจสอบรายละเอียดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะทางกายภาพ ขนาด มวล หรือองค์ประกอบของมันได้เลย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ก่อนที่ภาพของ “เอ/2017/ยูไอ” จะจางหายไปจากกล้องโทรทรรศน์ แสดงลักษณะน่าทึ่งบางประการออกมา โดยนอกเหนือจากจะชี้ชัดว่ามันไม่ใช่ดาวหางแล้ว ยังแสดงให้เห็นสีที่ค่อนข้างแดงของมันซึ่งคล้ายคลึงกับสีของดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยที่เรียกว่า “คีเปอร์เบลต์” อีกด้วย

บอนนี มีนเก้ รองผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์ประจำกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ระบุว่า การพบและเฝ้าสังเกตไอเอสโอในระบบสุริยะของเรา คือการตรวจสอบพลวัตและการก่อตัวของระบบดาวอื่นๆ อยู่ในเวลาเดียวกันนั่นเอง ถ้าหากวัตถุลึกลับอย่าง “เอ/2017/ยูไอ” ถูกเตะโด่งออกมาจากระบบดาวอื่นมายังระบบสุริยะของเราได้ ก็จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์การก่อตัวและภาวะปัจจุบันของระบบดาวที่มันเคยอยู่ได้ ทำนองเดียวกับที่เราเคยเรียนรู้เกี่ยวกับดาวอังคารจากอุกกาบาตดาวอังคารที่ตกลงมาบนพื้นโลกนั่นเอง

นักดาราศาสตร์ตั้งความหวังว่า กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่เป็นกล้องยุคใหม่ทั้งหลาย รวมทั้งกล้องลาร์จ เซอร์เวย์ ไซนอปติค เทเลสโคป (แอลเอสเอสที) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในประเทศชิลี จะช่วยให้การเฝ้าสังเกตไอเอสโอในอนาคตทำได้ง่ายขึ้นและมีรายละเอียดมากขึ้น

รวมทั้งรายละเอียดของแหล่งที่มาของมันอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image