เลขาฯกพฐ.ตั้งทีมกฎหมายหาช่องทางช่วย ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ กลับสอนหนังสือ

เลขาฯบุญรักษ์(ซ้าย) ,ครูแอน(เสื้อน้ำเงิน), ครูวัลย์(ครูส้ม)

จากกรณีเฟซบุ๊กสื่อท้องถิ่นเมืองพระร่วง เผยแพร่กรณี น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือครูแอน ชาวตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งสอบติดครูผู้ช่วยอันดับที่ 66 ของบัญชีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) ต่อมา สพม. เขต 38 เรียกบรรจุและแต่งตั้งสาขาวิชาเอกสังคมศึกษา ลงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก ก่อนบัญชีจะหมดอายุ 2 ปีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 โดย น.ส.วนาลี ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 โดยตลอดเวลานับแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2560 รวม 5 เดือน ที่ น.ส.วนาลี ปฏิบัติการสอน ไม่เคยได้รับเงินเดือน และที่ยังไม่ได้รับเงินเดือน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจตัดขัดระบบราชการ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 สพม. เขต 38 ทำหนังสือถึงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม เรื่องการเรียกตัวผู้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นราชการครู จากบัญชี สพม.เขต 38 กรณีของ น.ส.วนาลีระบุว่า คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาก มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอกและขอเพิ่มเติมตำแหน่งว่างโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม และไม่อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา จากบัญชี สพม. เขต 38 โดยอ้างเกิน 2 ปี โดยให้ สพม.38 แจ้งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ทำให้ น.ส.วนาลีต้องพ้นจากครูผู้ช่วย และต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทอผ้านั้น (อ่านเพิ่มเติม เลขาฯกพฐ.รุดช่วย ‘ครูวนาลี ทุนมาก’ ที่ศรีสัชนาลัย หลังสอนฟรี 5 เดือน ชวดบรรจุครูผู้ช่วย)

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นายวรินทร์ ชำนาญผา รองผู้อำนวยการ สพม.เขต 38 รักษาการผู้อำนวยการสพม.เขต 38 กล่าวว่า เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กำลังให้ทำเรื่องรายงาน จึงขอยังไม่ให้สัมภาษณ์

ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวภายหลังพูดคุยกับน.ส.วนาลี ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ว่า ตนทราบเรื่องตั้งแต่เมื่อคืน จึงตั้งใจว่าหลังลงพื้นที่เยี่ยมชม “ตลาดนัดนี้เพื่อน้อง” และตรวจเยี่ยมโรงเรียน 2 แห่งในจังหวัดพิจิตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว จะเดินทางไปยังอำเภอศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นบ้านเกิดของ น.ส.วนาลี เพื่อพูดคุยหาทางเยียวยา เมื่อไปถึงจึงได้รู้ว่านอกจากน.ส.วนาลีแล้ว ยังมีกรณีของ น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ ชาวจังหวัดเลย ผู้สอบได้ในลำดับที่ 67 ต่อจากน.ส.วนาลี ที่ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมและเกิดปัญหาเดียวกัน ตอนที่ไปถึง มี น.ส.นิราวัลย์ อยู่ด้วย ตนจึงได้พูดคุยพร้อมกันทั้ง 2 คน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมแจ้งไปยัง สพม.เขต 38 ขอเรียกบรรจุสาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ แต่ไม่มีผู้สอบได้มารายงานตัว อีกทั้งบัญชีวิชาเอกคณิตศาสตร์ หมดบัญชีแล้ว ไม่มีผู้สอบได้เหลืออยู่อีก ขณะที่วิชาสังคมศึกษา ทางโรงเรียนยังขาดแคลนครูอีก 7 อัตรา ทางโรงเรียนจึงแจ้งสพม. เขต 38 ขอใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาที่ยังเหลืออยู่มาบรรจุแทน ประกอบกับช่วงนั้นโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมมีอัตราว่าง 1 อัตรา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าเกิดจากครูขอย้ายออกหรือลาออก แต่เมื่อมีอัตราว่าง ทางโรงเรียนจึงแจ้ง สพม. เขต 38 ขอใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาอีก 1 อัตรา รวมขอใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาไป 2 อัตรา ทาง สพม.เขต 38 จึงเรียกผู้สอบได้ลำดับที่ 66 และ 67 คือ น.ส.วนาลีและ น.ส.นิราวัลย์ ตามลำดับ ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ส่วนที่ถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะ สพม.เขต 38 ไม่ได้ทำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กศจ.ตาก พิจารณาก่อนการเรียกบรรจุหรือไม่นั้น กรณีนี้ตนไม่ทราบ คงต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง

Advertisement

นายบุญรักษ์กล่าวต่อว่า ตนได้มอบเงินกองทุนสวัสดิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ น.ส.วนาลี เพื่อเยียวยาเบื้องต้นสำหรับค่าครองชีพ 30,000 บาทและครูโรงเรียนในจังหวัดสุโขทัยยังได้รวบรวมเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางในการติดต่อประสานงานอีก 20,000 บาท รวมได้รับ 50,000 บาท ส่วนกรณีของ น.ส.นิราวัลย์ เนื่องจากตนเพิ่งทราบ แต่อย่างไรก็ตาม จะได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกับ น.ส.วนาลี โดย สพฐ.จะมอบเงินจากกองทุนสวัสดิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเยียวยาเบื้องต้นจำนวน 30,000 บาทให้แก่ น.ส.นิราวัลย์ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ตนจะหารือกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ในฐานะดูแล กศจ. เพื่อตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง โดยจะหารือร่วมกับนายการุณเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งยืนยันว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ไม่ใช่เพื่อหาว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการหาทางช่วยเหลือในช่วงรอยต่อที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการและครูทั้งสองมากที่สุด นอกจากนี้ สพฐ.จะตั้งทีมกฎหมายที่มาจากองค์กรต่างๆ ภายใน ศธ.เพื่อหาช่องทางว่าจะช่วยเหลือให้กลับเข้ารับราชการอย่างไรได้บ้างหรือไม่ เพราะถือว่ากรณีนี้ครูถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยที่ไม่ได้ทำผิดและครูไปรายงานตัวโดยเจตนาบริสุทธิ์คิดว่าตนเองมีสิทธิ อีกทั้งที่ผ่านมาก็เสียสละไปสอนโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมซึ่งเป็นโรงเรียนที่ห่างไกล ดูแลนักเรียนทั้งหมด 1,500 คนและมีนักเรียนกินนอนที่โรงเรียน 500 คน

“โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมขาดแคลนครูทุกสาขา เฉพาะสาขาวิชาสังคมศึกษาขาดแคลนถึง 7 คน เมื่อมีอัตราว่าง ประกอบกับสาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ไม่มีผู้สอบได้มารายงานตัว ทางโรงเรียนจึงขอครูวิชาเอกสังคมศึกษาไปทั้ง 2 อัตรา ทั้งนี้ เนื่องจากบัญชีวิชาเอกคณิตศาสตร์หมดแล้ว ไม่สามารถเรียกรายชื่อสำรองขึ้นมาได้อีก จึงใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาแทน ทั้งนี้ ด้วยความที่เป็นโรงเรียนห่างไกล ที่ผ่านมาเมื่อมีครูสอบได้ จึงมักสละสิทธิ ถ้าไม่สละสิทธิก็อยู่สอนจนครบ 4 ปีตามเกณฑ์สพฐ.แล้ว ก็จะทำเรื่องขอย้ายไปยังโรงเรียนอื่น ถ้าขอย้ายไม่ได้ บางรายก็ทำเรื่องขอลาออกเพื่อไปสอบบรรจุใหม่ ทั้งนี้ การที่ผมไปพูดคุยกับครูในวันนี้ก็เพื่อต้องการไปให้กำลังใจ ต้องการไปบอกว่าผู้ใหญ่รับรู้ปัญหาแล้ว ซึ่งครูวนาลีก็มีกำลังใจดีขึ้น ส่วนครูนิราวัลย์ บอกว่าก่อนหน้านี้น้อยใจ แต่ตอนนี้เมื่อมีผู้ใหญ่มารับรู้ ก็รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ให้ความหวังกับครูทั้งสอง แต่บอกไปว่าจะดูแลให้เต็มที่ ทั้งนี้ผมได้รายงานเรื่องนี้ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. รับทราบแล้ว รวมถึงกรณีที่เดินทางมาให้กำลังใจด้วย” นายบุญรักษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ครูทั้งคู่มีโอกาสกลับเข้ารับราชการหรือไม่ นายบุญรักษ์กล่าวว่า มีคนถามคำถามนี้เหมือนกัน แต่ตนก็ตอบไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับระเบียบกฎหมาย แต่ก็จะพยายามดูแลเต็มที่เพื่อประโยชน์ของทางราชการและครูทั้งสองเพราะถือว่าทั้งคู่ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่ได้รับการบรรจุโดยขั้นตอนทางกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์

Advertisement

ด้าน น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือครูแอน  กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณที่เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่มาให้ความดูแล และฝากความหวังให้ช่วยดูแล และอยากบรรจุเข้ารับราชการครูเหมือนเดิม

น.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือครูวัลย์ กล่าวว่า อยากให้ความยุติธรรมยังมีอยู่ เพราะตนเองเรียนครูมา อยากทำงานเป็นครู ตลอดเวลาก็สอนด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image