อัยการผู้ปิดทองหลังพระ ทวงคืนหาดเลพังหมื่นล้าน แนะเทคนิคสู้คดีกลุ่มทุน

นายบัณฑูร ทองตัน รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงานภาค 8

เป็นตัวอย่างสำหรับการทวงคืนสมบัติชาติ ในคดีหาดเลพัง จ.ภูเก็ต 178 ไร่ มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

ที่ฝ่ายโจทก์คือกลุ่มเอกชนและนายทุน ยื่นฟ้องกรมที่ดิน จังหวัดภูเก็ต นายอำเภอถลาง หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตส่วนแยกถลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบเเละเพิกถอนการเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อปี 2549 คดีสู้ยาวนานกว่า 10 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ศาลฎีกาพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของแผ่นดิน

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า คดีนี้หน่วยงานภาครัฐและข้าราชการที่ถูกฟ้องปล่อยให้ล่วงเลยระยะเวลายื่นคำให้การแก้คดี จนศาลมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว แต่ทีมอัยการนำโดย นายบัณฑูร ทองตัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงานภาค 8 และ นายสุรศักดิ์ รักญาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและสุดท้ายศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การแก้คดีจนเป็นผลสำเร็จ ทั้งยังได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ออกจากที่ดินที่ครอบครองอยู่ด้วย

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษนายบัณฑูรถึงขั้นตอนและเทคนิคในการต่อสู้คดีจนชนะว่า คดีนี้เอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่ชอบเเละเพิกถอนการเป็นที่ดินของรัฐ มีการสู้คดีกันนาน 8-10 ปี ตั้งเเต่ก่อนสืบพยาน โจทก์และจำเลยใช้พยานฝ่ายละนับ 10 ปาก เเต่ละปากใช้เวลาเบิกความนาน เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคเเละความเป็นมาของที่ดินพิพาท

Advertisement
“คดีนี้ส่งสำนวนมาให้ผม ตั้งแต่สมัยเป็นอัยการจังหวัด เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่จะขึ้นไปเป็นอัยการคดีศาลสูงที่ จ.พังงา เเต่พอปี 2551 ผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการที่ตรวจสำนวนคดีนี้พบว่าสำนวนคดียุ่งยาก เลยให้ผมลงไปว่าความดูแลคดีร่วมกับนายสุรศักดิ์ รักญาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ” อัยการบัณฑูรเล่าเมื่อแรกเริ่มเข้ามาว่าความคดีหาดเลพัง

อัยการบัณฑูรบอกถึงหัวใจสำคัญของคดีว่า เราต้องพิสูจน์เรื่องที่ดินพิพาทว่าในอดีตเป็นอย่างไร แถวนั้นเขาเรียกว่าหาดเลพัง เพราะจะมีคลื่นซัดสาดทำให้หาดแหว่งไปบ้าง

“ตอนที่โดนฟ้องคดี โจทก์อ้างว่าเขาครอบครองอย่างต่อเนื่องมาก่อนปี 2497 ก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินจะใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อมีการครอบครองมาก่อนปี 2497 ผู้ฟ้องย่อมมีสิทธิในที่ดิน ฝ่ายอัยการจึงพยายามต่อสู้ว่าเรื่องดังกล่าวนั้นไม่จริง ทางโจทก์ไม่ได้ครอบครองก่อนปี 2497 และเราต้องหาทางพิสูจน์ให้ได้” อัยการบัณฑูรชี้ถึงประเด็นที่ต้องหาพยานหลักฐานมาหักล้างฝ่ายโจทก์ พร้อมเล่าว่า

“ทางพิสูจน์ที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่เราคิดได้คือ การเเปลภาพถ่ายทางอากาศ โดยการอ่านภาพถ่ายทางอากาศในคดีนี้มีเรื่องเเปลกๆ คือ ภาพถ่ายทางอากาศในภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง มีภาพถ่ายของปี 2497 ทั้งหมด เเต่ของภาคใต้ ภาพถ่ายของปี 2497 หายไป มามีภาพถ่ายอีกทีปี 2510″ อัยการบัณฑูรเผยถึงอุปสรรคข้อหนึ่งที่พบในขณะว่าความ

Advertisement

แต่กระนั้นหนทางต่อสู้คดีมิได้ตีบตัน ยังไปต่อได้ อัยการบัณฑูรบอกว่า “เราขอให้ผู้เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศของกรมที่ดิน ที่ตกเป็นจำเลยอ่านให้เราด้วย กรมที่ดินได้ส่งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้อ่านภาพถ่ายทางอากาศของศาลอ่านภาพถ่ายของปี 2510 ที่เรามีอยู่

“เเต่เมื่ออ่านจริงๆ เราให้อ่านตั้งเเต่ปี 2510-2519 เเละ 2538 เพื่อให้มีความเชื่อมโยงถึงสภาพของที่ดินพิพาทตั้งเเต่ปี 2510 มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างไร และผลที่ได้ออกมาปรากฏว่า ในปี 2510 ที่บริเวณนั้นเป็นหาดทราย มีน้ำทะเลท่วมถึง พอมาปี 2519 ถึงจะเริ่มมีต้นไม้ เเละพอปี 2538 ที่ดินถึงจะเริ่ม
มาเป็นเเปลง อันนี้เเสดงว่าเพิ่งมีการเข้ามาครอบครองในภายหลัง ตรงที่เริ่มเเบ่งที่ดินเป็นเเปลง ตรงนี้เป็นหลักของคดีที่เราชนะ”

อัยการบัณฑูรเผยถึงหลักฐานสำคัญ หมัดเด็ด หัวใจหลักในการสู้คดีทั้ง 3 ชั้นศาล พร้อมเล่าถึงการนำพยานหลักฐานเข้าเสนอต่อศาลว่า

“คดีนี้เราชนะมาตลอดตั้งเเต่ศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา ยิ่งประเด็นสำคัญตรงภาพถ่ายทางอากาศ ฝ่ายโจทก์นำนายทหารมาอ่านภาพถ่าย โดยนายทหารคนดังกล่าวไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญของศาล เเละผมจับทางได้ว่าเขาอ่านโดยใช้เทคนิคไม่ถูกต้อง ที่เรารู้เพราะเราศึกษามาอย่างดีก่อนสืบพยาน เราลองเรียนรู้โปรเเกรมอย่างละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญ นั่งสาธิตจริง ผมได้ถามค้านติดไว้ในสำนวนว่าการใช้เเว่นขยายที่ใช้อ่านภาพถ่ายไม่ถูกต้อง ขณะที่การอ่านภาพถ่ายต้องใช้เครื่องสามมิติ ภาพจะลอยขึ้นมา เเละต้องมีการลดค่าความเบี่ยงเบน วิธีการเทคนิคทั้งหมดทำต่อหน้าศาล ทำให้ศาลเชื่อถือเรา”

อีกประเด็นสำคัญ ที่ฝ่ายอัยการแทบจะพับกระดานสู้ และฝ่ายโจทก์ตกเป็นรองอย่างเห็นได้ชัด อัยการบัณฑูรเล่าว่า มีเรื่องที่ดินพิพาทของโจทก์บางคนที่รับซื้อช่วงต่อมาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดั้งเดิมต่อมาจากบิดามาเป็นพยานในชั้นศาลเเต่ละครั้งไม่เหมือนกัน อย่างเคยให้การไว้ว่าขายที่ดินเพราะจะเอาเงินไปทำศพพ่อ แต่จากการตรวจสอบเกิดไปเจอหลักฐานว่าพ่อของเขาตายไปเมื่อ 10 ปีก่อนเเล้ว เรียกว่าเอาหลักฐานยันกันให้ดูในศาลจนพยานหน้าซีดไป

ส่วนเรื่องฝ่ายรัฐขาดนัดยื่นคำให้การและเรื่องการฟ้องแย้ง อัยการบัณฑูรเล่าว่า ตอนนั้นมีการส่งหมายมาเเล้ว เเต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยไม่ได้ส่งมาให้อัยการตามกำหนด พอเราได้รับเอกสารมาก็ขาดยื่นคำให้การไปเเล้ว จึงต้องเเก้ไขโดยการยื่นคำร้องขอไต่สวน เราให้เหตุผลว่าตัวความไม่มีเจตนาไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลก็รับฟัง เราจึงรอดมาได้ เเต่เหตุผลจริงๆ ที่หน่วยงานรัฐยื่นมาช้า ผมก็ไม่เเน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร อาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้นเกิดสึนามิก็ได้

“ส่วนกรณีที่เราเป็นจำเลย เเต่ศาลสั่งให้โจทก์ออกจากพื้นที่นั้น เนื่องจากคดีนี้เราฟ้องเเย้งกลับไป เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของเราออกหลักฐานที่หลวงโดยไม่ชอบ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่มีการออกโฉนดไปเเล้วเเต่ผู้ว่าฯไม่ยอมเซ็น เมื่อเราต่อสู้ไปว่าที่ผู้ว่าฯไม่เซ็นเพราะไม่เชื่อว่าโจทก์ครอบครองมาก่อนปี 2497 เราสู้ว่าที่ตรงนี้เป็นที่ดินของรัฐ ใครจะมายึดถือครอบครองไม่ได้ เมื่อโจทก์มาอ้างการครอบครองในที่ดินของรัฐ เมื่อเราชนะ โจทก์จึงต้องออกไป เพราะบุกรุกที่ดินของรัฐ ตรงนี้เราเรียกว่าการฟ้องเเย้ง

“ไม่ใช่ว่าคุณเป็นโจทก์ เป็นเจ้าของที่ดินจะได้อย่างเดียว เเต่เราสู้ว่าคุณบุกรุกคุณต้องออกไป บุคคลเอกชนที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้นั้นเป็นหุ้นส่วนของบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินชายทะเล ธุรกิจโรงเเรมใหญ่ๆ เเละเอกชนที่เป็นคนในพื้นที่หลายคน

“คดีที่ดินใน จ.ภูเก็ต ที่ผมว่าความมีหลายเเปลง เเละผมชนะมาตลอด คดีที่ชนะไปเเล้วก็มี อยู่ระหว่างรอศาลฎีกาพิพากษาก็มี เเต่ละเเปลงมีทั้งนายทุนเเละผู้มีอิทธิพลเข้ามาครอบครอง” อัยการบัณฑูรเผย

เป็นเทคนิคชั้นครูที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง ในการปกป้องสมบัติชาติหมื่นล้าน คดีตัวอย่างที่เหล่าอัยการรุ่นน้องควรค่าแก่การศึกษาต่อยอดวิชาความรู้และการว่าความในฐานะทนายแผ่นดิน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image