เปิดใจ ‘ธีธัช สุขสะอาด’ž ฝ่ามรสุมยางพาราดิ่งเหว ท่ามกลางสารพัดข่าวลือ

เรียกได้ว่า ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง กับปัญหาราคายางพาราที่กลับมาตกต่ำ และร่วงลงอย่างหนัก สร้างความไม่พอใจให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง จนนำสู่การรวมตัวขับไล่ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลยางทั้งประเทศ

ท่ามการกระแสข่าวลือ ข่าวปล่อยถึงความไม่โปร่งใสของการบริหารงานของ กยท. ที่ส่งผลให้ราคายางดำดิ่งอย่างหนัก และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน อย่าง 5 เสือผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์ในฐานะญาติสนิทของบิ๊กทหารในรัฐบาลชุดนี้ จึงทำให้ยึดเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นไม่ไปไหน มติชนŽ จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ นายธีธัชŽ เพื่อเคลียร์ชัด ทุกประเด็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าในขณะนี้

๐รู้สึกอย่างไรที่เกษตรกรชาวสวนรวมกลุ่มเพื่อขับไล่พ้นจากตำแหน่ง
ตั้งแต่วันที่ผมอาสามารับหน้าที่นี้ก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจเตรียมความรู้สึกไว้แล้วเหมือนกัน เรื่องของยางเป็นเรื่องที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก ทุกคนที่อยู่รอบตัวก็พูดอยู่แล้วว่า ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องรับมือให้ได้ ผมคงไม่ไปตอบโต้ด้วยอารมณ์และความรู้สึก แต่ผมจะตอบด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง หรือตัวเลขสถิติ ซึ่งหลายครั้ง อาจจะไม่ตรงใจผู้ถามบ้าง แต่ขอยืนยันว่า นี่คือบทบาทของผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ ผมคงไม่สามารถที่จะไปตอบด้วยความรู้สึก หรือทะเลาะกับใครก็ตามที่มีความเห็นขัดแย้ง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นมากๆ ในฐานะการเป็น
ผู้บริหารก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำ และอาจไปสร้างกลไกที่บิดเบือนส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นกับตลาด ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือ การไม่ตอบโต้ และขอยืนยันว่า ผมไม่ได้ถอดใจ และก็พร้อมทำหน้าที่ต่อไปตามวาระที่มีอยู่

๐ขอให้ประเมินผลงานของตัวเองหลังจากรับตำแหน่งมาแล้วเกือบ2ปี
ในการเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ จะมีระบบประเมินอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ผมก็ได้เข้ารับการประเมินผลงานไปแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ 1 เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ต่อจากนั้นก็มีการประเมินทุกๆ 6 เดือน รวม 2 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งผมก็ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เนื่องจากทำงานเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจทั้งการจัดการองค์กร การจัดการเชิงสังคม รวมถึงการพัฒนารายได้ให้องค์กร โดยหากจัดคะแนนเป็นเกรด ผมก็จะอยู่ในระดับดีถึงดีมากมาโดยตลอด รวมทั้งในส่วนของ กยท.เอง ก็จะต้องมีการประเมินเหมือนกันผ่านคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. ซึ่งผมก็ผ่านการประเมินทุกครั้ง

Advertisement

๐มีคนมองว่าเพราะเป็นญาติกับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท. และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
อยากให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่มีการปล่อยข่าวหรือไม่ และหากเป็นจริงตามนั้นค่อยมาพูดกัน แต่ถ้าไม่เป็นจริงตามนั้น คนที่ออกมาพูดหรือปล่อยข่าว ควรที่จะรับผิดชอบคำพูดของตนเอง ผมขอยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในฐานะเครือญาติกับทั้ง พล.อ.ฉัตรเฉลิม และ พล.อ.ฉัตรชัยเลย ผมมารู้จักกับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม ครั้งแรกก็ตอนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ กยท. และอยู่ดีๆ ผมก็ถูกโยนให้มาเป็นเครือญาติกับ พล.อ.ฉัตรชัยอีก เริ่มไปกันใหญ่
แล้ว

๐กระแสข่าวความไม่ลงรอยกันระหว่างคณะผู้บริหาร กยท. กับบอร์ด กยท. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ไม่เป็นความจริง ผมทำงานกับบอร์ดมาด้วยความราบรื่น เกือบจะครบ 2 ปีแล้ว ซึ่งบอร์ด กยท.ที่มีการตั้งขึ้น ถือว่าค่อนข้างครบและรอบด้าน มีทั้งตัวแทนจากภาคเกษตรกร ภาคเอกชน ฝ่ายราชการ ทั้งจากกระทรวงการเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยทุกคนทำงานเป็นทีมเดียวกัน เมื่อบอร์ดออกนโยบายอะไรมา ทาง กยท.ก็พร้อมนำไปปฏิบัติ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร บอร์ดก็พร้อมประชุมนัดพิเศษ เพื่อออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ดังจะเห็นได้จากสัปดาห์ที่ผ่านมา บอร์ดก็ได้เรียกประชุมนัดพิเศษ จากเดิมที่จะมีการประชุมกันเฉพาะพุธที่ 3 ของเดือนเท่านั้น

๐เหตุใดราคายางร่วงหนักกว่าเดิมทั้งที่จัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ขึ้นมาดูแลแล้ว
ในบริษัทดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการ 5 เสือการยาง เป็นเพียงผู้ที่ร่วมก่อตั้ง และลงเงินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าซื้อยางในตลาดแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น การที่เข้าใจว่า บริษัท 5 เสือจะได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อในแต่ละวัน ไม่เป็นความจริง กยท.ไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของ 5 เสือ ทาง 5 เสือไม่มีทางรู้เลยว่า วันนี้บริษัทจะเข้าซื้อยางหรือไม่ และจะเข้าซื้อในตลาดใดบ้าง เนื่องจากในการตัดสินใจซื้อขายยางจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาเสถียรภาพยาง ภายใต้บอร์ด กยท.ชุดใหญ่ เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งในคณะอนุกรรมการดังกล่าวก็ไม่ได้มีตัวแทนจาก 5 เสือนั่งเป็นกรรมการด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า 5 เสือจะไม่มีทางรู้ความเคลื่อนไหวในการซื้อขายยางของ กยท.อย่างแน่นอน และหากถามว่า 5 เสือได้อะไรจากการลงขันตั้งบริษัทครั้งนี้ ผมคิดว่า ในเมื่อ 5 เสือมีมากกว่า ก็ควรที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับคนที่มีน้อยกว่า 5 เสือเองก็คงมองเห็นว่า วงจรของธุรกิจยางต้องไปด้วยกัน ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกปลูกยาง เนื่องจากราคายางตก ทาง 5 เสือก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มียางให้ซื้อ พอไม่มียางก็คงทำธุรกิจต่อไปได้ยาก

Advertisement

ทั้งนี้ หากไปดูในสถิติจะเห็นได้ชัดว่า การเข้าซื้อของ กยท.ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณประมาณ 15,000 ตัน ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ช่วยยกระดับราคายางพาราได้จริง ราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอก ทั้งความผันผวนของตลาดโลก ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาด อาทิ โตเกียว เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ รวมถึงปริมาณยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคายางกลับมาร่วงลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีกระบวนการเข้าซื้อยาง ในราคานำตลาดของบริษัท ราคายางอาจลงเร็วกว่านี้ตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้วก็ได้

ซึ่งในส่วนของหลักการเข้าซื้อยางของบริษัท ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินการเข้าซื้อจะดำเนินการผ่านตลาดกลางยางพาราเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางในการกำหนดราคายางทั้งประเทศ สมมุติว่าปัจจุบัน ราคายางปิดที่ 47 บาท/กิโลกรัม (กก.) ในวันต่อมาบริษัทก็จะเข้าซื้อยางในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 50 สตางค์ เป็น 47.5 บาท/กก. เพื่อเป็นราคานำตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการที่ต้องการยางก็จำเป็นจะต้องเสนอราคาให้สูงขึ้นไป เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ราคายางก็อาจจะกระโดดสูงขึ้นมาที่ 48 บาท/กก. ดังนั้น วิธีการดังกล่าว จึงถือเป็นวิธีการที่ดันราคายางได้ผลจริง และหากชาวสวนไปขายยางให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น โดยคิดราคาต่ำกว่าตลาดกลาง ก็อาจต่อรองพ่อค้าเพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้นได้ และหากการต่อรองไม่เป็นผล ก็อาจเก็บไว้ เพื่อไปขายตลาดกลาง ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น ท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะไปตกกับเกษตรกร ซึ่งในการดำเนินการของบริษัท กยท.ยืนยันว่า ไม่มีแนวทางที่จะยกเลิก และยังคงเดินหน้าต่อไป

๐มาตรการการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศไปถึงไหนแล้ว หรือแค่ขายผ้าเอาหน้ารอด
ผมก็ต้องถามก่อนว่า ณ วันนี้ เราช่วยกันมากแค่ไหน เราไปคาดหวังให้คนอื่นทำ แต่ตัวเราเองทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ณ วันนี้ เราบอกว่าภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างในการเริ่มต้น ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน และภาคประชาชนก็สามารถดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เช่นเดียวกัน วันนี้ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้วในการตั้งงบประมาณให้กับหน่วยงานที่จะเอางบไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ของตนเอง อย่างกรมชลประทานนำไปดำเนินการแล้วในการนำยางไปทำถนน ไหล่ทางบริเวณอ่างเก็บน้ำต่างๆ ขณะที่กรมทางหลวง กยท.ก็เพิ่งลงนามร่วมกันในการผลิตเรื่องเสาหลักนำทาง ประมาณ 150,000 ต้น ใช้ยางประมาณ 4,000 ตัน งบประมาณ 400 ล้านบาทซึ่งสามารถดำเนินการได้เลยภายใน 6 เดือน นอกจากนี้ ยังมีแบริเออร์ แผ่นปูพื้น ขอบถนน ที่กำลังจะดำเนินการต่อ รวมถึงมีการพูดคุยกับกรมที่ดิน ในการนำยางไปทำบ่อเก็บน้ำในช่วงภัยแล้ง ซึ่งขอยืนยันว่า ไม่ได้หยุดนิ่ง เพียงแต่หลายคนอาจจะมองภาพว่า การใช้ยางต้องเอาไปทำถนน โดยในส่วนนี้ก็มีการดำเนินการอยู่เหมือนกัน อย่างการนำยางไปผสมเป็นซอยซีเมนต์ ใน จ.ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี การนำยางไปราดเป็นซับเบสพื้นถนน ทั้งนี้บางทีหน่วยงานราชการก็กำลังดำเนินการอยู่ แต่อาจมีขั้นตอนที่ต้องทำไปตามระเบียบ ต้องมีมาตรฐานรองรับ กยท.ก็ได้สนับสนุนให้เงินวิจัย เพื่อให้เกิดการทดสอบมาตรฐาน เมื่อมีมาตรฐาน ก็สามารถนำไปสู่การจัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งหมด กยท.ไม่ได้อยู่เฉยๆ ยังคงขับเคลื่อนมาตรการที่มีอยู่ และทยอยออกมาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับรายได้ให้แก่พี่น้องชาวสวนยาง ภายใต้เป้าหมายคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image