สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

สุจิตต์ วงษ์เทศ-แฟ้มภาพ

ขุมทรัพย์การท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่ถูกทิ้งอย่างไม่ไยดีจนเน่า อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

ถ้าลงทุนทำความสะอาด สว่าง สงบ สะดวก คนทั่วไปเข้าถึงลำน้ำทุกสายไม่ว่าใหญ่หรือน้อย แล้วไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนพินาศ พื้นที่ตรงนี้คือประวัติศาสตร์เก่าสุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวมีคุณภาพและยั่งยืนยาวนานมากๆ จนเป็นนิรันดรก็ได้

 

ทอดน่องท่องเที่ยวณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานฯ เครือมติชน ชวนไปทอดน่องท่องเที่ยววัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ ที่เขาเคยพาไปเที่ยวเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมนุ่งกางเกงขาสั้น

Advertisement

ผมเป็นเด็กวัดบ้านนอกอยู่ป่าดงศรีมหาโพธิ์ (อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี) ติดสอยห้อยตามเกาะชายจีวรพระสงฆ์เข้าเรียนชั้นมัธยม 1 ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นเด็กวัดอยู่วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) แต่ไม่รู้จักวัดโพธิ์ ท่าเตียน เพราะไม่ฉลาด

เรียนมัธยม 1-6 ที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (ใกล้สะพานมัฆวาน คลองผดุงกรุงเกษม) แล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยม 7 แผนกวิทยาศาสตร์ วัดนวลนรดิศ (คลองบางกอกใหญ่) ห้องเรียนเดียวกับขรรค์ชัย บุนปาน ผมหนีเรียนตามเขาไปวัดโพธิ์ ท่าเตียน ถึงรู้จักวัดนี้ครั้งแรก พ.ศ. 2504 แล้วสอบตก

นับแต่นั้น ขรรค์ชัย บุนปาน ชวนไปวัดโพธิ์หลายครั้ง ในงานชมรมนักกลอน แต่ผมตามไปโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะไปทุกครั้งก็ดูแต่ศิวลึงค์บนเขามอ หลังโบสถ์นอกกำแพงแก้ว

Advertisement

คราวนี้คุณขรรค์ชัยชวนไปทอดน่องท่องเที่ยววัดโพธิ์ ผมเลยต้องทบทวนทำการบ้านใหม่ทั้งหมด ถึงเริ่มรู้อะไรต่อมิอะไรต่างจากที่เคยรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนตอนเขียน (แบบคนทำหนังสือพิมพ์เก่าๆ) เรื่องกรุงเทพฯ มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก 2548) ที่ไม่ค้น ได้แต่คว้าจากความทรงจำคร่ำครึและตกๆ หล่นๆ

จะแก้ไขทั้งเล่มก็ทำไม่ทันแล้ว เพราะมีเวลาไม่มาก ขอยกเลิกเล่มเก่าว่าอย่าเชื่อถือและขอปรับปรุงเนื้อหาเป็นครั้งคราว ดังต่อไปนี้

 

เก่าแก่สุดในคลองบางกอกใหญ่

กรุงเทพฯ มีชุมชนเมืองเก่าแก่ที่สุด ยุคต้นอยุธยา ก่อน พ.ศ. 2000 อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ตั้งแต่บางเชือกหนัง (เขตบางกอกน้อย) ต่อเนื่องถึงบางจาก (เขตภาษีเจริญ)

นับเป็นหัวแหวนเก่าสุดของกรุงเทพฯ ก่อนมีเมืองบางกอก (วังเดิม)

หลักฐานสำคัญมี 2 อย่าง ได้แก่ วรรณกรรมและศิลปกรรม

 

ตลาด ในวรรณกรรม

โคลงกำสรวลสมุทร เป็นวรรณกรรมยุคต้นอยุธยา แต่งราวเรือน พ.ศ. 2000

[เคยเข้าใจผิดแล้วเรียกผิดว่า โคลงกำสรวลศรีปราชญ์]

พรรณนาการเดินทางด้วยเรือขบวน ออกจากพระนครศรีอยุธยา ล่องตามแม่น้ำลงไปออกอ่าวไทย ผ่านหมู่บ้านตำบลต่างๆ บนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วกลายเป็นคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่

โคลงกำสรวลสมุทร พรรณนาอย่างให้ความสำคัญบริเวณที่เรียกทุกวันนี้ว่า บางเชือกหนัง (กลายจากชื่อเดิมว่า บางฉนัง เป็นคำเขมร แปลว่า บางหม้อ หรือบางปั้นหม้อ) ต่อเนื่องยาวถึง บางจาก เป็นชุมชนใหญ่ มีตลาดขายของต่างๆ เช่น ขนม, มะพร้าว, หมากสุก ฯลฯ

โดยเฉพาะหมากสุกจากต้นหมากกสดๆ ใหม่ๆ แม่ค้าใช้มือบิดปลิดลูกหมากขายให้คนซื้อเดี๋ยวนั้น

[ในโคลงใช้คำว่า ล้าว (ว่า ล้าว ล้าว) เป็นคำเก่า หมายถึง รวบเข้าด้วยกัน แล้วบิดหรือถอน]

 

วัดวาอาราม มีศิลปกรรม

พระพุทธรูปมีจำนวนมากเป็นศิลปกรรมยุคต้นอยุธยา ราวหลัง พ.ศ. 2000 เป็นพระพุทธรูปหินทรายอยู่ในวัดวาอารามที่ยังสืบเนื่องกับที่รกร้างแล้ว ในแม่น้ำลำคลองตั้งแต่เมืองนนทบุรีถึงกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ และลำน้ำสาขาอีกมาก พบพระพุทธรูปหินทรายกระจัดกระจายทั่วไป

[ดูจากงานค้นคว้าวิจัยของ ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เรื่อง “หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” พ.ศ. 2557]

ศิลปกรรมสำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป ทองสำริด จากวัดคูหาสวรรค์ (เดิมชื่อวัดศาลาสี่หน้า) ปากคลองบางจาก ริมคลองบางกอกใหญ่ (แม่น้ำสายเก่า)

ปัจจุบันเป็นพระประธานในโบสถ์วัดโพธิ์ ท่าเตียน (วัดพระเชตุพนฯ) กรุงเทพฯ ถูกเชิญไปสมัย ร.1

พระพุทธรูป ทองสำริด องค์นี้เป็นหลักฐานสำคัญมาก แสดงความสำคัญของพื้นที่บางเชือกหนัง-บางจาก ว่าเป็นชุมชนของผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา เพราะถ้าไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองพรั่งพร้อมด้วยบริวารและเทคโนโลยี ก็ไม่มีหนทางสร้างพระทอง สำริดได้สำเร็จขนาดนั้น

 

เมืองบางกอก

เมืองบางกอก (วังเดิม) มีขึ้นหลังขุดคลองลัดบางกอก หรือหลัง พ.ศ. 2000 อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่

แต่ชุมชนเมืองเก่าแก่ที่สุดยุคต้นอยุธยา ก่อน พ.ศ. 2000 บริเวณบางเชือกหนัง-บางจาก ยังมีความสำคัญไม่ลดลง จึงมีวัดวาอารามใหญ่โตเพิ่มขึ้นสืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ ตลอดยุคอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

แล้วมีเจ้านายและขุนนางใหญ่ตั้งแต่สมัย ร.1 ถึง ร.3 ไปปฏิสังขรณ์วัดวาอารามย่านนี้ต่อเนื่อง

ชุมชนเมืองและศูนย์กลางของเมืองไม่อยู่ตายตัวที่ใดที่หนึ่ง แต่เคลื่อนไปตามเรือนหรือจวนเจ้าเมือง ที่อาจเป็นเจ้าเมืองจนตาย แล้วมีลูกชายรับตำแหน่งต่อก็ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image