โครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต : โดย สมหมาย ภาษี

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Tramway) ที่ภูเก็ต ได้ออกเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ มาเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560 ทำให้มีการพูดถึงกันมากสำหรับนักธุรกิจและประชาชนชาวภูเก็ต ตามข่าวท่านผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเห็นเป็นรูปร่างชัดเจนแล้ว ขณะนี้เดือนกันยายนเข้าใจว่าเสร็จแล้ว พร้อมจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2561 ใช้เวลา 3 ปี

เหตุจูงใจให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการนี้ให้เป็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัดเป็นโครงการแรกในจังหวัดภูเก็ต เพราะได้เห็นว่าภูเก็ตเศรษฐกิจกำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 15 ล้านคน จึงได้บรรจุโครงการนี้เข้าเป็นหนึ่งโครงการในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศระยะเร่งด่วน ปี 2560 ซึ่งมีทั้งหมด 36 โครงการ วงเงินลงทุน 8.9 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้ารางเบานี้ สนช.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม อีกทั้งได้ทำการสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่ไม่เอาระบบลอยฟ้า เพราะกลัวบดบังทัศนียภาพเมือง จึงได้ข้อสรุปว่า ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมก็คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบาทำเป็นรางคู่ระดับดิน ตลอดแนวเส้นทางบนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี โดยส่วนใหญ่จะวางรางไปตามเกาะกลางของถนนเทพกระษัตรี โดยเส้นทางเริ่มจากท่านุ่น-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร มีทั้งหมด 24 สถานี

Advertisement

ตามผลการศึกษาจะมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท ค่าโดยสารมาตรฐาน 18 บาท บวกด้วย 2.5 บาท/กม. สำหรับระยะทางที่เพิ่ม เฟสแรกจะทำจากท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง รูปแบบการลงทุนเป็นแบบ PPP โดยจะมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ

โครงการนี้ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ใครๆ ได้ฟังแล้วเห็นว่าดีเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะคนภูเก็ตด้วยแล้ว อยากเห็นโครงการเป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว เกิดมายังไม่เคยเห็นรถไฟฟ้ารางเบา เสร็จเมื่อไหร่จะรีบขึ้นเอาฤกษ์ไปกลับเสียที

ทางขึ้น-ลงฝั่งป่าตอง
ทางขึ้น-ลงฝั่งกะทู้

แต่ผู้เขียนเองซึ่งเป็นคนภูเก็ตมาแต่กำเนิด เรียนหนังสือที่ภูเก็ตจนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อทำงานแล้วก็มีการเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดเป็นประจำบ่อยครั้ง กลับเห็นว่าโครงการนี้ทำผิดอีกแล้ว สนข.หรือสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรคงซ้ำรอยเดิมแบบ “โครงการแอร์พอร์ตลิงก์” ซึ่งไม่ใช่จะเจ๊งลูกเดียวเท่านั้น แถมตัวโครงการก็ดูไม่ได้ ความไม่ปลอดภัยก็สูง ความสะดวกของผู้โดยสารที่จะขึ้นลงเข้าไปใช้รถไฟฟ้าก็ไม่ค่อยดี และปัญหาอีกจิปาถะที่ไม่อยากจะบรรยายในที่นี้

Advertisement

ที่ไม่เห็นด้วยข้อแรก ก็คือ การใช้เกาะกลางถนนเทพกระษัตรีไปวางรางคู่ และตัวสถานีของรถไฟฟ้ารางเบา โดยต้องไปใช้พื้นที่จราจรของถนนในปัจจุบันอีกข้างละ 1-2 เมตร ทำให้ถนนเทพกระษัตรีซึ่งเป็นถนนสายหลักระหว่างสนามบินกับแหล่งท่องเที่ยว และทั้งเป็นถนนสายหลักระหว่างเมืองคือ จากทุกเมืองที่ผ่านสะพานเทพกระษัตรีเข้ามาภูเก็ต ไม่ว่าจะขนสินค้า ขนเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง ขนดินทรายและสารพัดสินค้าต้องผ่านทางสายนี้หมด ซึ่งทุกวันนี้ถนนสายหลักนี้ก็มีการจราจรติดขัดจนน่าเบื่อมากอยู่แล้ว เมื่อผิวจราจรเล็กลง การติดขัดก็จะยิ่งมีมากขึ้น ทิวทัศน์ที่จะให้ผู้โดยสารในรถไฟฟ้ารางเบามองออกมานอกหน้าต่างก็จะเป็นภาพรถราติดขัดตลอดเส้นทาง ไม่เหมือนรูปสวยหรูที่เห็นในตัวนำเสนอโครงการหรอก นี่คือข้อแรก

ที่ไม่เห็นด้วยในเหตุผลข้อที่สอง ก็คือ สนข.และบริษัทที่ปรึกษาที่มารับจ้างทำงานนี้ ไม่ได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตของคนภูเก็ตเลย กล่าวคือ คนภูเก็ตเป็นคนง่ายๆ ชอบความสะดวกสบายเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ชาวบ้านภูเก็ต ทุกบ้านมีรถมอเตอร์ไซค์ สมาชิกในครอบครัวแทบจะมีรถมอเตอร์ไซค์คนละคัน แถมบางบ้านยังมีรถยนต์ส่วนตัว ดังนั้น เวลาไปไหนมาไหนเขาไม่มีทางที่จะมาใช้รถไฟฟ้าซึ่งวิ่งตรงทื่ออย่างนั้น เพราะเมื่อลงปลายทางเขาจะไปตลาดสด จะไปทำธุระในที่ต่างๆ เขาจะไม่มีพาหนะใช้ เขาไม่ใช้หรอกครับรถไฟฟ้าแบบนี้ นอกจากวันเสาร์-อาทิตย์ไหนว่างๆ ต้องการพาลูกหลานเที่ยวบ้างก็จะขึ้นรถไฟฟ้าเที่ยวไปกลับสักครั้ง แต่ในชีวิตประจำวันปกติรับรองว่าจะใช้กันน้อยมาก

ยิ่งกว่านี้ บริษัทที่ปรึกษาก็ตาม หรือผู้เป็นต้นเรื่องอย่าง สนช.ก็ตาม ได้มีความรู้บ้างไหมครับว่าเมืองไทยเขาใช้รถไฟฟ้ารางเบา ที่เรียกว่า Tram นี้ ที่มีเส้นทางเดี่ยวโดดๆ อย่างนี้ ยาวถึง 60 กม.บ้างไหม ปกติตามตัวอย่างที่เคยเห็น เช่น ที่เมืองเพิร์ท (Perth) ในออสเตรเลีย หรือเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ซึ่งเป็นแบบยกระดับ ที่แคนาดา หรือในเมืองต่างๆ ในยุโรป ไม่เห็นมีประเทศไหนเขามีเส้นทางยาวกว่า 20 กม.สักแห่ง เพราะรถไฟฟ้าแบบนี้วิ่งไม่เร็ว ขนผู้โดยสารได้ไม่มาก แต่ต้องผ่านชุมชนหนาแน่นตลอดจึงจะคุ้ม

เหตุไม่เห็นด้วยประการที่สาม คือโครงการใดที่ส่งให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) ทำ มักจะมีต้นทุนโครงการที่สูงเกินเหตุ อย่างโครงการนี้ที่ทำท่าเอาจริงเอาจังกันมาก ก็คือต้องคิดกันไว้ก่อนว่า จะต้องมีแรงจูงใจมาจากนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้ารางเบาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือจากกลุ่มนักปั้นโครงการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อสมัย 35 ปีที่แล้ว ก็ยังเคยมีบริษัทผลิตรถไฟฟ้ารางเบารายใหญ่รายหนึ่งจากประเทศฝรั่งเศส เข้ามาวิ่งล็อบบี้กับรัฐบาลไทย เพื่อให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยทำโครงการแบบนี้มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสมัยนั้นนายกรัฐมนตรีของไทย คือ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ครับ

ประการที่สี่ คือ ผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการคิดไม่ถึง หรือไม่ศึกษาให้รู้ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศทั้งหลายที่มาเที่ยวที่เกาะภูเก็ต ถ้าเขาจะเดินทางจากหรือไปสนามบินกับโรงแรมที่เขานิยมพักตามชายหาด เขาจะใช้รถไฟฟ้ารางเบานี้หรือ เพราะต้องลงรถไฟฟ้าจุดใดจุดหนึ่งแล้วขนกระเป๋าเดินทางลง จากนั้นก็รอรถจากโรงแรมมารับ หรือรอเรียกรถแท็กซี่ เช่น นักท่องเที่ยวจะไปพักโรงแรมแถวหาดกะตะ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ก็ต้องไปลงที่สถานีห้าแยกฉลองซึ่งอยู่สุดท้าย เพราะต้องนั่งรถไฟฟ้ารางเบานี้ผ่านไปถึง 18 สถานี แล้วค่อยไปขึ้นรถตู้ไปโรงแรมอีกช่วงหนึ่ง อย่างนี้นักท่องเที่ยวประเทศไหนจะใช้บริการนี้ ก็คงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ไม่ใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไปสนามบินสุวรรณภูมิในทุกวันนี้ ตัวอย่างเหล่านี้และยังมีอีกหลายโครงการแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดว่า ประเทศไทยนั้นทำโครงการใหญ่ๆ ขึ้นมา โดยมีสิ่งจูงใจหรือมีเหตุผลให้ต้องทำจากปัจจัยแปลกๆ อย่างอื่น แต่ไม่ใช่โดยความเหมาะสม (Merit) ของโครงการสักเท่าใด

ถ้าหากผู้รับผิดชอบของบ้านเมืองมีความตั้งใจและคิดจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตในด้านการคมนาคมขนส่งที่ดี ก็ยังมีวิธีอื่นที่ทำได้ โดยใช้เงินลงทุนน้อยกว่ามาก เช่น ทำการเชื่อมต่อถนนบางสายที่ต้องทำเพียง 2-3 กม. หรือมากกว่านี้ก็ไม่มาก ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ตัวอย่างเช่น ถนนจากวัดหลวงปู่สุภา ที่จ่อจะทะลุหาดป่าตองด้านทิศใต้ เป็นต้น หรือถนนของท้องถิ่นที่แคบ แต่รถยนต์นิยมใช้เป็นทางลัดมาสนามบิน ก็ให้งบขยายเขตถนนเสียบ้าง คงใช้เงินลงทุนไม่มาก ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้ทางแขวงการทางจังหวัดภูเก็ตได้ทำโครงการเสนอไปส่วนกลางนานพอควรแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจจากกรมทางหลวงชนบท หรือกรมทางหลวงแผ่นดินเท่าที่ควร ไม่เข้าใจว่าทำไมถ้าให้คิดก็คิดออกอยู่อย่างเดียว คืองานเหล่านี้ใช้งบน้อยไป สิ่งจูงใจไม่พอที่จะเรียกน้ำย่อยของผู้เกี่ยวข้อง

หากจะใส่วิสัยทัศน์แบบเจ๋งๆ หน่อยเข้าไป ก็หาโครงการทำได้ไม่ยาก ที่จะทำได้คือการส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ โดยการสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็กให้เรือรับส่งผู้โดยสารชาวต่างประเทศได้ จุดหมายของสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ตส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะด้านทะเลอันดามัน จากสนามบินไล่เรียงกันไปก็มีตั้งแต่หาดบางเทา หาดสุรินทร์ หาดกมลา หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกะตะ และหาดไนหาน ถ้ามีการสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็กให้ท่าละแห่ง รวมทั้งที่หาดหน้าสนามบินหนึ่งแห่งก็จะเชื่อมกันได้หมด การสร้างท่าเรือเล็กๆ อาจทำให้บางจุดมีผลต่อปะการังบ้าง แต่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติคงไม่เข้มมากเกินไป หรือจะทำให้เท่หน่อย เจาะอุโมงค์ให้นักท่องเที่ยวนั่งรถแบบรถกอล์ฟ พอขนสัมภาระได้ลอดสนามบินเป็นอุโมงค์ไปที่ท่าเรือก็ยังได้ ทำโครงการแบบนี้ใช้เงินน้อยกว่ารถไฟฟ้ารางเบาเป็นไหนๆ

เชื่อเถอะครับ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสียใหม่ โดยบริษัทที่เชี่ยวชาญจริงๆ ก็จะได้ผลออกมาว่าเสียของ นี่โชคดีอยู่อย่างหนึ่งที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการลงทุนโครงการนี้ว่าต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่เรียกว่า Public Private Partnership (PPP) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลลงทุนให้ส่วนหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปก็ออกค่าที่ดินให้ ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างโครงการจนเปิดดำเนินการนั้น เอกชนผู้ร่วมทุนจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด อย่างเช่นโครงการนี้เชื่อว่าจะหาเอกชนที่มีทั้งเงินทุนและปัญญามาร่วมด้วยยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image