รองอธิการมธ.นำผู้ประกอบการหอพัก ร้อง กม.หอพัก กำหนดอายุคนเข้า ชี้ จำกัดสิทธิ

“ปริญญา” นำผู้ประกอบกิจการหอพัก ยื่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรธน.วินิจฉัย กฎหมายหอพัก ปมห้ามคนอายุเกิน 25 การศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เข้าพัก ชี้ จำกัดสิทธิ ขัดรธน. หวั่นไม่แก้ไข เกิดหอพักเถื่อนทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางคนึงจันทร์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบกิจการหอพัก และคณะพร้อมด้วยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษา เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กรณี พรบ.หอพัก พ.ศ.2558 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดว่า ” หอพักเอกชนให้รับผู้พักได้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี และมีอายุไม่เกิน 25 ปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 40 มาตรา 26 และมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายปริญญา กล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งเจ้าของหอพักและประชาชนที่ใช้บริการ โดยหากหอพักใดรับผู้พักที่ศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี และอายุเกิน 25 ปี ก็จะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทำให้ทำให้เจ้าของกิจการหอพักสูญเสียรายได้ ถือเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่ได้รับรองสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ว่าการจะจัดระเบียบต้องทำเท่าที่จำเป็น แต่กรณีนี้ทำเกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 เพราะเป็นการจำกัดสิทธิที่เกินสมควรแก่เหตุ และเป็นการร่างกฎหมายโดยไม่ฟังความเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“ผู้ประกอบกิจการหอพักลงทุนสูงและประกอบอาชีพสุจริตทำตามกฎหมาย แต่รัฐกลับออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิ ทำให้หอพักเอกชนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกว่าหมื่นแห่งเหลือเพียงไม่กี่ร้อยแห่ง และเกิดหอพักเถื่อนมากขึ้น และถ้ายังปล่อยเป็นเช่นนี้หอพักถูกกฎหมายจะหมดไปและจะเกิดหอพักเถื่อนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเห็นว่าอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะปัจจุบันได้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกิจการเรื่องของหอพักก็จะถูกตีความว่าเป็นเอกชนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้หรือไม่ ” นายปริญญากล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ทางผู้ประกอบการต้องการไปร้องต่อนายกฯขอให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา แต่ตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพบุคคลไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ควรออกมาเพียงแค่ถ้อยคำสวยหรูแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อจะได้พิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญใช้ได้จริงหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image