สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี สถ. เคลียร์ปมเลือกตั้งท้องถิ่น

เสียงปี่กลองด้านการเมืองเริ่มบรรเลงขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเริ่มขยับ ส่อว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นมาก่อนการเลือกตั้งสนามใหญ่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงความพร้อม และสิ่งที่ต้องทำหากรัฐบาลกำหนดในมีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

๐ความพร้อมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตามกฎหมาย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้เป็นคนดำเนินการจัดเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงแต่ว่ากฎหมายได้เปิดช่องว่าในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.อาจจะจัดเอง หรืออาจมอบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการก็ได้ หาก กกต.มอบให้หน่วยงานอื่นจัดการ คงเป็นกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กกต.จะมอบหรือไม่มอบอะไรอย่างไร แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา กกต.ก็มอบให้เราเป็นผู้ดำเนินการ

เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ยังไม่มีความชัดเจน เราทราบเพียงจากข่าวที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าอาจมีการเลือกตั้งของท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งในระดับชาติ การเลือกตั้งระดับชาติก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร อาจจะรู้คร่าวๆ ว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเห็นว่ายังมีเวลาอีกมาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย มีการเตรียมกฎหมายเพื่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แก้ในส่วนของคุณสมบัติของผู้สมัครต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อกำหนดที่สำคัญว่าจะต้องดูคุณสมบัติของผู้นำท้องถิ่น ในมาตรา 252 กำหนดว่า ผู้แทนหรือผู้นำของท้องถิ่นจะมาจากการเลือกตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ส่งผลเสีย มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือว่าผลประโยชน์ขัดแย้ง ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะคุณสมบัตินี้กำหนดคล้ายๆ ส.ส.

กฎหมายที่เราต้องมาพิจารณามี เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ร.บ. เทศบาล พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

Advertisement

๐นอกจากกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ยังมีส่วนอื่นที่ต้องพิจารณาก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกหรือไม่
มีข้อเสนอที่เรารับมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คือการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น โดยเสนออยากให้รวมเป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่น ที่จะรวม อบต. อบจ. เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เข้ามาอยู่ในประมวลกฎหมายฉบับนี้ ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินว่ามีการเสนอแนวคิดปรับ ควบรวม ยุบ องค์กรต่างๆ ทั้งหมดจะอยู่ในประมวลกฎหมายท้องถิ่นฉบับนี้

๐ประมวลกฎหมายท้องถิ่นจะมุ่งเน้นไปที่อะไร
สถ.ในฐานะผู้ปฏิบัติเห็นว่า อปท.บางส่วนมีปัญหา เช่น จำนวนสมาชิกของ อบต. มีมากและน้อยเกินไป บางตำบลมี 27 หมู่บ้าน จึงต้องมีสมาชิก 54 คน ถือว่าเป็นจำนวนเยอะมาก และมีผลเสียเนื่องจากฐานะการเงินการคลังของ อบต.นั้นไม่ดีเท่าที่ควร และหากนำเงินไปจ่ายงบประมาณประจำหมด คงไม่ไหว การพัฒนาแก้ไขปัญหาจะทำได้น้อย และจำนวนสมาชิกมากเกินไป ก็จะมีปัญหาในการทำงาน คุยกันไม่รู้เรื่อง

นอกจากนี้ยังมีบางตำบลมีอยู่ 2-3 หมู่บ้าน ถือว่าน้อยเกินไปสำหรับการตั้งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีนายก อบต. รองนายก อบต. ปลัด เจ้าหน้าที่ และอื่นๆ ดังนั้น เราจึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยน แต่รัฐบาลจะเห็นอย่างไรนั้นยังไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้เราต้องการประมวลกฎหมายท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางส่วน ในรายละเอียดจะอยู่ที่รัฐบาล หากบางส่วนยังจะให้เหมือนเดิม เช่น กทม. เมืองพัทยา จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ทันที หลังแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร มีไม่กี่มาตรา
ดังนั้น ถ้าถามใจกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมคงต้องการให้ประมวลกฎหมายฉบับใหม่มีความชัดเจนก่อน

๐แนวทางในการปรับ อบต.จะเป็นอย่างไร
มีหลายรูปแบบ โดยเป็นข้อเสนอจาก สปท.และส่วนอื่นๆ แต่ทุกรูปแบบยังไม่ตกผลึกเพราะผู้จะเคาะเรื่องนี้จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่กรม แต่ยังมีกระทรวง ครม. ต้องพิจารณาอีก แต่ที่เราต้องเสนอก็เพราะเห็นว่าองคาพยพของ อบต.นั้นใหญ่ไป เกินกำลังบุคลากรมีมากเกินไป สุดท้ายจะไปไม่ไหว

๐ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้ อบต.ยกระดับเป็นเทศบาล
มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่กรมจะเสนอเพียงหลักการกว้างๆ ให้กระทรวงได้ช่วยระดมสมอง วันนี้ก็มี อบต.ตำบลวังเหนือ ที่ จ.ลำปาง ได้รวมกับเทศบาลตำบลวังเหนือ เพราะมีปัญหาอย่างที่กล่าวมา คือคนน้อย ชาวบ้านจึงเสนอให้รวมกันดีกว่า ปัจจุบันยังมีอีกมากที่ชาวบ้านเห็นว่าจะต้องรวมกัน

๐คาดว่าประมวลกฎหมายท้องถิ่นจะแล้วเสร็จเมื่อใด
ในเดือนพฤศจิกายนนี้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของกรม แต่ยังมีขั้นตอน
อื่นๆ อีก เช่น ส่งให้ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงตรวจสอบ ก่อนทำความเห็นเสนอปลัด เสนอรัฐมนตรี ระหว่างทางคงต้องมีการปรับแก้ เพราะยอมรับว่าไม่เก่งในการยกร่างประมวลกฎหมาย เราทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านกระทรวงมหาดไทยได้ในเดือนธันวาคม ก่อนเสนอให้ ครม.ได้พิจารณาในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2561 และ ครม.จะส่งให้ สนช.ต่อไป

๐ถ้ารัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ คิดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เมื่อไร
ต้องดู 2 อย่างประกอบกัน 1.เรื่องที่อาจเห็นว่าต้องคงไว้ เช่น รูปแบบของ กทม. เมืองพัทยา อบจ. เหล่านี้แก้เฉพาะประเด็นคุณสมบัติของผู้สมัครให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ 2.เรื่องที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่น อบต.อาจต้องรอการพิจารณาก่อนหรือไม่ก็ได้

๐เพราะอะไรรัฐบาลจึงต้องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ
คิดว่าตรงตามหลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประชาธิปไตย ส่งเสริมการเลือกตั้งกับประชาชน เพราะการจะเรียนรู้นั้นก็ต้องเริ่มจากเล็กๆ ก่อน นอกจากประชาชนจะได้เรียนรู้แล้ว คนทำงานเองจะมีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนด้วยเช่นกัน เหมือนกับที่ผมได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลปัญหาขยะ การแก้ไขปัญหาก็ต้องเริ่มจากตัวเอง ครอบครัว ต่อด้วยชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ฯลฯ เพราะถ้าเริ่มจากเรื่องใหญ่ก่อน ก็อาจมีปัญหาติดขัดได้ ทั่วประเทศมี อปท.ตอนนี้ทั้งหมด 7,852 แห่ง รวม กทม.และพัทยาแล้ว ทั้งหมดเลือกตั้งพร้อมกันได้ แต่จะทำอย่างนั้นให้ปวดหัวไปทำไม ดังนั้นจึงจะต้องทยอยเลือกตั้งทีละระดับ ถามว่ากาที 4 ใบ กับกาครั้งละใบ อะไรจะดีกว่ากัน บางทีเราจะต้องยอมเสียเวลาบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ป้องกันความสับสนด้วย

๐เรื่องคุณสมบัติใหม่ที่ค่อนข้างจะยากกว่าเก่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่
เขาต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องยอมว่าคนจะมาเป็นตัวแทนในระดับท้องถิ่นก็ควรเป็นคนที่มีคุณสมบัติมากกว่าชาวบ้านเขาหน่อย ดังนั้น ผมว่ายอมรับได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด แต่มาตรา 252 ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด กฎหมายลูกของท้องถิ่นจึงต้องระบุ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เราต้องทำ ควรทำกฎหมายแม่ให้เรียบร้อย กำหนดคุณสมบัติให้เรียบร้อย คนที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดยิ่งดีสำหรับประชาชน คนที่คุณสมบัติไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้มาสมัคร ชาวบ้านอาจจะมีตัวเลือกน้อยลง แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีๆ

๐แต่จะทำให้สรรหาคนเข้ามายาก
ไม่ยากหรอก ประเทศไทยเราคนดีๆ เยอะ ส่วนคนที่คุณสมบัติไม่ครบสามารถเป็นผู้สนับสนุนผู้ที่มีคุณสมบัติได้ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่หัวเดียวกระเทียมลีบ แต่มีพวกได้ เพียงแต่กฎหมายต้องการให้คนที่มีคุณสมบัติมาเป็นผู้แทนเพราะต้องรับผิดชอบคนจำนวนมาก

๐ขณะที่ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะให้ดำเนินการเลือกตั้งได้เมื่อใดทางกรมจะมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง
สถ.ทำหน้าที่ของเรา เช่น ประมวลกฎหมายท้องถิ่น งานในหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ศึกษาหาความรู้ซึ่งเราไม่ได้ถือตัวว่าเราเป็น สถ. ก็ประสานขอความรู้จาก กกต.เป็นระยะอยู่ตลอด ในขณะเดียวกันแม้จะยังไม่แน่นอนว่าเราจะได้ทำงานนั้น หรือไม่ได้ทำงานนั้น แต่เราก็ต้องมานั่งคิดก่อนว่า ถ้าเป็นเราทำ เราจะทำอย่างไร ก็ต้องมีการระดมสมอง และพูดคุยกัน โดยเราต้องวางแผนว่าหากได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องดูเรื่องอะไรบ้างก็ทำการบ้านตลอด สถ.ต้องพร้อมตลอด ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ให้มีข้อผิดพลาด

๐มีเสียงสะท้อนจากท้องถิ่นอย่างไรบ้างในเรื่องของการเลือกตั้ง
ท้องถิ่นเขาก็อยากเห็นความชัดเจนของประมวลกฎหมาย เพราะท้องถิ่นเองเขารู้ว่ามีการเสนอให้มีการปฏิรูป คิดว่าอีกไม่นานก็ชัด ทั้งนี้ เรื่องการเลือกตั้ง หากพูดโดยรวมเขาก็อยากเลือกอยู่แล้วเพราะว่าตอนนี้เขาพ้นตำแหน่งและยังรักษาการอยู่ คนที่แพ้ครั้งที่แล้วก็อยากมาแก้มือ ผมก็อนุมานเอาว่า เขาก็อยากให้มีความชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แล้ว
กติกาจะว่าอย่างไรก็ว่ากัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image