เงาเมฆ & รังสีครีพัสคิวลาร์ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

เมื่อเมฆบดบังดวงอาทิตย์ ก็อาจเกิดเงาสาดออกมาจากขอบเมฆ เงาเมฆ นี่ฝรั่งเรียกตรงๆ ว่า cloud shadow อย่างภาพที่ 1 เป็นเงาเมฆอลังการที่ผมถ่ายได้จากหัวหินเมื่อหลายปีก่อน สังเกตสีของเงาเมฆที่สาดไปบนฟ้า ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ฟ้าถูกแบ่งสีได้อย่างชัดเจนทีเดียว

ภาพที่ 1 : เงาเมฆ
2 ธันวาคม 2555 06:30 น. นาวีภิรมย์ หัวหิน
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

หากเงาเมฆสาดออกไปสลับกับแสงอย่างภาพที่ 2 ก็จะเรียกว่า
รังสีครีพัสคิวลาร์ (crepuscular rays) จริงๆ แล้วคำว่า crepuscular หมายถึง ช่วงสนธยา (twilight) แต่ในทางทัศนศาสตร์บรรยากาศ คำว่า crepuscular rays ใช้ได้ในกรณีทั่วไปซึ่งเงาสลับกับแสง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงสนธยาเสมอไป

ภาพที่ 2 : รังสีครีพัสคิวลาร์ยามอรุณรุ่ง
6 กันยายน 2552 05:52 น. เชียงใหม่
ภาพ : ฐิติญา สุรีฉัตรไชยยันต์

รังสีครีพิสคิวลาร์ยังอาจสาดออกจากช่องเปิดในเมฆได้ด้วยเช่นกัน อย่างภาพที่ 3 ซึ่งผมถ่ายได้ที่ทำงาน ตอนเห็นแสงสลับเงาอันสวยงามนี้ ถึงกับวางของที่ถือมาด้วยลงไปที่พื้นถนนเลยทีเดียว เหตุเพราะกลัวพลาดช็อตเด็ดที่นำมาฝากครับ

ภาพที่ 3 : รังสีครีพัสคิวลาร์
27 มีนาคม 2558 17:25 น. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

รังสีครีพัสคิวลาร์ยังอาจสาดลงมาจากช่องเปิดในเมฆได้ด้วย ดูภาพที่ 4 ซึ่งถ่ายโดยคุณเจี๊ยบพรรณีมัย นิมิตธีรภาพ สิครับ ภาพนี้ได้รับยอด Likes ในชมรมคนรักมวลเมฆมากมาย คุณเจี๊ยบบอกว่า “รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับคำชมจากอาจารย์และเพื่อนๆ ชมรมฯ ที่ชมชอบค่ะ เป็นภาพที่ถ่ายจากมือถือ iPhone6+ วันที่ 12.11.2559 ช่วงเวลา 16.50 น.”
เธอทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่ได้เข้าเป็นสมาชิกชมรม มองดูชีวิตตนเองมีความสุขมากขึ้นค่ะ ได้เห็นภาพสวยๆ ของเพื่อนๆ ร่วมจินตนาการไปด้วยกัน อีกทั้งได้รับความรู้เรื่องเมฆ ท้องฟ้าจากอาจารย์
มากๆ”

Advertisement
ภาพที่ 4 : รังสีครีพัสคิวลาร์
12 พฤศจิกายน 2559 16:50 น. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพ : พรรณีมัย นิมิตธีรภาพ

ทีนี้หากรังสีครีพัสคิวลาร์สาดลงมาจากช่องเปิดในเมฆอย่างอลังการ คือ คลุมพื้นที่กว้างพอสมควร ฝรั่งจะเรียกว่า Jacob’s Ladder อันเป็นคำที่มาจากพระคัมภีร์ไบเบิล หมายถึง บันไดทอดขึ้นสู่สวรรค์ที่นักบุญยากอบเห็นในความฝัน เมฆที่อาจทำให้เกิดรูปแบบเช่นนี้คือ สเตรโตคิวมูลัส
เพอร์ลูซิดัส (Stratocumulus perlucidus) อันเป็นเมฆระดับต่ำ มีลักษณะเป็นก้อนแผ่กระจายติดๆ กันเป็นปื้น แต่เหลือช่องว่างเอาไว้บางตำแหน่ง ทำให้แสงอาทิตย์สาดลงมาได้ ดูภาพที่ 5 สิครับ

ภาพที่ 5 : Jacob’s Ladder
26 มีนาคม 2559 07:28 น. กรุงชิง นครศรีธรรมราช
ภาพ : ศิญาภัสร์ วลีย์โรจนกุล

เรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับเงาเมฆและรังสีครีพัสคิวลาร์ยังมีอีกชุดหนึ่ง ผมจะเล่าให้ฟังอีกครั้งในคราวหน้าครับ


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

Advertisement

ขอแนะนำ Rays & Shadows ที่ http://atoptics.co.uk/rayshad.htm

และคลิปเงาเมฆตาม QR Code ที่ให้ไว้


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image