แถบเงาเมฆ & รังสีแอนติครีพัสคิวลาร์ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

คราวก่อนผมได้เล่าเรื่องเงาเมฆและรังสีครีพัสคิวลาร์ไปแล้ว คราวนี้มาดูเรื่องเดียวกันในมุมมองใหม่บ้าง ภาพที่ 1 แสดงเงาเมฆที่ไม่ยาวมากนักเมื่อมองจากเครื่องบิน จะเห็นว่าตรงไหนยอดเมฆสูงกว่า เงาก็จะยาว ตรงไหนยอดเมฆต่ำกว่า เงาก็จะสั้น ตรงไหนเป็นช่องว่างระหว่างเมฆ แสงก็ลอดผ่านไป ไม่เกิดเงา

ภาพที่ 1 : เงาเมฆมองจากเครื่องบิน
ภาพ : ไพศาล ช่วงฉ่ำ

ทีนี้หากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากๆ ไม่ว่าเช้าหรือเย็น และมีเมฆก้อนตะปุ่มตะป่ำขนาดพอเหมาะบดบังดวงอาทิตย์ ก็อาจเกิดเงาเมฆยาวมากได้ ดู ภาพที่ 2 สังเกตเวลาในภาพ คือ 18.24 น. ซึ่งดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากแล้ว

ภาพที่ 2 : เงาเมฆยาวเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า
วันที่ 21 มีนาคม 2554 เวลา 18.24น.
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

หากดวงอาทิตย์อยู่ที่ขอบฟ้าพอดี เงาเมฆก็จะพาดยาวข้ามฟ้าจากฝั่งดวงอาทิตย์ไปยังฝั่งตรงกันข้าม หากคุณผู้อ่านมองจากพื้นดิน ก็จะเห็นเงาเมฆที่พาดยาวอลังการอยู่บนฟ้า ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า แถบเงาเมฆ (cloud shadow band) ทั้งนี้ อาจมีเงาเกิดขึ้นหลายแถบพร้อมกันก็ได้ ดู ภาพที่ 3 เป็นตัวอย่าง ส่วนภาพที่ 4 เป็นแผนภาพอธิบายการเกิดแถบเงาเมฆ ผมเองเคยเห็นแถบเงาเมฆครั้งหนึ่ง ตอนเดินเล่นอยู่ในตลาดนกฮูก ข้างๆ เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ เห็นแล้วอิ่มเอมใจดีจัง

ภาพที่ 3 : แถบเงาเมฆ
19 เมษายน 2558 18.34น. ตลาดพระปิ่น 3
ภาพ : มนัสนันท์ สุวรรณวิลัย

 

Advertisement
ภาพที่ 4 : แผนภาพแสดงการเกิดแถบเงาเมฆ
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

การเก็บแถบเงาเมฆให้สนุกทำได้อย่างน้อย 2 แบบ คือ

     ⦁ ถ่ายภาพพาโนรามา : หาตำแหน่งเหมาะๆ ที่มองเห็นแถบเงาเมฆได้ตลอดทั้งแถบโดยไม่มีอะไรบดบัง และสามารถกวาดกล้องได้มุมกว้างโดยไม่มีอะไรกีดขวาง จากนั้นกวาดกล้องไปบนฟ้าจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง แนะนำว่าควรถ่ายไว้หลายๆ ภาพโดยปรับเปลี่ยนมุมเล็กน้อย เพื่อให้ได้ภาพที่เห็นแนวเส้นโค้งของแถบเงาได้อย่างชัดเจน

Advertisement

     ⦁ ถ่ายคลิปวิดีโอ : เลือกตำแหน่งเก็บคลิปและการกวาดกล้องไปบนฟ้าในลักษณะเดียวกับการถ่ายภาพพาโนรามา การถ่ายเป็นคลิปนี่อาจพูดเติมข้อมูล เช่น วันเดือนปี สถานที่ และบรรยายบรรยากาศขณะนั้นลงไปด้วยก็สนุกดี (ชมคลิปตัวอย่างที่คุณกมล แย้มอุทัย ช่างภาพฝีมือดีของ นสพ.ข่าวสด ในขุมทรัพย์ทางปัญญาได้เลยครับ)
ขณะที่เกิดแถบเงาเมฆหลายๆ เงา เราจะเห็นแถบแสงสลับเงาสาดขึ้นมาจากเมฆที่ขอบฟ้าทางฝั่งเดียวกับดวงอาทิตย์ เรียกว่า รังสีครีพัสคิวลาร์ (crepuscular rays) แต่สงสัยไหมครับว่าแล้วทางฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ล่ะจะเห็นยังไง?

คำตอบคือ เราจะเห็นเป็นแถบแสงสลับเงาพุ่งขึ้นมาจากขอบฟ้าเช่นกันครับ แต่ทั้งแสงและเงาจะจางกว่าฝั่งดวงอาทิตย์ แถบแสงสลับเงาทางฝั่งตรงกันข้ามดวงอาทิตย์นี้ เรียกว่า รังสีแอนติครีพัสคิวลาร์ (anticrepuscular rays) ดู ภาพที่ 5

น่าสนใจด้วยว่า เจ้ารังสีแอนติครีพัสคิวลาร์นี่ทำเอาหลายคนงงมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเย็น ซึ่งดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศตะวันตก แต่ปรากฏว่ามีแสงสลับเงาเกิดขึ้นทางทิศตะวันออกทั้งๆ ที่ไม่มีดวงอาทิตย์อยู่ตรงนั้น!

ภาพที่ 5 : รังสีแอนติครีพัสคิวลาร์
18 สิงหาคม 2560 18.38 น. บึงทุ่งสร้าง จ.ขอนแก่น
ภาพ : ไพศาล ช่วงฉ่ำ

หมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ ครับ เพราะบนนั้นมีอะไรสนุกๆ รอให้คุณค้นพบด้วยตัวเองเยอะแยะเลย!


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชมคลิป “แถบเงาเมฆ”
โดยการสแกน QR Code ที่ให้ไว้


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image