อะไรที่น่าเศร้ากว่าคำถามหกข้อ? : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คําถามรอบที่สองของนายกรัฐมนตรีต่อประชาชน คงจะยังเป็นประเด็นในสังคมอยู่ หลังจากที่เห็นการออกมาแสดงความคิดเห็นมากมายของนักวิชาการที่ออกมาแสดงความแคลงใจต่อเจตจำนงของนายกรัฐมนตรีและระบอบ คสช.ว่าจะอยู่ในอำนาจอีกนานแค่ไหน หลังจากได้เห็นคำถามเหล่านี้

นี่คือคำถามชุดที่สองที่นายกรัฐมนตรีทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล และหัวหน้าคณะรัฐประหาร (คสช.) ถามต่อประชาชนรอบ 6 เดือน

เพื่อไม่ให้ลืมเลือนไป ขอนำเอาคำถามทั้งหมดมาใส่ไว้ในนี้อีกรอบหนึ่ง

(1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

Advertisement

(2) หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

(3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง

(4) ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร (โพสต์ทูเดย์ 26/5/60)
และหกคำถามใหม่

Advertisement

(1) วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

(2) การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว

(3) สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

(4) การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่? เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่ คสช.และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่?

(5) รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่?

(6) ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร (BBC ไทย 8/10/60)

เมื่อเห็นคำถามชุดใหม่ของระบอบรัฐประหารที่ครองอำนาจเข้าปีที่สี่ และไม่มีความชัดเจนเรื่องวันและกระบวนการเลือกตั้งมากกว่าแค่ว่า ประมาณปีหน้า หรืออาจจะเลื่อนออกไป แถมยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง (แต่มีข่าวว่าเริ่มมีกลุ่มบางกลุ่มกำลังก่อตั้งและเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองในหลายๆ ที่โดยอ้างความเกี่ยวพันกับ คสช.) แถมยังไม่มีการปลดล็อกการให้เสรีภาพทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็คงไม่แปลกใจที่มีนักวิชาการหลายค่ายทั้งที่จะเห็นหรือไม่เห็นตรงกันในหลายเรื่องที่ผ่านมา ฟันธงร่วมกันว่า สงสัยจะอยากอยู่ต่อ

เรื่องแรกที่จะขอให้ความเห็นก็คือ รูปแบบการตั้งคำถามแบบนี้ เพราะคำถามแบบนี้ที่ตั้งโดยนายกฯและระบอบรัฐประหารน่าจะถูกเรียกในทางภาษาศาสตร์ว่า Rhetorical Question หรือที่เข้าใจกันว่า มันคือคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ หรือในสื่อโซเชียลจะค้นคำนี้ เขาอธิบายว่า เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ คือพูดลอยๆ ไปอย่างนั้น

ตัวอย่างของคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ หรือพูดลอยๆ หรือมันมีคำตอบอยู่แล้ว จะเสียเวลาตอบไปทำไม จงก้มหน้ารับกรรมต่อไป ตามที่ในเน็ตเขากล่าวๆ ไว้ ขออนุญาตไม่อ้างอิงนะครับ กลัวเขาเดือดร้อน แต่ดูอ้างอิงจากกูเกิลก็จะเจอทันที) ได้แก่การที่เจ้านายถามว่า

เจ้านาย : “ทำไมเดือนนี้พวกคุณดูไม่ค่อยมีผลงานกันเลย ?”
ลูกน้อง : “สงสัยจะเป็นเพราะ…. (ต่างคนแย่งกันตอบ)”
เจ้านาย : ผมไม่ได้ต้องการคำตอบ ผมต้องการตำหนิพวกคุณว่าไม่มีผลงานต่างหาก

อ่านดีๆ อีกสักรอบจะพบว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่พวกเราเคยเจอ คือ การพูดลอยๆ หรือตำหนิ หรือโทษพวกเรา หรือโทษเหยื่อ – blaiming the victims (เช่นเหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศ อาจโดนถามว่า ทำไมใส่ชุดที่ดูยั่วยวนขนาดนั้น ทั้งที่สิ่งนั้นไม่ใช่คำถาม ไม่ควรถาม และคนที่ละเมิดทางเพศไม่ควรจะมีสิทธิในการทำตั้งแต่แรก)

คำถามแบบหนึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งคำถามที่ต้องการคำตอบจริงๆ หรือคำถามลอยๆ ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่ต้องการตำหนิ หรือสื่อสารไปในทางอื่น ส่วนหนึ่งที่เราจะประเมินว่าคำถามนั้นเป็นแบบไหน ก็คือบริบทของการถามคำถามนั้น และความจริงใจในการถามคำถามนั้น และถ้าทั้งบริบทและความจริงใจในการถามคำถามนั้นยังไม่พอ ก็คงต้องดูเรื่องของกระบวนการได้มาซึ่งการประมวลผลคำตอบ

เท่าที่ผ่านมาจะพบว่า คำถามสี่คำถามแรกนั้นยังไม่มีการประมวลคำตอบออกมาอย่างเป็นระบบด้วยซ้ำ

สิ่งที่ต้องสงสัยต่อไป ก็คือ หกคำถามหลังนี้จะมีการประมวลคำตอบออกมาอย่างไร

ในการออกแบบคำถามในการวิจัยนั้น การตั้งคำถามที่ชัดเจนไม่คลุมเครือก็เป็นเรื่องสำคัญ คำถามทั้งหกมีลักษณะเป็นคำถามที่ชี้นำ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคำถามลอยๆ มากกว่าคำถามที่ต้องการคำตอบจริงๆ

ไม่นับว่าบรรยากาศของการตั้งคำถามนั้นไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเทียบเคียงกับปรากฏการณ์อะไรในอดีตได้ไหม คำตอบก็คือ เทียบเคียงได้กับการที่พลเอก สุจินดา คราประยูร สมัยเป็นแกนนำ จปร.ห้า และผู้บัญชาการทหารบก สมัยเรืองอำนาจเคยตอบคำถามติดตลกกับผู้สื่อข่าวท่ามกลางกระแสข่าวลือรัฐประหารว่า ถ้าอยากให้กองทัพแทรกแซงทางการเมืองโดยรัฐประหาร ก็ให้เขียนไปรษณียบัตรส่งมา ครบแสนฉบับแล้วจะพิจารณา

ยังดีที่พลเอกสุจินดาถามแค่อยากให้ทำหรือไม่อยากให้ทำ แต่คำถามอันแสนวกวน แถมมาด้วยทัศนคติของตัวเองมากมายมหาศาล คำถามแบบนี้ในทางวิชาการทางรัฐศาสตร์เขาไม่ถามกัน เป็นคำถามมติมหาชน นอกจากเขาไม่ถาม มันยังเป็นคำถามที่ถามไม่ได้

เพราะมันโชว์วิสัยทัศน์ของผู้ถามครับว่า… (เติมคำในช่องว่างเอาเองนะครับ หรือจะมองว่านี่คือ Rhetorical Answer ก็ลองดู)

ลองยกเอาคำถามที่นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารถามมาสักคำถามแล้ว “เปลี่ยนคำถาม” หรือ “ถามคำถามใหม่” อีกสักรอบ

(1) วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม

นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

แทนที่จะตอบ แต่ถามใหม่ตามสไตล์เดียวกับ “คำถามพ่วง” ตอนลงประชามติเมื่อปีที่แล้วก็จะกลายเป็นว่า ท่านเห็นชอบ/เห็นด้วยหรือไม่ กับคำถามที่สะท้อนถึงทัศนคติของนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร (คสช.) ที่ว่า วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?

อันนี้จึงเป็นคำถามที่ง่ายกว่าในการตอบ นั่นคือแทนที่จะต้องบอกว่าเราคิดอย่างไร ก็ให้เป็นการยืนยันว่าเห็นด้วยหรือไม่กับคำถามของนายกฯและ คสช. (หัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐประหาร) เพราะลึกๆ คำถามรอบนี้เป็นลักษณะของคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบอะไรมากกว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับคำถาม/ทรรศนะของ คสช.เหล่านี้”

ความซับซ้อนยอกย้อนในการตั้งคำถามสาธารณะที่ไม่ได้ต้องการคำตอบอะไรจริงจังมากกว่าการต้องการให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามมากกว่านี้ อาจจะลองย้อนกลับมาดูว่าในการลงประชามตินั้น คำถามพ่วงก็ซับซ้อนเช่นนี้

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ซึ่งคำถามแบบนี้มันโยงตรรกะว่า การที่สภาสองสภา คือสภาหนึ่งแต่งตั้งจาก คสช.ร่วมกันเลือกนายกฯ นายกฯที่ิอาจไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ มิพักต้องกล่าวว่า ในการเขียนแบบนี้นอกจากอาจมีนัยยะว่านายกฯคนนอกนั้นอาจมาจากเสียงข้างน้อยจากการเลือกตั้งบวกกับเสียงสนับสนุนจากคนของ คสช.ที่เลือกเข้าไปในวุฒิสภาแล้ว ยังอาจแปลได้ว่าการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติมีความสำคัญกว่าเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

จะเห็นว่าคำถามที่เต็มไปด้วยคำอธิบายมากมายเช่นนี้โดยไม่เปิดให้มีข้อถกเถียงทางสังคมอย่างเสรี นำมาซึ่งความสับสนมากมายในการเข้าใจคำถาม และในการได้คำตอบที่ตรงประเด็นจริงๆ

เรื่องที่น่ากังวลจึงไม่ใช่คำตอบของประชาชน แต่เป็นคำตอบในใจของรัฐบาล/คสช.มากกว่า เพราะคำถามที่สับสนและชี้นำแบบนี้ทำให้ประชาชนเกิดคำถามว่า “ตกลงคนถามมีอะไรในใจ” หรือคำถามแบบนี้เป็นคำถามลอยๆ ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบ และถ้าไม่ต้องการคำตอบแล้วต้องการอะไร เช่นต้องการอยู่ต่อเหมือนที่วิจารณ์กันมากมายตามหน้าสื่อ หรือต้องการคำตอบว่าจะหาทางลงจากอำนาจอย่างไร

หรือจริงๆ แล้วคนตั้งคำถามต้องการบอกว่าเขาคิดอย่างไร แล้วก็ฟังไว้นะว่าฉันจะคิดแบบนี้ ดังนั้นถ้าคิดต่างจากนี้ก็ให้เข้าใจแล้วกันว่าจะอยู่กับระบอบที่คนถามคำถามแบบนี้อยู่ในอำนาจและคิดแบบนี้ประกาศแบบนี้อย่างไร

สุดท้าย สิ่งที่น่าจะยืนยันได้ว่าคำถามเหล่านี้เป็นแค่คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามที่ต้องการบอกว่าฉันในนามของคนที่อยู่ในอำนาจคิดอย่างไร ก็คือทั้งรอบที่แล้วและรอบนี้ไม่มีการอธิบายว่าจะมีการประมวลคำตอบจากคำถามปลายเปิด แบบนี้อย่างไร (สมมุติว่าคำถามเป็นคำถามจริง)

ระบบราชการโดยศูนย์ดำรงธรรมจะสรุปคำตอบอย่างไร เช่นจะนับคำสำคัญ หรือจะใช้วิธีประมวลผลอย่างไร เพราะคำตอบไม่ใช่แค่ใช่หรือไม่ใช่ และจะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจได้ยินเสียงจริงๆ จากประชาชน

จากข่าวพบว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือด่วนให้จังหวัดสรุปการตอบแบบสอบถามและการแสดงความคิดเห็นรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบทุกสิบวัน (มติชน 11/11/60) คำถามคือความคิดเห็นเหล่านั้นจะถูกคัดกรองอย่างไร และนำเสนออย่างไรให้ผู้มีอำนาจเข้าใจ

ขณะที่สื่อต่างๆ ก็ไม่มีเสรีภาพ หรือถูกลากไปเป็นพวกในแม่น้ำหลายสาย และสื่อออนไลน์ก็ถูกติดตามและตีกรอบด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เข้าไปอีก

ในระบอบประชาธิปไตยเสรีนั้น เสียงทุกฝ่ายจะถูกได้ยินก่อนที่จะมีการตัดสินใจ และในระบอบประชาธิปไตยเสรีที่มีคุณภาพด้วยนั้น เสียงที่แตกต่างกันจะมีที่ทางในการต่อรองในการถกเถียงอภิปรายกันด้วย

น่าเศร้าเหลือเกินครับที่เราไม่มีสิ่งนั้นในวันนี้ …

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image