ครูแอนปฏิเสธ ‘ครูอัตราจ้าง’ ยันขอกลับเข้ารับราชการ หลังบิ๊กสพฐ.ช่วย ‘ครูแอน-ครูวัลย์ ‘ลง’ครูอัตราจ้างชั่วคราว’

ครูวัลย์(เสื้อส้ม) ครูแอน(เสื้อน้ำเงิน)

กรณีน.ส.วนาลี ทุนมาก หรือ ครูแอน ชาวตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และน.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือ ครูวัลย์ ชาวจังหวัดเลย ซึ่งสอบติดครูผู้ช่วยอันดับที่ 66 และ 67 ตามลำดับ ของบัญชีสำนักงานเขตพื้้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) ได้รับการเรียกบรรจุและแต่งตั้ง ลงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก โดยทั้งคู่ได้ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ก่อนที่บัญชีจะหมดอายุ 2 ปีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ตลอดเวลาที่ทำการสอนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน รวม 5 เดือน ทั้งคู่ไม่ได้รับเงินเดือนโดยเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่ติดขัดระเบียบราชการ กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 สพม. เขต 38 ทำหนังสือถึงโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม เรื่องการเรียกตัวผู้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นราชการครู จากบัญชี สพม.เขต 38 ระบุว่า คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ตาก มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอกและขอเพิ่มเติมตำแหน่งว่างโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม และไม่อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา จากบัญชี สพม. เขต 38 โดยอ้างเกิน 2 ปี โดยให้ สพม.38 แจ้งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ทำให้น.ส.วนาลี และน.ส.นิราวัลย์ ต้องพ้นจากครูผู้ช่วย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจน.ส.วนาลีและน.ส.นิราวัลย์ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อมอบเงินเยียวยาจากกองทุนสวัสดิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่คนทั้งคู่ คนละ 30,000 บาท เพื่อเป็นค่าครองชีพ พร้อมทั้งจะตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงและตั้งทีมกฎหมายเพื่อหาช่องทางในการช่วยเหลือให้กลับเข้ารับราชการ เพราะถือว่าคนทั้งคู่ถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยที่ไม่ได้ทำผิด แค่บรรจุแต่งตั้งโดยไม่สมบูรณ์ตามขั้นตอนกฎหมายเท่านั้น ส่วนกรณีที่ครูทั้งสองรายเจอปัญหาเดียวกันนั้น เนื่องจากโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม แจ้งสพม. เขต 38 ให้เรียกบรรจุวิชาเอกคณิตศาสตร์ แต่ผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้ไม่มารายงานตัวที่โรงเรียน และบัญชีวิชาคณิตศาสตร์ หมดผู้สอบขึ้นบัญชีแล้ว ทางโรงเรียนจึงแจ้งสพม. เขต 38 ขอใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาบรรจุแทน เนื่องจากที่โรงเรียนยังขาดครูวิชาสังคมศึกษาอีก 7 คน ประกอบกับช่วงดังกล่าว มีอัตราว่างอีก 1 อัตราทางโรงเรียนจึงแจ้งสพม. เขต 38 ขอใช้บัญชีวิชาเอกสังคมศึกษาเพิ่มอีก 1 อัตราด้วย (อ่านเพิ่มเติม เลขาฯกพฐ.ตั้งทีมกฎหมายหาช่องทางช่วย ‘ครูแอน-ครูวัลย์’ กลับสอนหนังสือ , เลขาฯกพฐ.รุดช่วย ‘ครูวนาลี ทุนมาก’ ที่ศรีสัชนาลัย หลังสอนฟรี 5 เดือน ชวดบรรจุครูผู้ช่วย)

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปแนวทางที่จะช่วยให้ครูทั้งสอง โดยได้ประสานหาโรงเรียนจ้างครูทั้งสองเป็นอัตราจ้างชั่วคราว ดังนี้ กรณีของน.ส.วนาลี ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อ.ศรีสัชนาลัย จะเป็นครูอัตราจ้างชั่วคราว ของโรงเรียนเมืองเชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าที่ครูวนาลี เคยเรียนสมัยมัธยมศึกษา โดยใช้เงินของสมาคมผู้ปกครองและครู มาจ่ายเป็นเงินเดือน ส่วนกรณีของน.ส.นิราวัลย์ ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิม อำเมืองเมือง จังหวัดเลย ได้รับการประสานจากนายสมเจษฎ์ ศรีสมจักร์ ผู้อำนวยการ สพม. เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) ว่าโรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย จะจ้างเป็นอัตราจ้างชั่วคราวด้วยเงินอุดหนุนสถานศึกษา ฉะนั้นถือว่ากรณีของคนทั้งคู่จบแล้ว สามารถเยียวยาให้กลับเข้ามาสอนได้แล้ว ที่เหลือ เพียงแค่รอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ทั้งนี้แนวทางการเยียวยาดังกล่าว ทั้งน.ส.วนาลีและนิราวัลย์ พอใจ

ด้านนางสมนึก ทุนมาก มารดาของ น.ส.วนาลี ทุนมาก หรือ ครูแอน กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกพอใจกับการเยียวยาเบื้องต้นด้วยเงิน จำนวน 50,000 บาท เพราะที่ขอความเป็นธรรม คือการได้รับบรรจุเป็นข้าราชการครูที่ถูกต้อง สมกับที่ลูกตั้งใจร่ำเรียนมา และมุ่งมั่นมาตลอดว่าจะเป็นครูที่ดี อีกทั้งครูแอนต้องเสียสิทธิในการขึ้นบัญชีของสพม.เขต 38 ไปแล้ว และบรรจุใกล้บ้าน ทั้งนี้หลังจากเลขาธิการ สพฐ.มาเยียวยา ก็มีการประสานมาว่าจะให้ไปรับตำแหน่งครูอัตราจ้างที่โรงเรียนเมืองเชลียง ซึ่งตนปฏิเสธไป เพราะที่โรงเรียนเมืองเชลียง ครูก็ไม่ได้ขาด อีกทั้งทางโรงเรียนต้องหาเงินเพิ่มมาจ้างลูกตนซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

ด้านน.ส.วนาลี หรือ ครูแอน กล่าวว่า ก่อนนี้เคยถามไปที่เขตพื้นที่หลายครั้ง จนที่สุดได้รับคำตอบว่าไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เนื่องจากส่งเลขตำแหน่งผิดพลาด และแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ร้องเรียนหลายที่ต่างก็โยนกันไปมา นอกจากเงินเดือนที่ยังไม่ได้รับ ตนและเพื่อนยังถูกตัดสิทธิในการดูแลบุพการี เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องในช่วงนั้นก็เกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนผู้อำนวยการ สพม. เขต38 ก็ย้ายไปเป็น สพม. เขต 20 อุดรธานีแล้ว

Advertisement

“ขณะนี้เครียดเพราะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้หาความยุติธรรม เรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดี และตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ถึงวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เมื่อคิดถึงภาพเด็กๆ ที่อุ้มผางวิทยาคมวิ่งตามรถตอนดิฉันออกมา พวกเขาถามว่าครูจะไปไหน ทำไมไม่กลับมา” ครูแอน กล่าวและว่า ตนและแม่จะขอต่อสู้เพื่อขอสิทธิที่เสียไปจากการขึ้นบัญชีการจัดอันดับของคณะกรรมการกระทรวงศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)สุโขทัยก่อน ส่วนเรื่องเงินเดือน 5 เดือนนั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้คิดถึงว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนนายภูธนภัส พุ่มไม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก กล่าวว่า เป็นโรงเรียนที่รับครูที่ปลายทาง ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของต้นทางดำเนินการ ครูแอนเป็นครูสอนวิชาสังคมศาสตร์ ที่ตั้งใจ มีอุดมการณ์สูง มีความสุขในการทำหน้าที่ คณะครูและผู้บริหารรู้สึกเสียดาย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ครูที่บรรจุที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมมักสละสิทธิ์ พอมีครูที่พร้อม ก็เกิดการผิดพลาด และถึงวันนี้โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมยังขาดครูอีกถึง 8 ตำแหน่ง หากมีการพิจารณาหาทางออกได้แล้ว หวังว่าครูแอนคงจะได้กลับมา

รายงานข่าวแจ้งว่า กองทุนสวัสดิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เยียวยาให้ทั้งคู่คนละ 30,000 บาท แต่เฉพาะกรณีของครูวนาลี ทางครูในจังหวัดสุโขทัยสมทบช่วยอีก 20,000 บาท รวมได้รับ 50,000 บาท

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image