กะลาคว่ำ กะลาหงาย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยาวกว่าหางอึ่งนิดหน่อย ผมอยากจะยกให้คำพังเพยว่า “กบในกะลา” เป็นคำพังเพยประจำอาเซียน เพราะความเปรียบลักษณะเดียวกันนี้หรือใช้สัตว์ใกล้เคียงกันนี้ และตกสถานการณ์แบบเดียวกันนี้มีในเกือบทุกชาติเลย
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วมีในภาษามลายู ด้วยความเปรียบที่เพี้ยนกันนิดหน่อยแต่นัยยะเดียวกัน และด้วยเหตุที่มีในภาษามลายูจึงเป็นคำพังเพยที่รู้จักกันทั่วไปในภาษาอินโดนีเซียด้วย เมื่อเร็วๆ นี้เอง ผมอ่านเจอที่ไหนก็จำไม่ได้ว่า หว่างเด๊เวียดนาม เคยบริภาษกบฏชนกลุ่มน้อยว่า เหมือนคางคกที่ขุดหลุมลงไปซ่อนตัวเอง แล้วนึกว่าฟ้ากว้างแค่ปากหลุม ผมเคยอ่านเจออะไรทำนองนี้ในประวัติศาสตร์พม่า และในนิทานกะเหรี่ยงด้วย
ครับ ควรเป็นคำพังเพยอาเซียนจริงๆ
เมื่อเป็นคำพังเพยเชิงตำหนิก็แสดงว่าคนอาเซียนไม่ได้ยกย่องความคับแคบทางสติปัญญา แต่กลับยกย่องหรือให้ความสำคัญแก่ความรู้อันกว้างขวาง ถ้าจะมียกเว้นก็คงเป็นความรู้เชิงศาสนา ที่ก่อปัญหาให้แก่คนที่ถูกมองว่า “นอกรีต” เป็นบางครั้ง ในบางสังคม และบางสมัย
แต่ข้อยกเว้นเรื่องความรู้ความคิดทางศาสนานั้นสลับซับซ้อนกว่าคำสอนของศาสนาเพียงอย่างเดียว โดยมากคนมักสร้างกะลาขึ้นจากการแย่งอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจกัน แล้วตั้งชื่อกะลาอันนั้นว่าศาสนา เช่นการรังแกพระคาทอลิกในอยุธยาและเว้ในสมัยหนึ่ง หรือรังแกมุสลิมเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ก็ไม่น่าประหลาดอันใดใช่ไหมครับ ภูมิภาคที่งอกขึ้นมาจากความคิดความรู้ของแหล่งอารยธรรมใหญ่ๆ ซึ่งล้วนอยู่นอกภูมิภาคทั้งสิ้นมาแต่โบราณกาล ก็น่าจะเป็นภูมิภาคที่ควรชื่นชมโลกใต้ฟ้ากว้าง มากกว่าโลกใต้กะลามะพร้าว ต่างจึงมีคำพังเพยที่ตำหนิโลกใต้กะลากันเกือบทุกสังคม
ว่าเฉพาะแต่สังคมไทย เท่าที่ความรู้ประวัติศาสตร์ผมมี คนไทยแสดงความชื่นชมคนที่นำอะไรใหม่ๆ เข้ามาสู่บ้านเมืองเสมอ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ฯ นั้น ได้ดิบได้ดีก็เพราะสามารถคิดวิธีชั่งน้ำหนักของสิ่งที่คนไทยไม่เคยคิดว่าจะชั่งได้มาก่อน (ตามที่คนไทยสมัยหลังสรรเสริญฟอลคอน ส่วนความจริงเพราะอะไรกันแน่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
บางคนอาจท้วงว่า ที่ผมพูดนั้นล้วนเป็นข้าวของเครื่องใช้ และวิธีการ หรืออย่างเก่งก็อาจเป็นกระบวนการเท่านั้นหรอก ที่ฟ้าของคนไทยเปิดกว้าง หากเมื่อไรเป็นเรื่องที่ต้องรับหลักการใหม่ ฐานคิดใหม่ เมื่อนั้นคนไทยจะวิ่งไปซ่อนอยู่ใต้กะลาทันที
แต่ในกระบวนการรับวัฒนธรรมจากภายนอกนั้นจะให้ไม่กระทบหลักการฐานคิดอะไรเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้ ถึงคาร์ล มาร์กซ์ ไม่บอก ใครๆ ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า โลกส่วนที่เป็นวัตถุกับโลกส่วนที่ไม่ใช่วัตถุนั้นแยกออกจากกันได้ยาก เมื่อเราเปลี่ยนจากจอบในการทำนา มาใช้ผาลไถแบบจีนหรืออินเดียก็ตามในคริสต์ศตวรรษที่ 15 (ตามงานศึกษาของนักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่ง) ย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านผลผลิต, การใช้และจัดสรรแรงงาน, การเปิดพื้นที่นา, การจัดองค์กรทางสังคม, อำนาจไหลไปสู่กลุ่มอีกชนิดหนึ่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ย่อมนำไปสู่ระบอบปกครองอีกอย่างหนึ่ง อำนาจอีกอย่างหนึ่ง หรือระบบคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง
เมื่อปัญญาชนไทยในสมัย ร.3-ร.5 หันมาอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแบบตะวันตก เช่น เรื่องสุริยุปราคา, โลกภูมิ, ความเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ว่าล้วนมีสาเหตุจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาตินั่นแหละ ไม่ได้มีพลังนอกธรรมชาติใดๆ มาแอบกำหนดอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะจำกัดมิให้ใช้หลักความเข้าใจนี้กับปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วย

ภาวะที่กะลาถูกหงายขึ้น ทำให้กบมองเห็นฟ้ากว้างอันไร้ขอบเขตเบื้องบน เกิดแก่สังคมไทยตอนนั้น ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นแก่สังคมอื่นในบางยุคบางสมัยเสมอมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
แต่ก็เหมือนกับที่เกิดในสังคมอื่นๆ มาแล้ว ฟ้าที่เปิดกว้างย่อมเป็นอันตราย (หรืออย่างน้อยกระทบ) ต่ออำนาจทุกชนิดที่มีอยู่ในสังคม แม้แต่อำนาจของพ่อ-แม่เหนือลูก ครูเหนือศิษย์ ฯลฯ ไม่พักต้องพูดถึงอำนาจของรัฐเหนือประชากร หรือศาสนาเหนือศาสนิก เพราะฟ้ากว้างทำให้อำนาจเหล่านั้นถูกตั้งคำถามใหม่ และจำเป็นต้องนิยามอำนาจของตนใหม่ และด้วยเหตุดังนั้น อำนาจในสังคมต่างๆ จึงมักสร้างกะลาขึ้นบดบังฟ้ากว้างไว้อย่างน้อยบางส่วน โดยเลือกเอาส่วนที่อาจให้อำนาจในการยืดกะลาไปคลุมได้กว้างขวางทั่วฟ้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในสังคมตะวันตก อำนาจที่มีในสังคม ใช้ศาสนาเป็นกะลาอยู่นาน ข้อเสนอทางชีววิทยาของชาลส์ ดาร์วิน ถูกขัดขวางมิให้เผยแพร่ด้วยการอ้างกะลาทางศาสนาอยู่นาน ไม่กี่สิบปีมานี้เอง คณะกรรมการการศึกษาประจำตำบลหรืออำเภอของสหรัฐบางแห่ง ยังสั่งห้ามมิให้มีรายงานการศึกษาของเขาในห้องสมุดโรงเรียนอยู่เลย
แต่ในสังคมปัจจุบัน ศาสนาไม่อาจทำหน้าที่กะลาได้ดีเหมือนเก่า (เช่นคำอธิบายหลักพุทธธรรมแบบท่านพุทธทาสภิกขุลงมาถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ทำให้ใช้พระพุทธศาสนาแบบไทยเป็นกะลาที่ดีได้ยาก) แต่ละสังคมก็ต้องหาเอาเองว่า ยังมีอะไรเหลือพอจะใช้เป็นกะลาได้ดีอีกบ้าง แล้วอัดอำนาจการลงทัณฑ์ของรัฐนานัปการลงไปในกะลาใบนั้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปิดบังฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้กระนั้น ในหลายกรณีก็ยังต้องใช้อำนาจ “เถื่อน” คือไม่มีกฎหมายรองรับควบคู่ไปด้วย เช่นมีคนที่ถูกจับติดคุกโดยไม่ถูกตั้งข้อหาเป็นปีในเมืองจีน หรือถูกนำตัวไปสอบสวนในสถานที่ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้เป็นสถานที่สอบสวนได้… สถานที่สอบสวนต้องมีกฎหมายรองรับก็เพราะเพื่อประกาศให้สถานที่นั้นเป็น “สาธารณะ” ร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือการสอบสวนต้องกระทำโดยเปิดเผยที่สาธารณชนรู้เห็นได้
ยังมีผลร้ายของการบดบังฟ้าด้วยกะลาอีกสองอย่าง ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเราจะดึงกะลามาปิดฟ้าเอง หรือคนอื่นครอบลงมาเพื่อไม่ให้เราเห็นฟ้าก็ตาม
อย่างแรกก็คือ ใต้กะลาย่อมมืด มองไม่เห็นคนอื่น ที่สำคัญกว่ามองไม่เห็นก็คือ ไม่รู้สึกว่าคนอื่นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวอย่างไร หนักเข้าก็หมดความสำนึกไปเลยว่า นอกจากตัวเองภายใต้กะลาที่มืดมิดนี้แล้ว ยังมีคนอื่นอยู่ร่วมด้วย และด้วยเหตุดังนั้นจึงคิดอะไรไม่พ้นตัวเองไปได้สักที ก็ไม่มีใครอื่นมาแต่ต้นแล้ว จะให้คิดอะไรจากมุมของคนอื่นในวงกว้างได้อย่างไร
ในสังคมที่อยู่ภายใต้กะลาเป็นเวลานานๆ ผู้คนจึงคิดอะไรแคบลงทุกที ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวอันเป็นกิเลสพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องคิดไม่พ้นตัวเองอันเกิดจากความไม่สำนึกความเป็นจริงมากกว่า ตัวได้ในสิ่งใด ก็คิดว่าย่อมดีแก่ส่วนรวม ตัวเสียในสิ่งใด ก็คิดว่าย่อมเสียแก่ส่วนรวมเสมอ
ความหมายของคำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” ภายใต้กะลา จึงมักแคบ, บิดเบี้ยว และเฉไฉอยู่เสมอ เช่นอะไรที่ทุกคนก็เห็นพ้องอยู่แล้วว่าดีแก่ส่วนรวม ก็น่าใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งทำไปเลย จะเปิดให้ทะเลาะถกเถียงกันทำไม เสียเวลาและเกิดความแตกแยกกันเปล่าๆ ฟ้าของคนใต้กะลาถูกปิดจนมองไม่เห็นว่า ที่เรียกว่าทะเลาะถกเถียงกันนั้น คือส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อรอง เพื่อทำให้สิ่งดีๆ ดังกล่าวถูกทำให้เป็นนโยบายที่มีความยืดหยุ่นแก่คนแต่ละกลุ่มซึ่งมีผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์เฉพาะหน้าและในอนาคตข้างหน้า ที่แตกต่างกันหลากหลาย
ส่วนรวมภายใต้ฟ้ากว้างคือความหลากหลาย แต่ส่วนรวมภายใต้ความมืดมิดของกะลา คืออะไรที่เป็นเหมือนหินทั้งก้อนที่มีเนื้อเดียวกัน (monolithic) ซึ่งนอกจากก้อนหินแล้ว ก็ไม่มีส่วนรวมอะไรที่มีลักษณะเช่นนั้นในโลกจริง
ผลร้ายอย่างที่สองของชีวิตภายใต้กะลาก็คือ ทำให้เราขาดความเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ความเคารพต่อความเป็นมนุษย์คงมีความหมายได้หลายอย่าง แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ดังนั้นผมขอใช้มาตรฐานของคนชั้นกลางแบบไทยตามความเข้าใจของผม
เมื่อตอนยังไม่หนุ่มดี ผมเคยไปวัดเป็นเพื่อนแม่ฟังเทศน์ จำได้ว่าพระท่านเทศน์ในคราวหนึ่งว่า เหตุที่การฆ่าคนเป็นบาปอย่างร้ายกว่าการฆ่าสัตว์อื่นๆ ก็เพราะ คนเท่านั้นที่สามารถบรรลุธรรมได้ พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือคนมีศักยภาพจะพัฒนาไปสู่สภาวะสูงสุดได้ อย่างที่ไม่มีสัตว์ใด (แม้แต่เทวดา) จะมีศักยภาพเช่นนั้น
ในปัจจุบัน อาจมีทรรศนะเกี่ยวกับศักยภาพของความเป็นมนุษย์ได้อีกหลายอย่าง ซึ่งจะขอไม่พูดถึงล่ะครับ แต่ความเป็นมนุษย์คือสภาวะพิเศษสำหรับการพัฒนา, การถูกทดสอบ หรืออะไรอื่นที่สำคัญอย่างยิ่ง ในศาสนาทุกศาสนา และพบได้ในทุกวัฒนธรรม แม้ว่าวัฒนธรรมไทยอาจไม่ได้พัฒนาแนวคิดนี้ไปไกลนัก แต่อย่างน้อยเราก็ยอมรับและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่การประกาศทฤษฎีการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป (ซึ่งหากคิดตามแนวพุทธแบบไทยที่ผมรู้จักเคยชิน แม้แต่คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งฉลาดขนาดนั้น หากมีโอกาสได้ฟังธรรมอันงามพร้อม ก็อาจบรรลุอรหัตตผลได้ในพลัน จะมันขนาดไหนนี่ หากเรามีพระอรหันต์ชื่อมาร์กซ์) มาจนถึงการร้องตะโกนในปัจจุบันว่าคนนั้นคนนี้ไม่ควรอยู่ในประเทศก็ตาม ไม่ควรมีลมหายใจอยู่ต่อไปก็ตาม หรือประกาศว่าหากได้พบหน้าคนนั้นคนนี้ ก็พร้อมจะฆ่ามันเพื่อแสดงให้เห็นความกล้าหาญ, ความดี และความพร้อมจะเสียสละของตน
ทั้งหมดเหล่านี้จึงไม่ใช่ความเคารพต่อมนุษย์หรือความเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน และไม่มีทางเกิดขึ้นได้ภายใต้ฟ้ากว้างนอกกะลา
คนไทยไม่ใช่ชาติยิ่งใหญ่ชาญฉลาดที่สร้างคุณูปการอันสูงส่งแก่มนุษยชาติ แต่เราไม่ใช่กบใต้กะลา เรารับแสงสว่างจากคุณูปการที่คนอื่นสร้างขึ้น ใช้ประโยชน์มันเพื่อทำอะไรที่เราพอทำได้ แต่จำเป็นในการทำให้แสงสว่างนั้นกระจายต่อไปยังหุบห้วยเหวเขา และเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่เราเคยคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล, เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนใคร, เป็นคนและสังคมที่อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งกันและกันกับคนอื่น
กบใต้กะลาเป็นสภาพผิดธรรมชาติ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เอง กะลาทุกใบที่ครอบกบอยู่ มีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากความมืดมิดภายใต้กะลานั้นเสมอ
พี่น้องไทย หงายกะลาขึ้นเถิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image