ทดลองใช้ “เอไอ” ทำนายแผ่นดินไหวสำเร็จ

(ภาพ-Angelo Giordano/Pixabay)

ความสามารถในการคาดการณ์การเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทั้งในแง่ของกำหนดเวลาที่จะเกิดและในแง่ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว เป็นความท้าทายไม่สิ้นสุดของบรรดานักวิชาการด้านแผ่นดินไหววิทยาทั้งหลาย ที่ผ่านมา แม้ว่า

จะรู้แน่ชัดว่าอาณาบริเวณใดเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง แต่ยังไม่สามารถทำนายได้แน่ชัดว่า เมื่อใดถึงจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงชนิดที่สามารถคร่าชีวิตและสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างได้

นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่เชื่อว่าแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดการณ์หรือทำนายได้ ทั้งๆ ที่หากคาดหมายได้แม่นยำมากพอและล่วงหน้ามากเพียงพอ คำทำนายดังกล่าวสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มหาศาล

กระนั้นก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกบางส่วนพยายามค้นคว้าทดลองเพื่อทำนายแผ่นดินไหวให้ได้ใกล้เคียงที่สุดอยู่ต่อไป

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งที่ทำงานอยู่กับห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลามอส และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา นำโดย พอล จอห์นสัน นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลามอส เชื่อว่าพวกตน “อาจจะ” ประสบความสำเร็จในการคาดการณ์แผ่นดินไหวได้แล้ว โดยอาศัยความสามารถของ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” อย่างน้อยก็ในห้องทดลอง โดยเผยแพร่ผลสำเร็จดังกล่าวไว้ในวารสารวิชาการจดหมายเหตุงานวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ เมื่อเร็วๆ นี้

ความพยายามในการคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวในอดีตเรื่อยมาจนถึงขณะนี้มีหลายรูปแบบตั้งแต่ การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ เรื่อยไปจนถึงการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงผิดปกติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่วิธีที่ดีที่สุด

เท่าที่มียังคงเป็นประมวลข้อมูลที่เป็นรูปแบบของแผ่นดินไหวในอดีต นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการคาดการณ์เหตุแผ่นดินไหวในอนาคต แต่ก็ยังคาดการณ์เป็นห้วงเวลายาวนานมาก ซึ่งไม่ค่อยมีประโยชน์นักในแง่ของการอพยพผู้คนหรือป้องกันการเสียชีวิต เช่นเมื่อปลายปี 2016 คณะทำงานว่าด้วยความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวแห่งแคลิฟอร์เนีย เคยยกระดับความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ระดับ 6.7 แม็กนิจูด หรือสูงกว่าขึ้น 1 ครั้งในย่านเบย์ แอเรียจาก 63 เปอร์เซ็นต์ เป็น 72 เปอร์เซ็นต์ แต่กำหนดห้วงเวลาไว้ยาวนานมากคือตั้งแต่ 2016 เรื่อยไปจนถึงปี 2043 เป็นต้น

Advertisement

วิธีการที่ทีมวิจัยของจอห์นสันใช้แตกต่างออกไป และมีโอกาสที่จะแม่นยำมากกว่าวิธีการที่ผ่านๆ มา โดยอาศัยการ “ฟัง” เสียงเสียดสีและบดอัดตามแนวรอยแยกของเปลือกโลกที่เรียกว่า ฟอลท์ไลน์ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกในช่วงเวลาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งหนึ่งเรื่อยไปจนถึงการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวป้อนให้กับคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่มีขีดความสามารถสูงในการประมวลผล การเรียนรู้และตัดสินชี้ขาดว่า “เสียง” เหล่านั้นเป็นเสียงของการเคลื่อนตัวในลักษณะใด เป็นการเสียดสี ชนกระแทก หรือบดอัด ซึ่งจะนำมาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อทำนายว่า การไหวครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อใด

พอล จอห์นสัน บอกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการตีความ “เสียง” เหล่านั้นมีมาหลายปีแล้ว แต่คอมพิวเตอร์เพิ่งมีความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลมหาศาลที่ได้จากการฟังเสียงระหว่างแผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งได้ ซึ่งส่งผลให้วิธีการของทีมวิจัยใหม่นี้มีความเป็นไปได้เช่นกัน การป้อนข้อมูลดิบเพื่อให้ระบบเอไอตรวจสอบหาสัญญาณการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอนาคต ช่วยบ่งชี้สัญญาณจำนวนมากที่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นมนุษย์ตรวจจับไม่ได้ หรือละเลยผ่านไป

ระบบใหม่ของจอห์นสันและทีม ได้ผลดีในการทดลองกับเครื่องกำเนิดแผ่นดินไหวในห้องทดลอง และพบว่ามันตรวจพบสัญญาณซึ่งทีมวิจัยเองปล่อยให้ผ่านเลยไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในห้องทดลองครั้งต่อไปได้ และสามารถทดลองซ้ำได้หลายต่อหลายครั้ง

ถึงตอนนี้ ทีมของจอห์นสันเริ่มทดลองใช้ระบบใหม่นี้กับพื้นที่จริง และผลเบื้องต้นที่ได้รับก็ชวนให้ตื่นเต้นทีเดียว แต่จะใช้กับโลกได้จริงๆ หรือไม่ จอห์นสันยอมรับว่ายังต้องรอดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image