อาศรม มิวสิก อีโก้เป็นโรคระบาดเรื้อรังนักดนตรี ของประเทศกำลังพัฒนา โดย:สุกรี เจริญสุข

 

ในการจัดตั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra, TPO) เมื่อปี พ.ศ.2548 เพื่อจะพัฒนาฝีมือการเล่นดนตรีของนักดนตรีชาวไทย พร้อมการยกระดับคุณภาพของวงดนตรีคลาสสิกไปสู่ความเป็นนานาชาติ ทำให้เรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคที่อยู่ในแง่มุมต่างๆ แต่อุดมการณ์ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาการดนตรีที่ชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ยังเดินไปข้างหน้าได้

ความเป็นมืออาชีพมีความหมายง่ายๆ ก็คือ นักดนตรีได้ทำหน้าที่ของตนเองสมบูรณ์แล้ว นักดนตรีสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ชีวิตมีหลักประกันความเป็นมืออาชีพ มีเกียรติเชื่อถือได้ มีความภูมิใจในอาชีพนักดนตรีที่อยู่ในสังคมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้มีคนเข้าสู่อาชีพนักดนตรี ก่อนนั้นไม่มีนักดนตรีอาชีพ มีแต่อาชีพรับราชการที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานประโคมดนตรี มีนักดนตรีสมัครเล่น ทั้งหน้าที่และสมัครเล่นไม่มีแรงจูงใจพอที่จะสร้างสรรค์งาน พนักงานทำหน้าที่ประโคมดนตรี ทำให้มีเสียง แต่เสียงไม่มีชีวิต ในขณะที่ความเป็นมืออาชีพของนักดนตรี ต้องมีความรักความผูกพัน มีความประณีตในงานที่ทำ ใส่จิตวิญญาณลงไปในงานดนตรีที่เล่น ทำให้ดนตรีมีชีวิต เกิดความไพเราะงดงาม

สิ่งที่วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ได้ดำเนินการมาตลอดอย่างต่อเนื่องก็คือ การคัดเลือกนักดนตรี แม้ช่วงแรกๆ จะหานักดนตรีมาเล่นให้ครบวงออเคสตราก็ยาก เมื่อได้ประกาศคัดเลือกนักดนตรี ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องตลก เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะมีนักดนตรีได้ครบวง ที่จะสร้างเป็นวงอาชีพได้

Advertisement

วันที่ 19 ตุลาคม 2560 วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ได้คัดเลือกนักดนตรีเป็นครั้งที่ 8 เพื่อตำแหน่งที่ว่าง 11 ที่นั่ง มีผู้สมัครทั้งหมด 55 คน เท่ากับการแข่งขันประมาณ 1:5 ซึ่งก็ยากพอสมควร บางตำแหน่งก็มีนักดนตรีที่บินมาจากต่างประเทศ อาทิ รัสเซีย โปรตุเกส ยูเครน อุซเบกิสถาน อเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น

สิ่งที่เรียนรู้จากการมีงานทำของนักดนตรี การพัฒนาฝีมือของนักดนตรี การมีงานประจำรับเงินที่แน่นอน ดนตรีเป็นอาชีพที่สร้างสรรค์อาศัยฝีมือที่ยอดเยี่ยม การตกงานของนักดนตรี ปัญหาของนักดนตรี ซึ่งพบว่า นักดนตรีมีโรคประจำตัว คือ โรคอีโก้ (Ego) กลายเป็นเชื้อโรคชนิดเรื้อรัง และบางครั้งเป็นโรคติดต่อของนักดนตรี ซึ่งโรคอีโก้นี้ก็ระบาดแพร่หลายในหมู่นักดนตรี แถมยังรักษายากด้วย

โรคอีโก้เป็นอาการของนักดนตรีที่อวดเก่งกว่าคนอื่น (รวมทั้งโอหังและจองหอง) รู้มากกว่าคนอื่น ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่ตัว สั่งคนอื่นด้วยนิ้วตามที่ตัวต้องการ ชอบสร้างปัญหา เป็นภาระ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

Advertisement

สำหรับเครื่องดนตรีที่หายากและมีปัญหาซ้ำๆ คือ นักโอโบ นักเป่าปี่โอโบของไทยมีน้อย คนแรกก็คือ ครูพุ่ม โอบายวาส ซึ่งเป็นนักเป่าปี่ไทยมาก่อน (เป่าปี่นอก ปี่ใน ปี่ไฉน ปี่ชวา) ครูพุ่มได้หันมาฝึกหัดเป่าปี่โอโบได้เก่งมาก เพราะว่าเป็นตำแหน่งสำคัญที่ฝ่ายดนตรีสากลมีความต้องการสูง ครูพุ่มจึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “โอบายวาส” ถือว่าเป็นนักเป่าปี่โอโบที่เก่ง

คนไทยนั้น หาคนเรียนโอโบยาก เพราะว่ามีงานน้อย ประกอบอาชีพได้ยาก และไม่คุ้มที่จะเรียน เมื่อไม่มีนักเรียน การจะมีครูสอนให้เก่งก็ยากอีกต่างหาก คนเล่นโอโบก็มักจะเล่นเครื่องอื่นๆ เอาไว้ทำมาหากินด้วย อาจจะเป่าโอโบในวงของหลวง แต่ก็จะหันไปเป่าคลาริเนต แซกโซโฟน เป็นเครื่องรอง เพื่อใช้ในการทำมาหากินรับงานต่างๆ ดังนั้น ความชำนาญในการเป่าโอโบจึงมีน้อยเป็นธรรมดา

ในยุคแรกๆ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (พ.ศ.2541) ได้ประกาศให้ทุนเล่าเรียนสำหรับเครื่องมือที่หายาก ทั้งไม่มีคนสอนและไม่มีคนเรียน ประกาศให้เป็นทุนเครื่องมือขาดแคลน มีโอโบ บาสซูน เฟรนช์ฮอร์น และทรอมโบน เพื่อจะสนับสนุนทุนให้มีนักเรียนในเครื่องมือที่หายาก ส่วนครูนั้นก็ต้องว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาสอน เพื่อที่จะสร้างคนรุ่นใหม่

แรกๆ ก็ได้เชิญครูผู้ใหญ่ (ฝรั่ง) ที่เกษียณแล้วมาสอน แล้วค่อยๆ หาคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบปริญญาเอกและยังไม่มีงานทำมาสอน ซึ่งครูนั้น พอมีประสบการณ์ก็ไปหางานที่อื่น

ในการคัดเลือกนักดนตรีครั้งนี้ มีนักโอโบมาสมัครถึง 9 คน ซึ่งวงทีพีโอต้องการนักโอโบ 3 คน ก็ถือเป็นความสำเร็จมาก เพราะมีคนมาสมัครเกินความต้องการถึง 3 เท่า

ทำไมโอโบจึงเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมาก เพราะโอโบเป็นเครื่องที่เป่าเทียบเสียงในวงออเคสตรา เป็นต้นเสียงเทียบให้ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าในวง (A=442) ปี่โอโบเป็นเครื่องดนตรีที่มีท่อเป็นรูปกรวย เสียงจะนุ่มและไพเราะ มีเสียงดังกังวานไกล ยุคแรกๆ ของดนตรีคลาสสิกใช้โอโบเป่าแทนเสียงแตรทรัมเป็ต และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ บทเพลงสำคัญๆ ของวงออเคสตราใช้เสียงโอโบเป็นเอก วงออเคสตราจึงขาดเสียงโอโบไม่ได้ แต่เมื่อมีคนนิยมเป่าโอโบน้อย มีงานเฉพาะในวงออเคสตราเท่านั้น เมื่อนักเป่าโอโบได้รู้ถึงบทบาทหน้าที่ รู้ความสำคัญแล้ว ก็ถือโอกาสเรียกร้องและมีเงื่อนไข กลายเป็นโรคติดเชื้อและรักษายาก

มีนักโอโบที่สมัครมาจากอเมริกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย สำหรับนักโอโบที่มาจากต่างประเทศ มีฝีมือสูง ค่อนข้างจะเล่นตัว ส่วนนักโอโบที่มาจากอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ก็มาเพื่อทดลองฝีมือ เมื่อได้งานก็ไม่รับข้อเสนอ อ้างว่ามีค่าตัวน้อย มีงานเดิมที่จ่ายได้มากกว่า

ความจริงนักโอโบในละแวกอาเซียนก็เพิ่งจะไปเรียนกันมาจากยุโรปอเมริกา มีประสบการณ์ยังไม่มากนัก แต่ก็สามารถเล่นตัวและเลือกงานในประเทศของตนได้

การคัดเลือกนักดนตรีสำหรับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย สามารถบอกศักยภาพของไทย บอกศักยภาพของอาเซียนได้ สำหรับไทยนั้น ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นักดนตรีที่มาจากประเทศที่เจริญแล้ว หรือนักดนตรีที่เข้าใจว่าตัวเองเก่งและเจริญแล้วนั้น ก็จะเล่นตัว ติดเชื้อโรคอีโก้ เพราะการมีโรคก็เป็นเครื่องมือในการหลอกตัวเองและไว้หลอกคนอื่นๆ ให้หลงเชื่อว่า ตัวนั้นเก่ง หรือเก่งเกินจริง เพราะความเก่งสามารถที่จะแปลงเป็นราคาได้ สามารถที่จะต่อรองได้ ในขณะที่สังคมไทยยังอ่อนแอเรื่องความรู้และอ่อนแอเรื่องความสามารถ ทำให้โรคอีโก้ขยายและเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อศึกษาโรคอีโก้อย่างจริงจังแล้ว ก็ตัดสินใจที่จะต่อสู้กับโรคอีโก้อย่างไม่ละความพยายาม เวลาที่ผ่านมา 12 ปี ของวงทีพีโอนั้น พบกับปัญหากับโรคอีโก้มาตลอด ในที่สุดก็ต้องหาวิธีรักษาโรคอีโก้ให้ได้ โดยการนำเสนอความรู้ดนตรี นำเสนอความจริงของดนตรี นำเสนอเป็นความสุดยอดของดนตรี และนำเสนอความไพเราะของดนตรี โดยให้ผู้ฟังเป็นผู้ตัดสิน

จากกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นแฟนของวงทีพีโอ กระทั่งวันนี้มีแฟนเป็นพันคนแล้ว ความจริงเท่านั้นที่จะแก้โรคอีโก้ได้สำเร็จ ในที่สุด สังคมไทยก็จะแก้ปัญหาโรคอีโก้ได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ประเทศไทยก็จะเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image