สมุทรสงครามร้อนใจ ปลาหมอสีคางดำระบาดหนัก ดุร้าย ปากใหญ่ ก้างเยอะ ไม่อร่อย แถมกินลูกปลาอื่นเรียบ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 9 พ.ย.2560 นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมคณะลงพื้นที่ ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาปลาหมอสีระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สารและแพรกหนามแดง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องคอยชี้แจงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น เมื่อเวลา 14.00 น. นางเตือนใจนำคณะเข้าพบนายคันฉัตร ตันเสถียร ผวจ.สมุทรสงคราม เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจังหวัดตั้งธงชัดเจนว่าต้องกำจัดให้หมดไป และฝากเจ้าหน้าที่กรมประมง กำหนดแผนยุทธการณ์ ในการวางแผนขั้นตอน และวิธีการกำจัดให้ชัดเจน ครอบคลุม เนื่องจากอาจจะต้องใช้เครื่องมือต่างๆที่ผิดกฎหมาย มาช่วยด้วย เป็นต้น เพื่อให้กำจัดให้เร็วที่สุด

นายปัญญา โตกทอง เกษตรในตำบลแพรกหนามแดง กล่าวว่า ปลาหมอสีเท่าที่ตนทราบมีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง ก้างเยอะ และแข็ง กินไม่อร่อย จึงไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน ที่สำคัญปลาหมอสียังเป็นปลากินเนื้อจึงกินลูกปลาชนิดอื่นจนหมด ตนเกรงว่าหากปล่อยไว้จะระบาดไปทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีลำคลองมากกว่า 300 คลอง นอกจากนี้ยังมีลำประโดงซึ่งเป็นร่องน้ำธรรมชาติอีกนับพันลำประโดง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบลงมาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วด้วย ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็สั่งให้แก้ไขแต่เรื่องก็เงียบมานาน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในครั้งนี้ ซึ่งเกษตรกรไม่ได้โทษว่าใครถูกใครผิด แต่เมื่อเหตุการณ์ระบาดของปลาหมอสีนี้เกิดขึ้นแล้ว ทั้ง 3 ฝ่ายก็ต้องร่วมมือทั้งทั้งผู้นำเข้า, ภาครัฐและเกษตร เพื่อช่วยกันกำจัดโดยเร็วที่สุด

Advertisement

นางเตือนใจ กล่าวว่า ชาวบ้านร้องเรียนถึงความเดือดร้อน ตนจึงนำคณะลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ทราบข้อมูลจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งว่านำเข้าปลาหมอสีจากประเทศกาน่าเมื่อปี 2553 แต่ทั้งหมดกระทบกระเทือนจากการขนส่งทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ บริษัทจึงกำจัดด้วยการโรยปูนขาวและฝังกลบ ซึ่งเป็นความบกพร่องทั้งบริษัท และกรมประมงที่ไม่ได้บันทึกตรวจรับและทำลายซากปลาหมอสีคางดำอย่างเป็นระบบ ต่อมาในปี 2555 ก็พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีเข้ามาในบ่อเลี้ยง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามได้รับผลกระทบมาก จากนี้ไปจะขอข้อมูลจากกรมประมง และขอซากปลาหมอสีคางดำที่กรมประมงดองไว้ เพื่อมาตรวจดีเอ็นเอว่าตรงกับปลาหมอสีที่แพร่ระบาดในแหล่งน้ำว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อเสนอเร่งด่วนต้อคณะรัฐมนตรี กรมประมง สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ร่วมมือกับบริษัทเอกชน และเกษตรกร รวมมือกันแก้ไขให้เป็นไปตามหลักการสหประชาชาติ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แสดงปาฐกถา ในงานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image