11ชาติเอเชียแปซิฟิกเมินมะกัน เดินหน้าบรรลุข้อตกลง ‘ทีพีพี’

AFP PHOTO / POOL / Na Son Nguyen

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รัฐมนตรีการค้าจาก 11 ชาติสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก เห็นพ้องกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ในการเดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ต่อโดยที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา จากการที่ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัดสินใจโดดเดี่ยวตนเองภายใต้นโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นายทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกทีพีพีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สร้างความผิดหวังให้กับบรรดาชาติพันธมิตร และก่อให้เกิดความกังขาถึงสถานะของข้อตกลงที่ระบุว่าจะลดกำแพงภาษีลงและยกระดับมาตรฐานในการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นายทรัมป์เหมือนเป็นเสียงสะท้อนของการกีดกันทางการค้าเพียงหนึ่งเดียวในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งบรรดาผู้นำโลก รวมทั้งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน กระตือรือร้นที่จะส่งเสริมคุณค่าของการค้าเสรีและข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคี

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกเมื่อช่วงเช้าวันดังกล่าว ประเทศสมาชิกที่เหลือ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ทีพีพี-11 ระบุว่า พวกเขาเห็นพ้องในองค์ประกอบหลักของข้อตกลง ในการประชุมนอกรอบการประชุมเอเปก หลังจากหลายวันของการเจรจาที่หยุดนิ่งที่จุดชนวนให้เกิดความกลัวว่า ข้อตกลงทีพีพีจะพังพาบไปทั้งหมด

Advertisement

บรรดารัฐมนตรีของกลุ่มทีพีพี-11 ระบุว่า ยังต้องมีการเจรจาต่อไปหลังจากนี้เพื่อบรรลุฉันทามติอย่างเต็มรูปแบบก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการให้ยาวมากขึ้นไปอีก เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ก้าวหน้าอย่างครอบคลุม (ซีพีทีพีพี)

นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น
/ AFP PHOTO / Anthony WALLACE

นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผู้นำการเจรจาของญี่ปุ่น ระบุว่า สมาชิกที่เหลือยังคงยินดีต้อนรับการกลับเข้ามาร่วมของสหรัฐ

“ในครั้งนี้ สมาชิกที่เหลืออยู่ 11 ประเทศ เห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าต่อ นับเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกที่

Advertisement

แข็งแกร่งให้กับสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” นายโมเตกิกล่าว
ด้านนายฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รัฐมนตรีการค้าแคนาดาทวีตข้อความว่าระบุว่าเป็น “พัฒนาการที่ยิ่งใหญ่”

นักวิเคราะห์ระบุว่า ข้อตกลงชั่วคราวที่เห็นพ้องกันในการประชุมที่ดานัง จะเป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ให้กับการค้าเสรีของโลกในช่วงที่สหรัฐหันหลังให้พวกเขา

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงของทีพีพี-11 ที่ปราศจากสหรัฐคิดเป็นเพียงแค่ 13.5 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก ขณะที่หากมีสหรัฐจะเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image