หน่วยจัดคูปองพัฒนาครู ห่วงเก็บค่ารับรองหลักสูตร2พัน กระทบค่าลงทะเบียน’คูปอง’พุ่ง

นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หนึ่งในหน่วยงานผู้เสนอหลักสูตรอบรม ตามโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือคูปองพัฒนาครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมหน่วยพัฒนาผู้เสนอหลักสูตรตามโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือคูปองพัฒนาครู ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานผู้เสนอหลักสูตรอบรม เข้าร่วมกว่า 400 คนนั้น นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ชี้แจงว่าโครงการนี้มีเป้าหมายต้องการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยใช้ห้องเรียนเป็นฐาน และเชื่อมโยงกับการเข้าสู่วิทยฐานะของครู ขณะที่นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สพฐ. ได้นำเสนอสรุปผลการประเมินผลการอบรมครูตามโครงการในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนครูที่เข้ารับการอบรม 175,764 คน จำนวน 3,021 รุ่นใช้งบประมาณไป 1,684,024,702 บาท ผลการประเมินความพึงพอใจเฉลี่ย 4.22 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้เข้ารับการอบรม โดยตอบผ่านกูเกิลฟอร์ม (google form) จำนวน 1,625 คน พบว่าด้านความรู้และการนำไปใช้มีทั้งความประทับใจในวิทยากร เทคนิควิธี การถ่ายทอด สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับนักเรียนได้มาก ส่วนด้านปัญหา/อุปสรรค พบว่าปัญหาที่พบมากที่สุดคือระบบการลงทะเบียน สถานที่อบรมไม่เหมาะสม ไกล หาที่พักใกล้ที่อบรมไม่ได้ ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณ การเบิกจ่ายยุ่งยาก การติดต่อประสานงานไม่ดี

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ด้านหลักสูตร เนื้อหา สื่อ กิจกรรม ไม่สอดคล้องกัน ระยะเวลาในการอบรมกับหลักสูตรไม่สัมพันธ์กัน ราคาค่าลงทะเบียนไม่เหมาะสมกับหลักสูตร เป็นต้น ดังนั้น ในปีนี้จึงจะให้เขตพื้นที่เป็นผู้กำหนดสถานที่จัดอบรมและรับผิดชอบเรื่องอาหารกลางวันและของว่างสำหรับผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก ส่วนนายมนตรี แย้มกสิกร ตัวแทนสถาบันคุรุพัฒนา ชี้แจงว่า ในปีนี้สถาบันคุรุพัฒนาได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับเกณฑ์การเข้าสู่วิทยฐานะของครู หลักสูตรจะต้องครอบคลุมทั้งสามด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และความเป็นครู โดยครูจะต้องผ่านการอบรม 18-20 ชั่วโมง/ปี รวม 5 ปี 100 ชั่วโมง ทำการสอน 800-900 ชั่วโมง/ปี และเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) อย่างน้อย 50 ชั่วโมง/ปี จึงจะสามารถเลื่อนวิทยฐานะได้ในแต่ละระดับ ส่วนการเสนอหลักสูตรของหน่วยฝึกอบรมนั้นสามารถเสนอได้เป็น 3 ระดับ คือระดับพื้นฐาน รับผู้เข้าอบรมไม่เกิน 150 คน/รุ่น (วิทยากร 1:30) ระดับกลาง รับผู้เข้าอบรมได้ไม่เกิน 100 คน/รุ่น(วิทยากร 1:25) และระดับสูง รับผู้เข้ารับการอบรมไม่เกิน 80 คน/รุ่น นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์อื่นๆ อีก เช่น วิทยากรต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาโท และมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์/ชำนาญการพิเศษ และที่สำคัญผู้ขอลงทะเบียนขอรับรองหลักสูตรต้องจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท/หลักสูตร และเมื่อหลักสูตรได้รับการอนุมัติแล้วหากจะจัดอบรมต้องจ่ายอีกจำนวน 500 บาท/รุ่น ซึ่งหลักสูตรที่มีอยู่เดิมในปี 2560 กว่า 1,400 หลักสูตรต้องถูกยกเลิกและต้องเสนอขออนุมัติใหม่ทั้งหมด

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า จากที่ได้ฟังการชี้แจงทั้งของเลขาธิการ กพฐ. ผอ.สพค. และผู้แทนสถาบันคุรุพัฒนา ตนเห็นว่า ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ตรงกัน และจะกลายเป็นปัญหาใหม่โดยเฉพาะการให้เขตพื้นที่เป็นผู้กำหนดสถานที่อบรมและเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหารกลางวัน และจัดของว่างสำหรับการอบรมตามที่นางเกศทิพย์ยืนยัน ทั้งที่จากการฟังเลขาธิการ กพฐ. พูด เพียงแต่ให้ผู้จัดหลักสูตรแยกค่าที่พักและค่าเดินทางของผู้เข้ารับการอบรมออกจากค่าลงทะเบียน และให้หน่วยจัดกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณเป็นค่าลงทะเบียนให้สอดคล้องกับระเบียบราชการ ส่วนการให้เขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ ค่าอาหารกลางวันและของว่างตามที่นางเกศทิพย์ชี้แจง จะก่อให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการประสานงานกับผู้จัด และการเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นสองทาง และครูจะไม่สามารถคำนวณวงเงิน 10,000 บาทที่ตนเองได้รับว่าเหลือเท่าไร จะเพียงพอสำหรับอบรมหลักสูตรอื่นอีกได้หรือไม่ และมีปัญหาการเบิกจ่ายที่ต้องยิ่งล่าช้าขึ้นไปอีก ส่วนกรณีที่นายมนตรีเรียกเก็บค่ารับรองหลักสูตรละ 2,000 บาท และค่าจัดอบรมรุ่นละ 500 บาทนั้น ก็น่าคิดว่าสมควรหรือไม่ เพราะถ้าดูจากเจตนารมย์ของโครงการนี้เป้าหมายคือต้องการพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้มีหลายหน่วยงานที่อาสาเข้ามาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นองค์กร สมาคม หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่โรงเรียนด้วยกันออกมาสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนากันเอง ดังนั้นการไปกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆโดยใช้เงินเป็นตัวตั้งสมควรหรือไม่ ? เพราะอาจจะกระทบกับโรงเรียนหรือหน่วยงานเล็กๆ ซึ่งไม่มีรายได้มากมายแต่ต้องการเสนอหลักสูตร และสุดท้าย ผู้เสนอหลักสูตรก็คงนำไปบวกเป็นค่าใช้จ่ายในค่าลงทะเบียนของครูอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image