โทชิ คาซามะ ค้านโทษประหารด้วยภาพถ่าย ‘ผมฆ่าคนไม่ได้ และไม่สนับสนุนการฆ่าคนทุกรูปแบบ’

เขาเดินทางไปทั่วโลก หาทางเข้าไปในคุกแดนประหารของแต่ละประเทศ จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดิมๆ จากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง เป็นเวลา 10 กว่าปี

โทชิ คาซามะ ช่างภาพเชื้อสายญี่ปุ่น เกิดที่โตเกียวและไปเติบโตที่นิวยอร์ก อดีตผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย เครือข่ายญาติและครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน (Murder Victims’ Families for Human Rights)

ภาพของเขาถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ เรียบง่าย ไม่หวือหวา ภาพบุคคลที่ไม่ได้จัดวางท่าทาง ไม่มีความหวาดกลัว ไร้การปลุกเร้าอารมณ์

แล้วสิ่งที่เราเห็นคืออะไร?

Advertisement

เมื่อปีที่แล้วโทชิมาแสดงงานในประเทศไทยด้วยภาพชุดเยาวชนแดนประหาร เด็กในภาพเหล่านั้นไม่ได้ต่างไปจากเด็กวัยรุ่นทั่วไป สิ่งที่ทำให้เขาต่างคือสถานะนักโทษที่รอการประหาร เด็กเหล่านี้รู้ตัวว่าอนาคตที่รออยู่คือความตาย

โทชิเล่าว่าผู้พิพากษาในสหรัฐเคยอ่านแฟ้มคดีนักโทษประหารชีวิตมามากมาย แต่เมื่อรูปภาพของเขาเผยแพร่ไปถึงศาล นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตกับนักโทษเยาวชน

โทชิยืนยันว่าเขาไม่สามารถฆ่าใครได้ และไม่สามารถยินยอมมอบอำนาจให้คนอื่นใช้ฆ่าใครได้เช่นกัน

Advertisement

เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเดินทางทั่วโลก รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

เพราะการฆ่าคนไม่ได้นำมาสู่อะไรนอกจากความเจ็บปวด แม้แต่ครอบครัวเหยื่อที่สังคมมักคิดแทนว่าต้องการให้มีโทษประหาร

ความหวาดกลัวอาชญากรรมมีที่มาจากปัญหาในสังคมนั้นๆ

หากต้นเหตุมาจากระบบยุติธรรมที่บกพร่อง การแก้ปัญหาคงไม่ใช่การลงโทษฆ่าใครสักคนเพื่อสนองอารมณ์ของสังคม

ปัจจุบันงานรณรงค์เจาะจงภูมิภาคไหนเป็นพิเศษ?

ผมเริ่มทำเรื่องโทษประหารชีวิตในปี 1996 ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าตัวเองสนับสนุนหรือคัดค้านโทษประหาร พอเริ่มถ่ายภาพไปเรื่อยๆ จนได้ถ่ายภาพนักโทษประหารอายุ 16 ปี ผมสัมภาษณ์นักโทษประหาร ครอบครัวผู้ถูกประหาร ผู้ประหารชีวิต รวมถึงครอบครัวเหยื่อ ผมรู้สึกว่าระบบนี้น่ารังเกียจมาก ผมไม่สามารถปิดหูปิดตาแล้วอยู่เฉยๆ ได้ จึงรณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น

ตอนนี้งานการรณรงค์ของผมโฟกัสอยู่ที่ภูมิภาคเอเชีย เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลกยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตไปแล้ว แม้อเมริกาจะยังมีโทษประหารชีวิตอยู่แต่จำนวนรัฐที่ใช้โทษนี้ลดลง ส่วนยุโรปและอเมริกาใต้ได้ยกเลิกแล้ว ยังคงเหลือประเทศในเอเชียและรัฐอิสลามที่ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะกับเอเชียใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษคดีขนยาเสพติด

ในสหรัฐอเมริกาภาพและเรื่องเล่าของผมถูกเผยแพร่ไปจนถึงศาลฎีกา ต่อมาในปี 2005 ศาลฎีกาสหรัฐตัดสินยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษเยาวชน และก่อนนี้ผมทำงานรณรงค์อยู่ที่มองโกเลีย 2 ปี จากนั้นมองโกเลียก็ยกเลิกโทษประหารชีวิต จึงคิดว่าการทำงานผ่านรูปภาพและการพูดคุยทำให้คนได้เห็นความจริงแล้วช่วยทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตได้

การเริ่มเข้าไปถ่ายภาพในคุกยากไหม?

ยากมาก ตอนแรกผมเป็นช่างภาพคอมเมอร์เชียล ไม่ใช่นักข่าว ไม่รู้วิธีที่จะเข้าไปในเรือนจำ จึงโทรไปหาหัวหน้าเรือนจำแต่ถูกปฏิเสธและด่ากลับมา เขาย้ำว่าอย่าโทรมาอีก ผมจึงทำเรื่องขออนุญาตถ่ายภาพไปที่คณะกรรมการกำกับด้านราชทัณฑ์โดยมีทนายช่วย ใช้เวลา 8-10 เดือนจึงได้รับอนุญาต

สิ่งสำคัญคือการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คุม ตอนไปถ่ายภาพในเรือนจำครั้งแรก ผู้คุมขอภาพเก้าอี้ไฟฟ้า ตอนแรกผมว่าจะไม่ให้ แต่พอเจอนักโทษประหารแล้วผมก็เปลี่ยนใจ ผมกลับมานิวยอร์ก อัดภาพเก้าอี้ไฟฟ้า แล้วเดินทางกลับไปที่คุกนั้นอีกครั้ง เอาภาพไปส่งถึงมือผู้คุมเรือนจำ พอเจอหน้าเขากอดผมแล้วร้องไห้ บอกว่า “โทชิ คุณเป็นคนเดียวที่รักษาสัญญา ต่อไปนี้ประตูจะเปิดตลอดสำหรับคุณ ถ้าจะมาถ่ายรูปเมื่อไหร่ก็มาได้เลย”

พอเริ่มทำงานมาเรื่อยๆ แล้วการเข้าถึงง่ายขึ้นไหม?

ที่เรือนจำแห่งต่อๆ ไปผมก็ใช้วิธีพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คุมทำให้เข้าถึงคุกได้มากขึ้น ผลของมันเหมือนก้อนหิมะกลิ้งลงมาจากภูเขาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หลังไปคุกได้ 3-4 ครั้ง ผมเริ่มจัดนิทรรศการและบรรยาย จากนั้นบางที่แค่โทรไปขออนุญาตเขาก็จำได้แล้วว่าผมเป็นใคร และเปิดโอกาสให้เข้าไปถ่ายภาพในห้องควบคุมตัวนักโทษได้เลย

ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายให้สภาทนายความในไทเปฟัง ผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่คุณทำยอดเยี่ยมมาก ผมจะอนุญาตให้คุณเข้าไปถ่ายคุกนักโทษประหารในไทเป ตอนแรกผมงงว่าคนนี้เป็นใคร เพราะคุกนักโทษประหารที่ไทเปทำทุกอย่างเป็นการลับ ไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน ปรากฏว่าคนนั้นคือที่ปรึกษาประธานาธิบดีไต้หวัน ผมจึงสามารถเข้าไปในคุกที่เข้าถึงยากที่สุดแห่งหนึ่งได้

เวลาเจอผู้คุมหรือนักโทษประหาร ผมจะคิดว่าถ้าเราอยากได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นอย่างไรเราก็ปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้น สิ่งนี้ช่วยเปิดประตูคุกและสร้างโอกาสให้ผมได้มาถึงประเทศไทยด้วย

พยายามติดต่อเข้าไปถ่ายภาพในเรือนจำไทยไหม?

ผมเคยขออนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมและได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพแล้ว แต่ส่งหนังสือไปที่ผู้อำนวยการเรือนจำบางขวางแล้วเขาไม่ตอบ หลายครั้งที่มาไทยก็จะไปเยี่ยมนักโทษประหาร 2 คน แต่ยังไม่ได้ถ่ายภาพ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือระบบของประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่น มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องขออนุญาตใหม่ทุกครั้ง และเรือนจำสังกัดกระทรวงยุติธรรมแต่การอนุญาตขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการเรือนจำ เป็นระบบที่ไม่เหมือนที่อื่น

สิ่งสำคัญคือคนไทยต้องมีสิทธิทราบความจริงเกี่ยวกับการประหารชีวิต ไม่ว่าคุณจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เมื่อก่อนผมมีความคิดกลางๆ แต่พอเจอความจริงแล้วผมคิดว่าตัวผมไม่สามารถฆ่าคนได้ ผมพบว่าเจ้าหน้าที่ประหารชีวิตต้องเผชิญความทุกข์ทรมานในจิตใจอย่างมาก คนที่ผ่านการฆ่าคนเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด เวลาที่สาธารณชนบอกว่า “คนนี้สมควรตาย” บอกให้เอาคนขนยาไปประหาร แต่ต้องมีใครสักคนที่ทำหน้าที่นั้น ถ้าจะให้ผมเป็นคนเหนี่ยวไกยิงหัวนักโทษประหารชีวิต ผมก็ไม่กล้า แล้วเราก็ยกหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ทำแทน

การประหารใครสักคนเท่ากับว่าคนไทยทุกคนร่วมประหารชีวิตด้วย เพราะเราอยู่ในระบบที่ยอมให้มีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ เราปล่อยให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้น ในอารยธรรมของมนุษย์มีการฆ่ามาตลอด ฆ่าในสงคราม ฆ่าเพื่อศาสนา ฆ่าเพื่อความยุติธรรม ฆ่าเพื่อความเกลียดชัง ทั้งหมดนี้ไม่ได้นำมาสู่อะไรเลยนอกจากความเจ็บปวด

คนไทยจำนวนมากมองว่าโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องจำเป็น?

คนที่คิดว่าโทษประหารเป็นเรื่องจำเป็นนั้นเป็นแค่ความคิดในหัวของเขา สุดท้ายคนที่คิดแบบนี้ไปฆ่าคนเองได้หรือเปล่า ผมเองไม่กล้าฆ่าคนทั้งในนามของเหยื่อหรือความยุติธรรม ผมพบวิธีการประหารชีวิตมาทุกรูปแบบ ยิงเป้า เก้าอี้ไฟฟ้า ห้องรมก๊าซ ฉีดยาให้เสียชีวิต หรือแขวนคอก็ตาม หลังเกิดอาชญากรรมความรุนแรงขึ้นใหม่ๆ เรามักคิดว่าเหยื่อต้องการให้ประหารชีวิต คุณจะเห็นเหยื่อร้องไห้ โกรธ เรียกร้องให้ลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่สื่อมวลชนไม่ได้ตามต่อว่าหลังจากนั้นครอบครัวของเหยื่อเปลี่ยนแปลงได้ บางคนอาจใช้เวลาตั้งแต่ 3 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี หลังเสียคนที่คุณรัก ถ้าคุณยังรักษาความโกรธหรือความเกลียดชังเอาไว้ คุณจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

ผมเคยเจอครอบครัวเหยื่อหลายคนฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธความเกลียดชังได้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้อภัยคนผิด แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องมีความรักและเมตตากับตัวเองเพื่อใช้ชีวิตต่อไป

โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยเหยื่อ-ครอบครัว?

ไม่ได้ช่วยเลย คุณไม่สามารถเอาชีวิตที่สูญเสียกลับคืนมาได้จากการสังหารคนอื่น สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ครอบครัวเหยื่อดีขึ้นเลย อัยการอาจบอกว่า ยินดีด้วย ตอนนี้ปิดคดีได้แล้ว แต่สำหรับครอบครัวเหยื่อ ชีวิตที่สูญเสียไปแล้วไม่มีคำว่าปิดคดี โทษประหารไม่ทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาได้

ผมคิดว่าสิ่งที่ครอบครัวเหยื่อต้องการหลังสูญเสียคนที่รัก คือการช่วยเหลือด้านการเงินและการเยียวยาด้านจิตใจในระยะยาว นี่เป็นความช่วยเหลือที่แท้จริง ไม่ใช่โทษประหารชีวิตที่สื่อและคนในสังคมคิดว่าครอบครัวเหยื่อต้องการ

เคยเจอเคสไหนที่น่าสนใจ?

ทุกเคสสำคัญและน่าสนใจ แต่มี 2 เคสที่ลุยเซียน่าและไทเป ผมไปถ่ายภาพตอนเขายังเป็นนักโทษประหารอยู่ ต่อมาทั้ง 2 คนได้รับการกลับคำตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ คนที่ลุยเซียน่าพอออกมาแล้วเขาเรียนกฎหมายและเป็นทนาย ส่วนที่ไทเปตอนนี้ทำงานอยู่ที่องค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไต้หวัน

นักโทษประหารหลายคนบอกว่าตัวเองไม่ได้ทำความผิด คนธรรมดาทำพลาดได้ ระบบเองก็ตัดสินพลาดได้เหมือนกัน เมื่อก่อนผมคิดว่าหน้าที่ของตำรวจคือการหาคนผิดมาลงโทษ…แต่ไม่ใช่ สิ่งที่ตำรวจสนใจที่สุดคือต้องปิดคดีให้ได้ ที่ลุยเซียน่า ตอนหลังพบว่าอัยการตกลงกับพยานให้ซัดทอดและให้การเท็จปรักปรำคนที่เป็นนักโทษประหาร สุดท้ายอัยการคนนั้นถูกตัดสินจำคุก

ผมเคยคิดว่าอัยการต้องทำงานเพื่อความยุติธรรม แต่บางครั้งอัยการต้องการแค่ชนะคดีเท่านั้น ทำให้คนบริสุทธิ์จำนวนมากถูกตัดสินประหารชีวิต 2 คนนี้ถือว่าโชคดีเพราะได้ทนายดี เจ้าหน้าที่ประหารชีวิตบอกว่านักโทษหลายคนไม่ได้โชคดีแบบนี้ ก่อนเสียชีวิตหลายคนพูดตลอดว่า เขาไม่ได้เป็นคนทำ นี่คือการจับคนผิด

คนค้านโทษประหารในไทยมักถูกบอกว่า “โลกสวย-ช่วยเหลือฆาตกร”?

ไม่เลย ผมว่าคนที่โลกสวยคือคนทั่วไปที่ไม่รู้ความจริงของโทษประหารชีวิตและระบบยุติธรรมที่เชื่อในการลงโทษ ผมเคยพบทั้งนักโทษ ผู้คุม ครอบครัวเหยื่อ ทนายจำเลย และผู้พิพากษา ถ้าคุณเคยเห็นการประหารชีวิตเกิดขึ้นตรงหน้าจะเข้าใจว่า คำว่า “ประหารชีวิต” ไม่ใช่แค่ความคิดลอยๆ มันเกิดขึ้นจริง มีมนุษย์คนหนึ่งฆ่ามนุษย์อีกคน

ผมอาจจะเป็นคนที่โลกสวยก็ได้ แต่ผมยึดโยงกับความเป็นจริง ถ้าผมไม่สามารถฆ่าคนได้ ผมก็ไม่สนับสนุนการฆ่าคนทุกรูปแบบ

เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมตกเป็นเหยื่อความรุนแรง มีคนพยายามฆ่าผม ผมหมดสติไป 5 วัน หมอบอกภรรยาว่า ผมคงไม่ฟื้นขึ้นมาอีก ถ้าฟื้นก็คงต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ผมตื่นขึ้นมาพร้อมสมองด้านขวาเสียหายถาวร ตอนนี้หูด้านขวาก็ไม่ได้ยิน วันนั้นลูกๆ มาเยี่ยมผมที่ไอซียู เขาดูหวาดกลัว ผมไม่เคยเห็นสีหน้าแบบนั้นจากพวกเขามาก่อน ผมบอกลูกว่า พ่อไม่เป็นไร แล้วบอกว่า “ลูกเกลียดอาชญากรรมได้ แต่อย่าเกลียดอาชญากร” เป็นโอกาสดีมากที่ผมมีโอกาสได้พูดสิ่งนี้กับลูก

ทุกคนคิดว่าโทษประหารเป็นการแก้แค้นให้ครอบครัวเหยื่อและสังคม แต่เมื่อเกิดอาชญากรรม การแก้แค้นทำให้วงจรความรุนแรงเกิดต่อเนื่องไปอีก ถ้าเรายึดหลักตาต่อตา เขาทำให้เราตาบอดแล้วเราต้องไปควักตาเขาให้บอดด้วย ทุกคนก็จะตาบอดกันหมด การตัดวงจรความรุนแรงควรเริ่มจากครอบครัวของเหยื่อ ถ้าผมบอกให้ลูกแก้แค้น ครอบครัวจะตกอยู่ในวงจรความเกลียดชังไม่จบสิ้น ผมไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดกับครอบครัวอันเป็นที่รักของผม จึงบอกเขาว่า “จงเกลียดอาชญากรรม แต่อย่าเกลียดอาชญากร”

คนกลัวอาชญากรที่ออกจากคุกจะมาทำร้ายคนในสังคมอีก?

ทุกวันนี้ระบบราชทัณฑ์ในไทยไม่มีการแก้ไขเยียวยา คนติดคุกไปแล้วออกมายิ่งมีความสามารถในการก่ออาชญากรรมมากขึ้น เป็นระบบลงโทษ ใครทำผิดก็สั่งจำคุกจนถึงประหารชีวิต ภายใต้ระบบนี้คนติดคุกจะกลับมาเป็นคนที่ดีขึ้นหรือเปล่า ในระบบที่ไม่ได้รักษาความผิดปกติหรือปัญหาของนักโทษเลย ก่อนปล่อยตัวก็ไม่มีการประเมินว่าเหมาะจะกลับมาอยู่ในสังคมหรือยัง

ในนอร์เวย์ที่ใช้ระบบเยียวยา ถ้าเกิดอาชญากรรมขึ้น จะมีการศึกษาอาชญากรและสภาพอาชญากรรมอย่างรอบด้านเพื่อหาวิธีแก้ไขเยียวยา คุกที่นอร์เวย์ไม่มีรั้ว แต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในหุบเขา มีระบบสนับสนุนการประกอบอาชีพ มีการหารือว่าออกมาแล้วจะมีปัญหาไหม มีการติดตาม ถ้ามีแนวโน้มจะมีปัญหาหรืออยู่ข้างนอกไม่ได้ก็ต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำ

เคยมีการสังหารหมู่เด็กวัยรุ่นในออสโล ครอบครัวเหยื่อไม่เคยออกมาร้องขอโทษประหาร เพราะเชื่อว่าระบบความยุติธรรมแบบเยียวยาของเขานั้นเพียงพอ สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนอย่างรอบด้าน แต่ในเอเชียบางทีคนติดคุกไปแล้วออกมาเป็นคนที่อันตรายกว่าเดิม การจำคุกในสภาพเลวร้ายนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ทำให้วงจรความรุนแรงดำรงอยู่ต่อไป เราต้องเปลี่ยนระบบราชทัณฑ์ทั้งระบบ

ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารสำเร็จต่างจากประเทศที่ยังมีอยู่ยังไง?

เวลายกเลิกโทษประหาร ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นๆ ก็ยังสนับสนุนโทษประหารอยู่ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจเลิกโทษประหาร ทั้งที่คนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนอยู่ ต่อมาหลังฝรั่งเศสเข้าร่วมอียู พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนโทษประหารแล้ว เพราะการจะประกาศเลิกโทษประหาร จะต้องทำทุกอย่างเพื่อหาวิธีป้องกันและลดอาชญากรรมในประเทศ สุดท้ายทำให้เวลาเลิกใช้โทษประหาร อัตราการฆาตกรรมและอาชญากรรมจึงลดลง

ไทยเป็นประเทศนับถือศาสนาพุทธ ผมหวังว่าแนวคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเคารพและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตจะได้รับการถ่ายทอดไปในระบบยุติธรรมด้วย ถ้าไทยประกาศว่ายกเลิกโทษประหาร แน่นอนว่าจะยังมีผู้สนับสนุนโทษประหารอยู่ แต่พอเวลาผ่านไป คุณจะเป็นประเทศพุทธที่เคารพทุกชีวิตอย่างแท้จริง

ผมคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งมีค่าที่สุด การเลิกโทษประหารจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้คือการลดอัตราการฆาตกรรม เพราะเราไม่ฆ่าเพื่อปกป้องชีวิต นั่นเป็นการประกาศว่า เราเคารพและพร้อมปกป้องทุกชีวิต

ถ้ายกเลิกโทษประหารได้จริง ประเทศไทยและเอเชียจะเป็นที่ที่น่าอยู่มากขึ้น

 


สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยภาพถ่าย

โทชิบอกถึงความแตกต่างของการพูดด้วย “ภาพ”

เขาบอกว่าเรื่องโทษประหารมีคนพูดกันมามากแล้ว แต่เขาเลือกใช้ภาพเล่าเรื่อง เพราะภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้นับพัน

“การบรรยายทำให้คนเข้าใจระดับหนึ่ง แต่พอมีประสบการณ์ได้เห็นรูปภาพแล้วเขาจะเข้าใจมากขึ้น เช่นการรณรงค์เลิกโทษประหารในอเมริกา ผู้พิพากษาต้องอ่านคดีต่างๆ มามากแล้วก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร แต่พอเขาเห็นภาพเด็กตัวเล็กๆ อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นนักโทษประหาร ทำให้เขาเข้าใจอะไรใหม่ๆ สุดท้ายอเมริกาจึงตัดสินใจยกเลิกการประหารชีวิตเด็ก

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นช่างภาพคอมเมอร์เชียล ถ่ายภาพโฆษณา ถ่ายแฟชั่น ตอนนี้คิดว่าจะถ่ายภาพเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เป็นอีกมิติหนึ่งของการทำงาน”

ในวันนี้ที่โทชิอายุกว่า 60 ปีแล้ว แต่หลังจากแวะมาไทยครั้งนี้ เขาต้องไปสิงคโปร์ นิวยอร์ก มะนิลา และโตเกียว

ถามว่าจะทำแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่?

เขาหัวเราะตอบกลับมา

“ถ้าเลิกได้ก็อยากจะเลิกวันนี้เลย การเดินทางตลอดทำให้เหนื่อย ผมอายุมากแล้ว แต่จะทำเท่าที่ยังไหว ตราบใดที่ยังเดินทางและมาบรรยายได้ เพราะพอผมได้รู้ว่าโทษประหารชีวิตเป็นยังไงแล้ว ผมก็ไม่สามารถนิ่งเฉยกับมันได้เลย”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image