‘สู่ฟ้าเสวยสวรรค์’ บันทึกศิลปกรรมล้ำเลิศแห่งยุคสมัย

ศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้รับการถ่ายทอดออกมาในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ไล่เรียงไปตั้งแต่พิธีพราหมณ์ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ขบวนทหารรักษาพระองค์ ดนตรีบรรเลง จวบจน พระเมรุมาศ ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นศิลปกรรมล้ำเลิศแห่งยุคสมัย อันเกิดจากการรวบรวมนายช่างจากทุกแขนงเพื่อรังสรรค์งานสำคัญครั้งนี้

ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยจะได้สัมผัสกับศิลปะอันวิจิตร ทางรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมนิทรรศการการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ และงานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ พระเมรุมาศพิมานนฤมิต สรรพศาสตร์ศิลป์พร้อม น้อมถวายพระราชาผู้ทรงธรรม ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายนนี้

นอกจากผู้เข้าชมจะได้สัมผัสความงามสมพระเกียรติด้วยตาตัวเองแล้ว หากได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังงานช่างทั้งหมดก็นับเป็นความพิเศษอย่างยิ่ง

Advertisement
พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด

ขณะเดียวกัน ชื่อหนังสือ สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ โดยเครือมติชน ได้รับการเอ่ยถึงเป็นวงกว้างระหว่างงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยเป็นหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ที่รวบรวมทุกเรื่องราวของพระเมรุมาศองค์สำคัญ ทั้งเบื้องหลังงานสร้างและภูมิปัญญาช่างชั้นสูง คติความเชื่อที่สื่อความหมายลึกซึ้ง ด้วยข้อมูลเชิงลึกจากทีมงานที่ดีที่สุดด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงบทสัมภาษณ์พิเศษผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างพระเมรุมาศ และภาพประกอบสวยงามจากช่างภาพแถวหน้าของประเทศ

การันตีด้วยการเป็น “หนังสือขายดีที่สุด” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ที่ผ่านมา และมียอดขายเป็นอันดับ 1 ของบูธสำนักพิมพ์มติชน ตลอดจนได้รับการแนะนำจากสื่อหลายสำนักให้เป็น “หนังสือน่าสนใจ” ภายในงานมหกรรมหนังสือฯ

พร้อมทั้งตอกย้ำความสำเร็จมากขึ้น ด้วยการจัดพิมพ์ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” เป็นครั้งที่ 2 ในเวลาไล่เลี่ยกับการพิมพ์ครั้งแรก (ตุลาคม 2560) โดยเปิดให้ผู้สนใจจับจองเป็นเจ้าของได้แล้วที่ www.matichonbook.com

โดยเสียงจากผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กิตติวรรณ เทิงวิเศษ บอกว่า หนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น สังเกตจากยอดจองหนังสือช่วงงานมหกรรมหนังสือฯที่ผ่านมา ประกอบกับขณะนี้กำลังจัดพิมพ์เป็นรอบที่ 2 โดยผู้ซื้อนิยมนำไปเก็บสะสม และอีกส่วนหนึ่งซื้อไปเป็นของฝาก

เช่นเดียวกับ มณฑล ประภากรเกียรติ หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญในยุครัตนโกสินทร์ เมื่อพระเมรุมาศที่ก่อสร้างมาสุดท้ายต้องรื้อไป ข้อมูลเหล่านี้จะสูญหายหากไม่มีการบันทึกในรูปแบบสิ่งพิมพ์

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนเอกสารชั้นต้น

การถอดแบบพระเมรุมาศจากโรงถอดแบบ กรมศิลปากร โดยถอดแบบตามสัดส่วนจริง

ครั้งแรกแห่งยุครัตนโกสินทร์

ใน “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” อธิบาย พระเมรุมาศ ว่า เป็นนามของสิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระศพเจ้านาย โดยเป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิง

นับเป็นสิ่งก่อสร้างแสดงพระเกียรติยศในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

ประกอบกับ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ผู้เขียนหนังสือ “งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง” กล่าวระหว่างเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ตอนหนึ่งว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศเริ่มชัดเจนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีความคิดถ่ายทอดมาสู่งานศิลปะแขนงต่างๆ โดยพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนปลายมีการแบ่งเป็นพระเมรุมาศเอก โท และตรี ลักษณะทรงปราสาท

ขณะที่ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ระบุรายละเอียดของพระเมรุมาศและพระเมรุ โดยแบ่งตามฐานานุศักดิ์ซึ่งอ้างอิงจาก “คำให้การขุนหลวงหาวัด” บันทึกปากคำจากเชลยศึกหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ว่า พระเมรุมาศสำหรับพระมหากษัตริย์แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบต่างๆ อย่างวิจิตรอลังการ ประดุจดั่งเขาพระสุเมรุสมกับสถานะองค์สมมุติเทพตามคติศาสนาพราหมณ์

“พระเมรุเอกเสายาว 20 วา ขื่อยาว 7 วา ทรงตั้งแต่ฐานบัตถึงยอดตรี 40 วา มียอดปรางค์ใหญ่ 1 ฐานปรางค์มีชั้นแว่นฟ้ารับสองชั้น ถัดชั้นแว่นฟ้าลงมามีรูปพรหมพักตรประดับยอดฐาน…”

สำหรับพระเมรุโท ดร.เกรียงไกรอธิบายว่า องค์ประกอบส่วนพรหมพักตรนั้นไม่มีแล้ว ปรางค์ทิศมีเพียง 4 องค์ ส่วนพระเมรุตรีมีขนาดย่อมลงมา ต่างกันที่ผังบริเวณ เช่น สำซ่างรอบผังบริเวณเป็นยอดมณฑป

พระโกศจันทน์มีทรวดทรงองค์พระโกศเป็นทรงแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย

เมื่อเปลี่ยนมาสู่สมัยกรุงเทพฯ เป็นการเชื่อมต่อแบบกระท่อนกระแท่น ไม่ต่อเนื่องสมบูรณ์ เพราะสมัยรัชกาลที่ 1 มีสงครามจนถึงการชำระกฎหมาย แต่ยังพยายามรื้อฟื้นธรรมเนียมใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงปรับปรุงพระเมรุมาศให้เข้ากับคติความเชื่อแบบสมัยอยุธยา

“สมัยรัชกาลที่ 5 มีบริบททางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนเรือนนอกพระเมรุมาศ และเริ่มมองถึงความคุ้มค่าของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อเสร็จงานแล้วสามารถนำไปใช้ก่อสร้างอย่างอื่นได้ต่อ รวมถึงมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกในผังบริเวณด้วย”

ทรงให้ยกเลิกพระเมรุใหญ่ ซ้อนชั้นเรือนยอดน้อยลง รวมถึงใช้ไม้ขนาดเล็กเพื่อประหยัดทรัพยากร จนกลายเป็นแบบแผนที่สืบทอดมา

โดยพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีลักษณะทรงบุษบก มียอดปราสาท 9 ยอด ตรงกลางเป็นบุษบกประธานมี 7 ชั้นเชิงกลอน แวดล้อมด้วยบุษบกขนาดเล็กลงมาที่มุมทั้งสี่

นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างบุษบก 9 ยอดในสมัยรัตนโกสินทร์ เหมือนกับ “พระเมรุเอก” ในสมัยอยุธยาที่มีส่วนยอด 9 ยอด

อันมีนัยสื่อถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดจนสื่อถึงพระนารายณ์อวตารปางที่ 9 “พุทธาวตาร”

กังหันน้ำชัยพัฒนาตกแต่งภูมิทัศน์พระเมรุมาศ

‘เบื้องหลัง’ความมหัศจรรย์

ความพิเศษอย่างยิ่งของ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” คือการรวมสรรพกำลังหน่วยงานทุกฝ่ายในมติชน รวบรวมข้อมูลด้วยการลงพื้นที่ต่างๆ ที่รังสรรค์งานไปประดับพระเมรุมาศ สัมภาษณ์ผู้อยู่เบื้องหลัง เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์งานช่าง นำมาเรียงร้อยเป็นหนังสือเล่มนี้

ไม่ว่าจะเป็น นายประมุข บรรเจิดสกุล ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างพระเมรุมาศ, นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร, นายก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ, ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ, นายชิน ประสงค์ ผู้ปั้นประติมากรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉ, นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ หีบพระบรมศพจันทน์ ฯลฯ

นายสมชาย บุญประเสริฐ ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์, นางนิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ, นายกัมพล ตันสัจจา ผู้คัดสรรไม้งามประดับรอบพระเมรุมาศ และ นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้ออกแบบและผลิตกระถางเซรามิกประดับรอบบริเวณพระเมรุมาศ

ดังตัวอย่างบทสัมภาษณ์ใน “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” ตอนหนึ่ง นายประมุข บรรเจิดสกุล ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างพระเมรุมาศ เผยว่า ตอนที่ทราบว่าจะได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างพระเมรุมาศ ไม่รู้สึกกดดัน แต่รู้สึกว่าจะต้องทำถวายอย่างสุดความสามารถ ให้สมพระเกียรติที่สุด พระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรักช่างมากที่สุด เวลาช่างไปถวายงาน ท่านเป็นห่วงที่สุด รับสั่งว่า เทวดายังต้องใช้ช่างเลย ไม่มีช่าง เทวดาก็ไม่มีที่อยู่”

กัมพล ตันสัจจา ผู้คัดสรรไม้งามประดับรอบพระเมรุมาศ

หรือ นายก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ กล่าวว่า ภายหลังข่าวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้โทรศัพท์เรียกให้ไปพบ เพื่อคุยเรื่องพระเมรุว่าจะออกแบบอย่างไร วันรุ่งขึ้นในที่ประชุมมีท่านอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธาน ตนบอกว่า ท่านอาวุธสอนไว้เลยว่า “การออกแบบพระเมรุต้องออกแบบหลายแบบ”

หลังจากประชุมครั้งแรก ท่านอธิบดีให้กลับไปร่างแบบ จนที่สุดแล้วได้รูปแบบพระเมรุบุษบก 9 ยอดพิเศษออกมา ขณะเดียวกันก็มีอีกทีมหนึ่งที่ร่างแบบเพื่อนำเสนอในที่ประชุมด้วย

หลังการประชุมครั้งแรก แต่ละคนได้กลับมาแก้ไขใหม่ และคืนนั้นเองที่ท่านอธิบดีได้โทรศัพท์แจ้งว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้เข้าเฝ้าเรื่องพระเมรุตอนรุ่งเช้า (15 ตุลาคม 2559) ตนเองจึงนำแบบเข้าไปกราบบังคมทูล โดยท่านอธิบดีเป็นผู้นำแบบไปเสนอ

“ของผม 4 แบบ และของณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง อีก 1 แบบ ปรากฏว่าสุดท้ายเหลือ 2 แบบ ที่เป็นงานออกแบบของผม”

“นี่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เรามีโอกาสได้รับ เพราะแบบที่อยู่ในระหว่างการตัดสินพระราชหฤทัยเป็นแบบของเรา แต่ไม่ได้ดีใจเลยนะ ไม่เคยคิดถึง ไม่ได้อยากให้งานพระเมรุเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป”

แต่เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่ต้องถวายรายงานการออกแบบ

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนจาก “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” หนังสือเล่มประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ก่อเกียรติ ทองผุด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image