วิศวะ ม.ขอนแก่น จับมือ บ.ชไนเดอร์ฯ ผุดห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์มูลค่ากว่า 1 ล้านบ.

 

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือกับบริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย จำกัด เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม การทำวิจัยในด้านวิศวกรรมเครื่องกล การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และด้านวิศวกรรมไฟฟ้า รวมถึง ระบบไฟ สนับสนุนด้านการเป็นสถานที่ฝึกงาน และสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ว่า การพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้มีพื้นฐานวิชาการที่เข้มแข็ง และเพิ่มทักษะทางวิชาชีพที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และในความร่วมมือครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านการควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมเบิลลอจิกคอลโทรลเลอร์ (Programmable logic Control : PLC) ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์ด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ ถือเป็นห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุม การติดตั้ง กลไกต่างๆ ในการใช้หุ่นยนต์ในการทำงานแทนคนในแวดวงอุตสาหกรรมโรงงาน เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาทำงานมากยิ่งขึ้น

“ถือเป็นความได้เปรียบของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะได้สัมผัส และเรียนรู้เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น และเมื่อนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไป จะนำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงในอนาคต โดยห้องปฏิบัติการฯ นี้ บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าสนับสนุน และมอบอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน ที่ได้ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คิดเป็นมูลค่าห้องปฏิบัติการประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ขอบคุณบริษัทชไนเดอร์ฯ ในการสนับสนุนห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย” นายกิตติชัย กล่าว

Advertisement

 

Mr. Marc Pelletier Country President Thailand and Laos Schneider (Thailand) กล่าวว่า ที่บริษัทชไนเดอร์ฯ ร่วมลงนามครั้งนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งทางบริษัทมีนโยบายด้านการพัฒนาแบบยั่งยืนเน้นการพัฒนาบุคลากร และสังคมผ่านการศึกษา จึงจะขยายความร่วมมือในหน่วยงานการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของบริษัท และ มข.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคอีสาน จึงต้องการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีของนักศึกษา ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ บริษัทได้ร่วมสร้างห้องปฏิบัติการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยให้มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของบริษัท ซึ่งเทคโนโลยี และอุปกรณ์ต่างๆ จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้แนวทางในการผลิตของอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image