Future Perfect : AI Winter มองปัญญาประดิษฐ์อย่างเข้าใจ – เมื่อAIไม่ได้จะ‘ครองโลก’ : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ในช่วงสองสามปีมานี้ เรามักได้ยินข่าวเรื่องปัญญาประดิษฐ์และอันตรายของมันกันอย่างหนาหู วันหนึ่งคุณอาจได้เห็นพาดหัวข่าวว่าสตีเฟน ฮอว์กิ้ง เตือนภัยที่อาจเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (“ระวังปัญญาประดิษฐ์ครองโลก!”) อีกวันหนึ่งอาจเป็นอีลอน มัสก์ ออกมาเตือนคล้ายกัน ในขณะที่ต่อมาอีกวันคุณก็อาจเห็นว่าสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์รับรองให้ “โซเฟีย” กลายเป็นพลเมืองหุ่นยนต์ตัวแรกของโลก หลังจากที่เธอเดินทางไปออกรายการเลตไนต์ของจิมมี่ ฟัลลอน แล้วเล่นตลกว่า “ฉันจะครองโลก” ท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้ชม (และอีกวันคุณก็ได้ข่าวปัญญาประดิษฐ์ Alpha Go Zero ที่ชนะแชมเปี้ยนโกะระดับโลกได้ในเวลาสามวันโดยเริ่มเรียนรู้จากศูนย์!)
ในทางหนึ่ง การประโคมข่าวของสื่อมวลชนเรื่องปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์กันอย่างไม่บันยะบันยังก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากจะเข้าใจนัก-เพราะข่าวลักษณะนี้เป็นข่าวที่ “ขายได้” เหตุที่มันตอบสนองภาพฝัน (ทั้งฝันดีและฝันร้าย) ที่ภาพยนตร์และนิยายไซไฟมอบให้เรามาเป็นสิบๆ ปี อย่างที่เราอาจเห็นได้บ่อยครั้งว่า ในส่วนของคอมเมนต์ใต้ข่าวหุ่นยนต์มักมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์อย่าง Terminator, I Robot, A.I. และอื่นๆ ให้ได้เห็นกันอย่างสม่ำเสมอ
แต่ในอีกทาง-การที่ข่าวปัญญาประดิษฐ์ออกมาบ่อยๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องดีเสมอไปสำหรับคนในวงการปัญญาประดิษฐ์เหมือนกัน เร็วๆ นี้ ระหว่างผมสัมภาษณ์ Martial Hebert ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน (The Robotics Institute, Carnegie Mellon University) เขาก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟังว่า การประโคมข่าวปัญญาประดิษฐ์ของสื่อนั้นในทางหนึ่งก็ดีกับนักวิจัย ตรงที่มันทำให้วงการคึกคัก มีแหล่งทุนที่ “เห็นความเป็นไปได้” (ไม่ว่าความเป็นไปได้นั้นจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม) และพร้อมจะลงเงินเพื่อเปิดขอบฟ้าใหม่ๆ แต่ในทางกลับกันมันก็อาจมาพร้อมกับภัยในตัว เพราะสื่อ (รวมทั้งข่าวและสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์) อาจทำให้สาธารณชน “ตั้งความหวังสูง” กับปัญญาประดิษฐ์
ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อให้สัมภาษณ์ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์หรือคนที่ทำงานในวงการมักจะพูดถึงความเป็นไปได้ของอนาคตอย่างกว้างๆ แต่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไป เป็นเพียง “หนึ่งสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น” แต่สื่อมักนำไปรายงานเฉพาะบางประโยค บางข้อความ (ที่เป็นเพียงการวาดฝัน เป็นปกิณกะเล็กๆ) เพราะรู้ว่าข้อความนั้น “ขาย” มากกว่าก้อนความคิดใหญ่ เมื่อเป็นแบบนี้มากๆ เข้า เราจึงอาจเห็นว่าคนตั้งความหวังกับวงการเทคโนโลยีไว้สูงมากในสองลักษณะ คือ ถ้าไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีมากๆ ไปเลย (เช่น ฝันว่าเราจะมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยที่ตอบสนองทุกสิ่งอย่างได้ดังใจต้องการ จะมีเพื่อนเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่แสนเข้าอกเข้าใจยิ่งกว่ามนุษย์ด้วยกันเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Her) เราก็อาจจะหวั่นกลัวปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ไปเลย (เพราะกลัวว่ามันจะมา “ครองโลก” เหมือนภาพยนตร์จำนวนนับไม่ถ้วน)
Martial Hebert บอกว่า เมื่อวงการเทคโนโลยีไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังที่ถูกตั้งไว้สูงมากได้ สาธารณชนก็จะผิดหวังมากพอๆ กัน และเมื่อ “Hype” หรือ “กระแส” จางลงเช่นนี้ เราก็จะเดินทางเข้าสู่ช่วง “ฤดูหนาว” ของปัญญาประดิษฐ์ (AI Winter)
คำว่า “ฤดูหนาวของปัญญาประดิษฐ์” นั้นหมายถึงช่วงเวลาที่งบประมาณและความสนใจของการวิจัยปัญญาประดิษฐ์นั้นลดลงไป คำๆ นี้มีที่มาคล้ายกับคำว่า nuclear winter ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1984 เพื่ออธิบายช่วงเวลา (ที่มักจะดำเนินเป็นวงจรขึ้นลงคล้ายกราฟไซน์) ว่าหลังจากที่กระแสความสนใจ (เรื่องใดเรื่องหนึ่ง) พุ่งขึ้นจนสุด ความผิดหวังก็ตามมา เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้น การตัดงบประมาณก็ตามมา จนกระทั่งกระแสถูกจุดขึ้นมาใหม่นั่นแหละที่วงการนี้จะได้รับความสนใจอีกครั้ง
ถึงแม้ความสัมพันธ์ของวงการปัญญาประดิษฐ์กับสาธารณชนจะขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าในตอนที่ “หาย” มันจะหายไปอย่างถาวรเสียทีเดียว กลับกันปัญญาประดิษฐ์กลับถูกฝังอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเรา อย่างที่ Ray Kurzweil ปรมาจารย์เรื่องอนาคตศาสตร์ได้พูดไว้ในปี 2005 ว่า “ผู้สังเกตการณ์หลายคนคิดว่าฤดูหนาวของปัญญาประดิษฐ์จะเป็นจุดจบของเรื่องราว และคิดว่าวงการปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ได้ให้อะไรที่จับต้องได้กับสังคม แต่จริงๆ แล้วรอบตัวเรา ในทุกโครงสร้างของทุกอุตสาหกรรม
นั้นมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ฝังอยู่ทั้งสิ้น”
สิ่งที่ Hebert คิดก็คือ เราอาจต้องปรับระดับความสัมพันธ์ของสังคมกับวงการเสียใหม่-ไม่หวังมากไป ไม่หวังน้อยไป จะได้ไม่ต้องผิดหวัง
แล้วอะไรล่ะที่เราควรจะหวังในอีกห้าปีข้างหน้า ผมถาม, Hebert บอกว่า อย่าไปฝันถึงปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดได้เหมือนมนุษย์หรืออะไรทั้งสิ้น เขาคิดว่าความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น “หลังฉาก” เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนเองได้ อาจจะยังไม่เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป แต่อาจถูกใช้ในสเกลที่ใหญ่กว่าอย่างเช่นระบบขนส่งสาธารณะ อุตสาหกรรมการผลิตจะมีลักษณะ “กระจายศูนย์กลาง” มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและการคำนวณที่ทรงพลังยิ่งขึ้น เราจะได้เห็นปัญญาประดิษฐ์ฝังอยู่, แอบอยู่, ในระบบใหญ่ๆ รอบตัวเรามากกว่าที่จะเห็นเป็นตัวเป็นตนในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่สามารถคำนวณเวลาการรอไฟเขียวไฟแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือระบบจ่ายไฟฟ้าที่ประหยัดขึ้น
ในตอนท้าย Hebert สรุปว่า ปัญหาที่เขากังวลที่สุดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องมันจะมาครองโลกหรอก แต่เป็นปัญหาเรื่องระบบตรวจสอบว่าปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีทำงานได้อย่าง “ถูกต้อง” ไหม และระบบแบบไหนที่จะประกันให้มันทำงานได้อย่างถูกต้องต่างหาก
เขาพูดอย่างเศร้าๆ ว่า เรื่องเหล่านี้คงดูน่าสนใจน้อยกว่าปัญญาประดิษฐ์กบฏและลุกขึ้นมาเป็นนายของมนุษย์ สังคมก็เลยไม่ค่อยให้ความสนใจเท่า
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันสำคัญน้อยไปกว่ากัน

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image