สุจิตต์ วงษ์เทศ : ใส่ร้ายทางวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดี ร้อยปีที่แล้ว จนปัจจุบัน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พฤติกรรมใส่ร้ายทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้ว มีต่อนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ ว่า “กุ” (ความหมายทางลบ)

แต่พยานหลักฐานจากงานวิจัยพบเอกสารยืนยันว่าไม่จริงตามที่ถูกใส่ร้าย

ตราบจนทุกวันนี้ พฤติกรรมใส่ร้ายทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิธีการเปลี่ยนไป มีการกีดกันกลั่นแกล้งนักวิชาการบางคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามไม่ให้รับตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” โดยกำหนดมาตรฐานจากฟุตโน้ตว่ามีครบถ้วนหรือไม่? แต่ไม่ดูจากเนื้อหางานวิชาการนั้น

เหตุมาจากวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดีถูกจับจองและครอบครองไว้เป็นสมบัติของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอำนาจทางวัฒนธรรม

Advertisement

[หลังจากนั้นไม่นาน นักวิชาการที่ถูกกลั่นแกล้งได้รับการยอมรับจากวงวิชาการนานาชาติ แล้วมีงานวิชาการต่อเนื่อง แต่กลุ่มที่กีดกันไม่มีงานวิชาการเป็นที่ยอมรับ]

 

ก.ศ.ร. กุหลาบไม่ได้ “กุ” แต่คนใส่ร้ายนั่นแหละ “กุ”

Advertisement

นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม ของ บุญพิสิฐ ศรีหงส์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560)

ต้องยกเป็นหนังสือสุดยอดของ “การนำผู้อ่านเข้าไปสู่งานเขียนจำนวนมากที่ไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาก่อน ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ค้นพบด้วยความยากเย็นอุตสาหะยิ่ง” ตามที่ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ เขียนไว้ในคำนำเสนอหนังสือเล่มนี้

คนชั้นนำสยามกลุ่มหนึ่งกล่าวหาว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นนัก “กุ” หรือปลอมแปลงประวัติศาสตร์ ชอบอวดอ้างสร้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทั้งเป็นผู้ลักคัดลอกพงศาวดารและเรื่องเก่าแก่จากหนังสือของหอหลวงไปดัดแปลงแล้วพิมพ์จำหน่าย

บุญพิสิฐ ศรีหงส์ ทำวิจัยค้นคว้าพยานหลักฐานเป็นเอกสารที่ถูกซุกซ่อน แล้วพบว่านาย ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่ได้ทำอย่างที่ถูกใส่ร้าย

หลักฐานสำคัญอย่างยิ่งคือข้อความพระราชนิพนธ์ ร.6 (ในนาม “อัศวพาหุ”) ยกย่องนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็น “กุหลาบแห่งสยาม” โดยพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานศพ แล้วสดุดีคุณงามความดีและความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องของนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งกล่าวหาจากคนชั้นนำสยามกลุ่มหนึ่งนั้น

พิพากษาด้วยประวัติศาสตร์

“กุหลาบถูกตัดสินลงโทษด้วย ‘ประวัติศาสตร์’ ทั้งๆ ที่เขามิได้ประพันธ์งานทางประวัติศาสตร์แบบที่กลุ่มเจ้านายใช้เป็นบรรทัดมาตัดสินเขา”

ธงชัย วินิจจะกูล เขียนบทความเรื่อง “กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์” พิมพ์ในหนังสือ เจ้าพ่อประวัติศาสตร์ จอมขมังเวทย์ รวมบทความเป็นเกียรติในโอกาสครบ 60 ปี ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 119-163)

แล้วมีเชิงอรรถบอกเพิ่มอีกว่า คำว่า “ประวัติศาสตร์” เป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดช่วงปลายชีวิตของนายกุหลาบ และยังไม่เป็นศัพท์ที่ใช้กันปกติจนอีกหลายปีต่อมา

ธงชัย บอกอีกว่า นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ “ทำตามจารีตแบบเก่า ทว่าถูกตัดสินด้วยบรรทัดฐาน และการวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่” เพราะกุหลาบเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ จึงตกเป็นเครื่องเซ่นสังเวยสถาปนาการเขียนประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่

“กุหลาบ เป็นสามัญชนคนแรกๆ ในสังคมไทยที่เข้าร่วมเป็นผู้ผลิต และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ ผ่านสิ่งพิมพ์สู่สาธารณะ”

แถม ก.ศ.ร. กุหลาบมีภูมิและความสามารถพอจะเทียบเคียงกับพวกชนชั้นนำในระบบราชการได้เสียด้วย

แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นสมบัติที่อยู่ในมือของคนชั้นนำในระบบราชการมาตลอด ความผิดของกุหลาบเพราะเกิดเป็นไพร่ แต่กลับอวดรู้ในสิ่งที่เขาไม่สมควรจะรู้ และอวดรู้ในเรื่องไม่ใช่สมบัติของคนชั้นไพร่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image