ศูนย์แห่งความโปร่งใส ความจริงใจจาก “แคสเปอร์สกี้ แลป”

ท่ามกลางโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภัยคุกคามอันเกิดจากเทคโนโลยีก็มีตามมาเป็นเงา ขณะที่การตามล่าตัวที่ก่อจารกรรมบนโลกไซเบอร์ ก็ดูจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก การพยายามป้องกันตัวจากภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพึงระลึกถึงอยู่เสมอ

ในการแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของแคสเปอร์สกี้ แลป ประเทศไทย ที่เปิดตัวแอนตี้ไวรัส แคสเปอร์สกี้ 2018 มีข้อมูลที่น่าสนใจจากแคสเปอร์สกี้ ซีเคียวริตี้ เน็ตเวิร์ก หรือเคเอสเอ็น ที่ระบุว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2560 ผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ แลป สามารถตรวจจับเหตุการณ์ที่เกิดจากมัลแวร์อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยได้ถึง 2,947,918 เหตุการณ์ โดยรวมแล้วมีผู้ใช้งานในประเทศไทยอยู่ถึง 17.6 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกโจมตีในช่วงเวลาดังกล่าว

นายสเตฟาน นิวไมเออร์ กรรมการผู้จัดการ แคสเปอร์สกี้ แลป เอเชียแปซิฟิก ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 5 เดือน เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกโจมตีบนโลกไซเบอร์มากที่สุด โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ของโลกที่ถูกโจมตีจากการท่องเว็บไซต์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการใช้งานอินเตอร์เน็ต

โดยผลิตภัณฑ์ Kaspersky Total Security และ Kaspersky Internet Security รุ่นล่าสุด จะช่วยปกป้องการใช้งานต่างๆ ภายในบ้านสมัยใหม่ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

Advertisement

ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นตลาดที่สำคัญอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ผู้คนหันมาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลกันมากขึ้น ซื้อของออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้คนตระหนักถึงความปลอดภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุ แรนซัมแวร์ วอนนาคราย ทำให้ผู้คนหันมาใช้ซอฟต์แวร์เพื่อปกป้องข้อมูลของตัวเองมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก

นายสเตฟานบอกว่า ในเรื่องของความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในประเทศไทยนั้น อาจจะยังไม่ได้มากพอ แต่ก็ไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียว เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นเหมือนกัน ดังนั้น แคสเปอร์สกี้ แลป จึงได้ริเริ่มโครงการสอนเด็กๆ ให้รู้จักกับความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ให้มากขึ้น โดยจะเข้าไปอบรมให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมเพื่อให้รู้ถึงวิธีการใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย รู้จักถึงเรื่องภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ และเพื่อให้มีพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ที่ถูกต้อง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี

โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มแล้วที่ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรก เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับประเทศอื่นๆ ต่อไป

Advertisement

นอกเหนือไปจากเรื่องการให้ความรู้แก่เด็กๆ เพื่อปูพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แล้ว แคสเปอร์สกี้ แลป ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการอุตสาหกรรมไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ด้วยการเตรียมเปิดศูนย์แห่งความโปร่งใสขึ้น เพื่อเปิดให้คนนอกสามารถเข้าไปดูซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสของแคสเปอร์สกี้ได้

การเปิดศูนย์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐถอดผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ แลป ออกจากการใช้งานของรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งแคสเปอร์สกี้ แลป มองว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย

ซึ่งนายสเตฟานกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และถูกปั่นข่าวขึ้นมาโดยสื่อของสหรัฐ ทางนายยูจีน แคสเปอร์สกี้ ผู้ก่อตั้งบริษัท แคสเปอร์สกี้ แลป จึงถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้เรื่องนี้มีความโปร่งใส และแสดงความจริงออกมา

กลายเป็นที่มาของการสร้างศูนย์แห่งความโปร่งใสขึ้น โดยจะเริ่มจากการตั้งในยุโรป ตามด้วยสหรัฐ และเอเชีย-แปซิฟิกตามลำดับ เพื่อเปิดให้เข้าไปตรวจสอบซอร์สโค้ด ดูว่าซอฟต์แวร์ของแคสเปอร์สกี้ แลป ทำงานอย่างไร ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถเข้าไปตรวจสอบ ดูวิธีการเขียนซอร์สโค้ด

เมื่อถามว่า ในเมื่อแคสเปอร์สกี้ แลป เอง เคยเสนอให้สหรัฐอเมริกา เข้าไปตรวจสอบซอร์สโค้ดได้ เพื่อแสดงความจริงใจว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้น หากแต่ก็ถูกสหรัฐปฏิเสธ แล้วคิดว่าการเปิดศูนย์แห่งความโปร่งใสนี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือ

นายสเตฟานบอกว่า ก็คงจะไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า เพียงแต่สิ่งที่ทำ เพื่อแสดงความจริงใจ เปิดให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบสามารถเข้าไปตรวจสอบได้จริงๆ และถือเป็นบริษัทเดียวที่ยินดีให้คนนอกเข้าไปเห็นในสิ่งที่ทำ

เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของแคสเปอร์สกี้ แลป ที่คงไม่สามารถไปบังคับให้ใครเชื่อได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image