ผู้บริหาร ม.คาร์เนกีฯ บินหารือ อธิการฯ สจล.ถกตั้ง ม.ซีเอ็มเคแอลในไทยต้น ธ.ค.นี้

 

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติในประเทศไทย เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านวิชาการ และทักษะความสามารถของบัณฑิตไทย รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เข้ามาเปิดดำเนินการในประเทศไทยร่วมกับ สจล.ภายใต้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล โดยผู้บริหารทั้ง 2 สถาบัน จะเร่งดำเนินการตามแผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้จัดการเรียนการสอนได้ทันในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก โดยนำร่องเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาเอก และปริญญาโท และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ระดับปริญญาโท จากนั้นจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษาถัดไป

“ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจะเดินทางมาไทยเพื่อร่วมหารือกับ สจล.พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการจัดสร้างมหาวิทยาลัย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และผู้บริหาร สจล.ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เพื่อร่วมหารือให้ดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สจล.กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ยังมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา ได้แก่ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศ การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลาง ด้านการวิจัย และนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และบริษัทข้ามชาติ ในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) หรือการผลิตขั้นสูงในประเทศไทย สำหรับแผนความร่วมมือระยะยาว ได้วางเป้าหมายผลผลิตที่วงการศึกษาไทย และประเทศชาติจะได้รับ แบ่งเป็น ผลิตนักศึกษาปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 100 คน ปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 250 คน พร้อมยกระดับคุณภาพอาจารย์ และนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลก สร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดเป็นวัตกรรม เป็นต้น เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง สจล.กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จะช่วยยกระดับความรู้ และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ในทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการศึกษา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image