คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ปรากฏการณ์ที่ซาอุดีอาระเบีย

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน องค์มกุฎราชกุมารแห่งราชสำนักซาอุด (FILES) AFP PHOTO / FAYEZ NURELDINE

การเปลี่ยนแปลงระดับปรากฏการณ์เกิดขึ้นที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

บุคคลภายนอกที่สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แรกสุดเป็นบรรดาแขกเหรื่อของ ริทซ์ คาร์ลตัน โรงแรมหรูหราระดับ 5 ดาวในกรุงริยาด

ทั้งๆ ที่ เวลาล่วงเลยถึง 23.00 น. เข้าไปแล้ว ผู้ที่เข้าพักทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจถูกปลุกอย่างเย็นชา ร้องขอแกมบังคับให้เก็บข้าวของสัมภาระทั้งหมดมารวมตัวกันที่ล็อบบี้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่กำลังสำราญในไนท์คลับกับภัตตาคาร

เมื่อบรรดาแขกทั้งหมดของโรงแรมทะยอยกันขึ้นรถบัสกระจายกันออกไปยังโรงแรมอื่นๆ ในเมืองหลวงของประเทศ ริทซ์ คาร์ลตัน ก็เปลี่ยนสภาพจากโรงแรมกลายเป็นสถานที่ควบคุมตัวชั่วคราวสำหรับ ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ที่เพิ่งมีสถานะถูกต้องตามกฎหมายเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนหน้า

Advertisement

ย่ำรุ่งวันนั้น บรรดาบุคคลที่เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็ทะยอยเดินทางมาถึงในฐานะ “ผู้ต้องสงสัย”

ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากที่สุดเป็นบุคคลระดับอดีตรัฐมนตรีของประเทศที่รวมกันแล้วหลายสิบ อีก 4 คนเป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญก็คือ 11 คนในจำนวนผู้ต้องสงสัยทั้งหมด เป็น “เจ้าชาย” เชื้อพระวงศ์ระดับสูงของราชสำนักซาอุด ราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินซาอุดีอาระเบียอยู่ในเวลานี้

Advertisement

รวมทั้ง “อัลวาลีด บิน ทาลัล” เจ้าชายวัย 62 ปี คนที่ “รวยที่สุด” ในซาอุดีอาระเบีย และเป็นหนึ่งอัครมหาเศรษฐีลำดับต้นๆ ของโลก

เป็นคนเดียวกับที่เคยตัดสินใจยื่นฟ้องร้องต่อ ฟอร์บส์ แม็กกาซีน ซึ่งแจกแจงบัญชีทรัพย์สินของตนว่ามีรวมทั้งสิ้น 17,000 ล้านดอลลาร์ ฐาน “ประเมินทรัพย์สินของตนต่ำเกินความเป็นจริง”

ในประเทศอย่าง ซาอุดีอาระเบีย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การดูหมิ่นเหยียดยามบุคคลระดับสูง อย่าว่าแต่บรรดาผู้ที่ดำรงตนเป็นถึง “เจ้าชาย” เชื้อพระวงศ์ที่มีสัมพันธ์โดยสายเลือด เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับพระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบีย ต้องพร้อมรองรับ “ผลลัพธ์” รุนแรงจากการกระทำเช่นนั้น

เว้นเสียแต่ว่า ผู้ดำเนินการดังกล่าว คือราชสำนักแห่งซาอุดีอาระเบียเอง เท่านั้น

 

 

พื้นที่เดิมที่เป็นราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันเคยเป็นของชนเผ่าหลากหลาย ปกครองพื้นที่อิทธิพลของตนในฐานะ เจ้าผู้ครองนคร หรือ เอมีร์ ตราบจนกระทั่ง สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลลาซิซ รวบรวมแผ่นดินขึ้นเป็นปึกแผ่น สถาปนาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียขึ้นเมื่อปี 1932

ที่ต้องรบพุ่งเพื่อช่วงชิงดินแดนก็รบไป ที่ไม่จำเป็นต้องรบ กษัตริย์อับดุลลาซิซ ก็ใช้กุศโลบายผูกสัมพันธ์ ด้วยการเสกสมรสกับญาติมิตรแห่งเจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย พระชายาจึงมีเป็นจำนวนมาก โอรสและธิดายิ่งมากมายตามไปด้วย

จำเพาะเจ้าชายทั้งหลายที่ถือเป็นเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดในราชสำนักนั้น มีรวมแล้วถึง 62 พระองค์
ราชสำนักซาอุด สืบทอดการปกครองระบอบกษัตริย์เรื่อยมา โดยอาศัยฉันทามติจากหลากหลายสายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งแน่นอนบางครั้งก็เกิดการแข่งขัน แก่งแย่งซึ่งกันและกันเกิดขึ้นอยู่บ้าง

เคยมีกระทั่งเกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ หรือเหตุการณ์ “ปฏิวัติในราชสำนัก” ขึ้น

มีแม้กระทั่งการสอบถามกันตรงไปตรงมา ว่า หากต้องสละการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ จำเป็นต้องมี “ค่าตอบแทน” เป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด

คำตอบคือหลายสิบล้านดอลลาร์ แต่เมื่อผู้ถามสามารถสนองตอบได้ ทุกอย่างก็คลี่คลายไปด้วยดี
จนถึงขณะนี้ ผู้สืบทอดราชบัลลังก์แห่งราชสำนักซาอุด จึงยังคงเป็นพระโอรสในองค์กษัตริย์ผู้ปราบดาภิเษกขึ้นครองบัลลังก์ ภายใต้กรอบการปกครองที่นักสังเกตุการณ์บางคนเรียกว่าเป็น “ภาวะผู้นำร่วม” ในราชอาณาจักร

ผู้สืบทอดบัลลังก์ ยึดถืออาวุโสเป็นลำดับสืบเนื่อง ในขณะเดียวกัน โอรสองค์อื่นๆ ก็ได้รับมอบหมายให้ครอบครอง ควบคุม หน่วยงานสำคัญที่กอปรขึ้นเป็นโครงสร้างแห่งอำนาจของรัฐ

เมื่อ กษัตริย์ ซาอุด โอรสในองค์อับดุลลาซิซ ขึ้นครองบัลลังก์เมื่อปี 1964 เจ้าชาย ไฟซาล (และต่อมาก็เป็นพระโอรสของเจ้าชายไฟซาล) ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ในขณะที่ เจ้าชายสุลต่าน เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ควบคุมกองทัพทั้งหมด ส่วนเจ้าชาย เนเยฟ กลายเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และควบคุมหน่วยงานด้านความมั่นคงภายใน

ซาอุดีอาระเบียยังมี กองกำลัง เนชันแนล การ์ด กองทัพองครักษ์ที่ได้รับการฝึกพิเศษและเกณฑ์มาเป็นพิเศษจากชนเผ่าที่จงรักต่อราชสำนักเท่านั้น เจ้าชายอับดุลลาห์ ทรงเป็นผู้นำกองทัพนี้ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากระทรวงหนึ่ง ในขณะที่ เจ้าชายซัลมาน (ในเวลานั้น) ก็ทำหน้าที่เป็น ผู้ว่าการกรุงริยาด

ในระบบ “ผู้นำร่วม” เช่นนี้ อำนาจรัฐถูกกระจายออกไป ไม่กระจุกตัวอยู่จำเพาะสายใดสายหนึ่งของเชื้อพระวงศ์มากจนเกินไป

และเปิดโอกาสให้ “เจ้าชาย” ทุกพระองค์มีส่วนในการปกครองประเทศเหมือนๆ กัน

 

 

ตามระบอบการปกครองของซาอุดีอาระเบีย อำนาจอย่างเป็นทางการทั้งมวลอยู่ในมือราชสำนัก ในทางปฏิบัติ องค์กษัตริย์ ปกครองประเทศโดยผ่านการหารือกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงทั้งหลาย และ ตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยอาศัยฉันทามติ

ระบอบกษัตริย์ซาอุดีฯ ต่างจากของไทยหรืออังกฤษ องค์กษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งทางการปกครองควบคู่กันไปด้วย

พระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบีย ต้องทรงรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ควบคู่กันไปด้วย เช่นเดียวกับที่ องค์มกุฎราชกุมาร ก็ต้องรับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี เจ้าชายอาวุโสอีกจำนวนหนึ่งก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการ

โดยนัยนี้ การปกครองของซาอุดีอาระเบียจึงเป็นไปในท่วงทำนองของระบอบนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่เป็นระบอบประธานาธิบดี

พื้นฐานเรื่องนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปเมื่อ สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลลาห์ สิ้นพระชนม์ และ เจ้าชาย ซัลมาน ขึ้นครองบัลลังก์ราชสำนักซาอุด เมื่อปี 2015 พระชนมายุ 82 ชันษา

กษัตริย์อับดุลลาห์ ทรงแต่งตั้งพระอนุชา คือ เจ้าชายสุลต่าน เป็นองค์รัชทายาท เมื่อเจ้าชายสุลต่านสิ้นพระชนม์ ทรงเลือก เจ้าชายนาเยฟ ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแทน กระนั้นมกุฎราชกุมารใหม่ก็สิ้นพระชนม์ก่อนพระองค์ ตำแหน่งรัชทายาทจึงตกเป็นของ เจ้าชาย ซัลมาน

เมื่อกษัตริย์อับดุลลาห์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน ขึ้นครองบัลลังก์ รัชทายาทที่ถูกเลือกแรกสุดคือ เจ้าชาย มุคริน โอรสอีกองค์ในปฐมกษัตริย์ แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมาก็ถูกแทนที่โดย เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ (เอ็มบีเอ็น) โอรสของเจ้าชายนาเยฟที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้าไม่นาน และเป็นผู้ที่สืบทอดตำแหน่ง รัฐมนตรีมหาดไทยและคุมหน่วยงานความมั่นคงภายในต่อจากพระบิดา

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 เดือนก่อน ก็คือ จู่ๆ เจ้าชายเอ็มบีเอ็น ก็ถูกถอดจากตำแหน่งรัชทายาท ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทน คือ รัฐมนตรีกลาโหม โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระโอรสวัย 32 ในองค์ราชาธิบดี ที่คนซาอุดีฯ รู้จักกันในชื่อย่อ “เอ็มบีเอส”

ไม่นานก่อนหน้า สัญญาณของการ “รวบอำนาจ” ก็แสดงให้เห็นชัดเจน เมื่อเจ้าชาย “เอ็มบีเอ็น” ถูกถอดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย

ผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ส่งให้เจ้าชายวัย 32 ปี ไม่เพียงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย และ รัฐมนตรีกลาโหมควบคู่กันไปด้วย

ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนขึ้นตามมา

 

 

การถอดเจ้าชาย เอ็มบีเอ็น พ้นตำแหน่งรัชทายาท และกระทรวงมหาดไทย ทำให้หลงเหลือ “กระทรวงแห่งอำนาจ” อยู่เพียงกระทรวงเดียว ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าชาย เอ็มบีเอส

นั่นคือ เนชันแนล การ์ด กระทรวงกิจการทหารองครักษ์ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคือ เจ้าชาย มีเท็บ ในองค์กษัตริย์อับดุลลาห์ ผู้ล่วงลับ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าชายมีเท็บ ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งสำคัญนี้ ที่เป็นตำแหน่งอำนาจอิสระลำดับสุดท้ายในราชสำนักซาอุด

แน่นอน ผู้ถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งแทนคือ เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน “เอ็มบีเอส”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับการ “ปฏิวัติในราชสำนัก” หรือ การ “ลอบปลงพระชนม์” ที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นตามมา

สิ่งที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบียในยามนี้คือ ปรากฏการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนาราชอาณาจักร ที่กระทรวงแห่งอำนาจ ทั้ง 3 ตกอยู่ในมือของบุคคลเดียว และอำนาจรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของเชื้อพระวงศ์เพียงสายเดียว

เมื่อสมทบกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีในระดับล่างๆลงไป กับตำแหน่งในกระทรวงทบวงกรม และผู้ว่าราชการจังหวัด ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เท่ากับว่า อำนาจอิสระที่เคย “คาน” กันอยู่ ถูกปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

โครงสร้างอำนาจรัฐถูกปรับเปลี่ยนให้ตกอยู่ในมือของพระราชาธิบดี ซัลมาน และ เอ็มบีเอส เท่านั้น

 

 

โครงสร้างแห่งอำนาจเปลี่ยน พลวัตรแห่งอำนาจภายในประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงตาม และเปลี่ยนแปลงไปอย่าง “มีนัยสำคัญ” อีกต่างหาก

กฏเกณฑ์ที่ปราศจากลายลักษณ์อักษร ซึ่งเคยยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในห้วงเวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ที่กำหนดให้ ทุกฝ่ายในราชสำนักพึงหาทางออกในความขัดแย้งโดยสันติ และตกลงกัน “เงียบๆ” ภายในครอบครัว โดยปราศจากการยุ่งเกี่ยวของบุคคลภายนอก

เจ้าชายทั้งหลายจำเป็นต้องแสดงความจงรัก ต่อพระราชาธิบดี และหลีกเลี่ยงการเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบ

ทั้งหมดนั้น แลกเปลี่ยนมาด้วย “ความมั่นคงส่วนพระองค์” และ “ความมั่งคั่งส่วนพระองค์” ซึ่งจักได้รับการยอมรับและเคารพ

การอวดโอ่ความมั่งคั่ง ถือเป็นวัตรที่ไม่พึงปฏิบัติ และหลายครั้งถูกปกปิดโดยราชสำนัก แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าชายทั้งหลายได้รับอิสระเสรี ในการสั่งสมเงินตราและผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ไม่จำกัด

เหตุการณ์ 4 พฤศจิกายน เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระราชาธิบดีและพระโอรส ทรงเลิกล้มธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา

การจับกุมในข้อหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถูกเน้นความจริงจังด้วยการกวาดล้างคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่เมื่อสุดสัปดาห์ อันเป็นครั้งแรกที่เจ้าชายผู้มั่งคั่งและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายจะ “ไม่ปลอดภัย” อีกต่อไปหากกระทำการอันเป็นการคอร์รัปชั่น

มีการตั้งข้อหา รับสินบน กรรโชกทรัพย์ และฉกฉวยประโยชน์จากรัฐ โดยมิชอบ ให้กับประดาเจ้าชายเหล่านี้ง
จริงอยู่ ที่ผ่านมาคอร์รัปชั่นในซาอุดีอาระเบีย ระบาดแพร่หลายถึงขนาดกลายเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ ทำให้ชาติเกร็งแข็งยากต่อการยืดหยุ่นปรับตัว แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งดังกล่าวดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการเอื้ออำนวยของระบบ ระบอบ และเครือข่ายภายใน ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงความพยายามในการ “รื้อทำลาย” โครงสร้างรัฐเดิม เพื่อ “ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด” ของพระราชาธิบดีและเอ็มบีเอส

สิ่งนี้ ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง แต่ละทัศนะ

ระบบผู้นำร่วม ก่อเสถียรภาพให้กับซาอุดีอาระเบีย แต่ทำให้ขีดความสามารถในการปรับตัว เปลี่ยนแปลงลดลง

อำนาจนิยมเล่า จะนำพาสิ่งใดมายังซาอุดีอาระเบีย?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image