‘บิ๊กฉัตร’แจงยางพาราตกเป็นตามกลไกตลาดโลกเหตุซัพพลายล้น-กยท.ออกมาตรการหนุนสวนยางพรึบ!

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีสื่อนำเสนอประเด็นปัญหาราคายางพาราตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ว่า ราคายางเป็นไปตามกลไกการตลาด จะปรับตัวขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขาย หากย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2554 ราคายางพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเก็งกำไร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ยางฟีเวอร์ ทำให้ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศมีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2553-2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 11.9 ล้านไร่ ส่งผลให้สถานการณ์ผลผลิตยางพาราทั่วโลกออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3%

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า หากพิจารณาสถานการณ์ราคายางในประเทศระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ระดับราคาปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่ราคายางในประเทศที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศก็ปรับลดลงเช่นกัน เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของโลก และการซื้อขายทำกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั่วโลก

นายธีธัชกล่าวว่า ทาง กยท. มีความพยายามลดความผันผวนของราคายางภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เป็นกลไกแก้ปัญหาราคาให้เกิดเสถียรภาพ และเป็นกระบวนการให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมสำหรับการซื้อขายในตลาดภาคเอกชนทั่วทุกพื้นที่ ด้วยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพารา กยท. ทั้ง 6 แห่งหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน และบริษัทร่วมทุนฯจะนำยางพาราที่ประมูลได้ในแต่ละครั้ง นำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และตลาดต่างประเทศเป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image