สุจิตต์ วงษ์เทศ: ลอยกระทง ประเพณีประดิษฐ์เพิ่งมีในวัฒนธรรมป๊อป

ลอยกระทงที่แพร่หลายทั่วประเทศ เป็นประเพณีเพิ่งสร้างในวัฒนธรรมป๊อปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ด้วยการผลักดันของเพลงรำวงลอยกระทง ผ่านวิทยุกระจายเสียง

สื่อมวลชนทุกแขนงจำนวนไม่น้อย ทำหน้าที่อย่างแข็งแรงในการสืบทอดและกระจายความวิปริตผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ไทยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ว่าลอยกระทงทุกปีเป็นประเพณีมีมาแต่ครั้งพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย

มีผู้ส่งข้อความจากหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งมาให้อ่านเพื่อขอความเห็นดังนี้

ลอยกระทงเฟคๆ

Advertisement

“การลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณ ที่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า ‘พิธีจองเปรียง’ หรือ ‘การลอยพระประทีป’ และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟ ว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน และได้มีการสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์”

(จบข้อความที่มีผู้คัดส่งให้อ่าน)

ไม่เคยมีลอยกระทงสมัยสุโขทัย

1. “ลอยกระทง” ชื่อนี้พบครั้งแรกในเอกสารสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยพบในจารึกสมัยกรุงสุโขทัย

นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นหนังสือนิทาน (ใช้ฉากกรุงสุโขทัย) แต่งสมัย ร.3 ดังนั้น ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงไม่เคยมีประเพณีลอยกระทง

ตระพัง คือ สระน้ำในเมืองสุโขทัย ไม่ได้เก็บน้ำไว้ลอยกระทง แต่กักเก็บน้ำใช้ในวัดกับในวัง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสุโขทัยตั้งบนที่ดอนเชิงเขา เป็นเมืองแล้งน้ำ

จองเปรียง ลอยประทีป เป็นของพราหมณ์

2. “พิธีจองเปรียง” หรือ “พิธีลอยพระประทีป” เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ มีในกลุ่มพราหมณ์และคนชั้นสูงราชสำนักอาณาจักรกัมพูชา กับราชสำนักรัฐละโว้ (ลพบุรี) แล้วตกทอดถึงราชสำนักอยุธยา แต่ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีในกรุงสุโขทัย

ที่สำคัญคือไม่เกี่ยวกับลอยกระทง และไม่ใช่ประเพณีของสามัญชนชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่รู้จักจองเปรียง ลอยประทีป

เผาเทียน เล่นไฟ ไม่ใช่ลอยกระทง

3. “เผาเทียน เล่นไฟ” มีในศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง โดยมีความหมายกว้างๆ เกี่ยวกับประเพณีทำบุญไหว้พระออกพรรษาทอดกฐิน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับลอยกระทง และในศิลาจารึกไม่มีคำว่าลอยกระทง

แต่ราชการสมัยนี้จัดงานทำการตลาดขายนักท่องเที่ยว เลยเติมคำว่าลอยกระทงไปข้างหน้าเผาเทียน เล่นไฟ เป็นชื่องานว่า “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งไม่เคยมีในยุคสุโขทัย

สื่อมวลชนไทยไม่ให้ความสำคัญข้อมูลก้าวหน้า

สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากต่อการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยของคนทั่วไป ถ้าบรรดาผู้ทำงานสื่อทั้งหลายกระตือรือร้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วนำเสนอข้อมูลก้าวหน้า

ข้อมูลถูกต้องเท่าที่พบทั้งในไทยและในเพื่อนบ้านโดยรอบ มีนักค้นคว้า นักปราชญ์ นักวิชาการ นำเสนอสม่ำเสมอมากกว่า 30 ปีมาแล้ว ทั้งในรูปบทความวิชาการ, หนังสือวิชาการ, สารคดี ฯลฯ ผ่านสื่อสารพัด ทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี

แต่สื่อมวลชนส่วนมากไม่อ่านข้อมูลก้าวหน้า (บางรายต่อต้านด้วยซ้ำไป) โดยพากันยินดีอยู่ในความครอบงำของข้อมูลความรู้เก่ายุคล่าอาณานิคม กับยุคล้าหลังคลั่งชาติ จึงยังภาคภูมิอย่างยิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับนั่งเทียนเลอะๆ เทอะๆ เช่น

(1.) คนไทยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า (2.) กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย (3.) กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งที่สอง หลังกรุงสุโขทัยล่มสลาย (4.) นางนพมาศ สนมพระร่วง ประดิษฐ์กระทงถวาย จึงมีลอยกระทง ฯลฯ

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยเหตุนี้ สื่อมวลชนส่วนมากจึงสนับสนุนการยึดอำนาจของทหาร แล้วต่อต้านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image