‘จรินทร์ จักกะพาก’ ปลัดกระทรวงแรงงาน ใช้ฐานข้อมูลเดียวพัฒนากำลังคน

หมายเหตุ-กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเดียวที่มีรัฐมนตรีรักษาการ หลังจากที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล และทีมงานฝ่ายการเมืองทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งขณะที่เบอร์ 1 ของฝ่ายข้าราชการประจำก็เพิ่งเข้าทำงานได้เพียง 1 เดือนเศษ นับจากนี้แนวทางการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ของกระทรวง เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นอย่างไร “นายจรินทร์ จักกะพาก” ปลัดกระทรวงแรงงาน มีคำตอบ

 

  • เข้ามาไม่นานรัฐมนตรีก็ลาออก

รัฐมนตรีก็มีเหตุผลของท่าน เราคงไม่ก้าวล่วง ท่านตัดสินใจก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของท่าน ไม่มีปัญหาครับ ใครมาก็ทำงานได้หมด

 

Advertisement
  • ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปลัดฯข้ามห้วย

ไม่จริง! ผมเป็นรุ่นก่อตั้งกระทรวงแรงงาน อยู่ 2 ปี ก็ย้ายไปกระทรวงมหาดไทย ทำงานที่นั่น 20 กว่าปี จึงได้กลับมาอีก ผมเป็นข้าราชการ มีคำสั่งให้ไปไหนก็ต้องไป มาอยู่ที่นี่ก็ท้าทายดี วันแรกที่รู้ว่าต้องมา จริงๆ ผมดีใจนะ ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานอะไรมา ก็ต้องทำ และต้องทำให้ดี

 

  • อะไรคืองานที่ท้าทายปลัดฯ

จะทำอย่างไรให้คนไทยไม่ตกงาน เพราะที่ผ่านมา ก็จะเจอปัญหา คนทำงานหนักไม่เอา เบาไม่สู้ และการผลิตแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพราะความเป็นจริงคนไทยยังตกงานอยู่มาก ขณะที่แรงงานต่างด้าวยังเข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนั้น ต้องทำให้คนไทยมีงานทำ แต่จะอาศัยกระทรวงแรงงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้หลายๆ กระทรวงช่วยด้วย แต่ในเบื้องต้น กระทรวงแรงงานก็ต้องขับเคลื่อน และแสดงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกัน และมีทิศทางทำงานเดียวกัน ส่วนแรงงานต่างด้าวก็เป็นส่วนประกอบ แต่ตอนนี้ เรายังไม่ชัดเจนว่ามีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกี่คน

Advertisement

เพราะไม่เคยมีฐานข้อมูลนี้ วันนี้เราพยายามเก็บอัตลักษณ์ตัวบุคคล ว่าเขาคือใคร ชื่ออะไร สัญชาติใด เหมือนกับการมีบัตรประชาชนของคนไทย แต่ที่ผ่านมา การจัดระบบตรงนี้ไม่มี และเป็นช่องทางให้เขาถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นช่องทางหากินของคนคิดไม่ซื่อ ถ้าเรามีฐานข้อมูลที่ดีจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้ จะมีประโยชน์มาก เพราะจะได้รู้ความต้องการแรงงานที่แท้จริง แรงงานต่างด้าวก็ได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

  • ที่ผ่านมาแสดงว่ายังทำได้ไม่ดี

ต้องพูดว่าระบบทำได้ แต่ไม่ครอบคลุม วันนี้จึงต้องจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวใหม่ให้ชัดเจน โดยการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และที่สำคัญ ต้องทำให้เป็นฐานข้อมูลเดียวใช้ร่วมกันทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ล่าสุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง ม.44 แต่งตั้งคณะกรรมการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน มีอธิบดีกรมการปกครอง เป็นเลขานุการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ฯ และมีกรรมการจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็เป็นแนวทางชัดเจนว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้เริ่มในกลุ่มแรงงานต่างด้าวภาคประมงที่ใช้เครื่องสแกนม่านตาแล้ว แต่คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาต่อไปว่า ในแรงงานต่างด้าวประเภทอื่นๆ ควรใช้วิธีการเดียวกัน หรือมีวิธีการใดที่เหมาะสมกว่า

การจะเป็นข้อมูลฐานเดียว และต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการชุดนี้ เหตุใดต้องมีการสแกนม่านตาในแรงงานประมง ต้องชี้แจงว่าเนื่องจากเดิมใช้ลายนิ้วมือกับใบหน้า แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะแรงงานประมงใช้มือมาก ลายนิ้วมือเลือนหายหมด จึงทำให้พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นใคร แต่เครื่องสแกนม่านตาพิสูจน์อัตลักษณ์ได้ชัดเจน บางคนสงสัยว่า กรมเจ้าท่าทำอยู่แล้ว เหตุกรมการจัดหางานจะต้องทำด้วย เนื่องจากแรงงานประมงเมื่อสแกนม่านตาแล้ว ต้องไปขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ซึ่งไม่สะดวก จึงเป็นที่มาของการทำให้ทั้ง 2 ส่วน อยู่ในคราวเดียวปัจจุบันเครื่องสแกนม่านตายังยืมมาจากกรมเจ้าท่า 30 เครื่อง กระทรวงแรงงานยังไม่ได้จัดซื้อแต่อย่างใด

 

  • ยังมีเห็นต่างในการใช้เครื่องสแกนม่านตา

คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาว่าควรจะใช้ในแรงงานประเภทอื่นหรือไม่ และเครื่องนี้ราคาเครื่องละประมาณ 1 แสนบาท จะซื้อหรือไม่ และต้องใช้กี่เครื่องก็อยู่ที่คณะกรรมการฯ พิจารณา แต่เครื่องมือพิสูจน์อัตลักษณ์ก็เป็นการพิสูจน์สัญชาติเพื่อให้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็มีแต่แรงงานใต้ดิน ต่างชาติก็ตำหนิเราได้ว่าใช้แรงงานทาส หากทำให้พวกเขาอยู่ในระบบ เราจะคุ้มครองเขาได้ ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องเสียภาษี เข้าประกันสังคม เมื่อแรงงานต่างด้าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนไทยก็จะได้ประโยชน์ด้านสุขภาพด้วย เพราะลดการเกิดโรคระบาดได้

 

  • ปัจจุบันมีใช้ 30 เครื่องไม่พอหรือ

หากพิสูจน์เฉพาะแรงงานต่างด้าวภาคประมงประมาณ 7 หมื่นคน ก็พอ เพียงแต่ต่างด้าวที่เหลืออีกกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะที่มีการจับคู่ก็อยู่กว่า 7 แสนคนควรจะทำวิธีการใด หากต้องใช้วิธีการนี้ก็จำเป็นต้องซื้อเพิ่มตามระเบียบของราชการ ส่วนวิธีการอื่นๆ เช่น ตรวจลายนิ้วมือ สแกนหน้า ฯลฯ ก็มีการดำเนินการอยู่ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เราจะก้าวล่วงไม่ได้ ที่สำคัญ กระทรวงแรงงานเป็นผู้ใช้ จะให้ความเห็นคงไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สำหรับแรงงานต่างด้าว เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้วจะถูกยกระดับเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย โดยหลังวันที่ 31 มีนาคม 2561 จะไม่มีบัตรสีชมพู (บัตรชั่วคราว) อีก แต่จะเป็นบัตรถาวร ซึ่งกระทรวงแรงงานจะดึงฐานข้อมูลพิสูจน์อัตลักษณ์จากทะเบียนประวัติ และกรมการจัดหางานจะวางระบบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เหมือนกับสำมะโนประชากร ที่หากจะย้ายถิ่นที่อยู่ก็แค่ไปแจ้ง ระบบทั้งหมดก็จะส่งไปอีกแห่งหนึ่งทันที เรื่องนี้ก็เช่นกัน

 

  • จะเสร็จทันกำหนดหรือไม่

ผมคิดว่าทันวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยล่าสุดมอบหมายให้กรมการจัดหางานไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ปรับระบบการทำงานภายในศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย ตาก สมุทรปราการ ระนอง สมุทรสาคร (2 แห่ง) เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา ยกตัวอย่าง จ.สมุทรปราการ ให้กำหนดเวลาว่า เฉพาะต่างด้าวในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จะใช้เวลาพิสูจน์สัญชาติกี่วัน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือให้โควต้าสำหรับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดข้างเคียง หรืออาจขยายให้ครอบคลุม 76 จังหวัด เพราะแรงงานต่างด้าวมีทุกพื้นที่ ขณะนี้กลุ่มจับคู่มีเวลาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ส่วนกลุ่มบัตรสีชมพูเหลือประมาณ 1.2 ล้านคน จะครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2561 รวมทั้งขยายไป 76 จังหวัดเรื่องนี้จะหารือในที่ประชุมกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ปรับเพื่อให้สะดวกขึ้น เพราะทุกวันนี้รอกันนาน ไม่อำนวยความสะดวกเลย

หลังวันที่ 31 มีนาคม 2561 แรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้าเมืองมาจะถูกกฎหมาย ลดปัญหาการสวมบัตร โดยต้องมี 1.พาสปอร์ต หรือมีเอกสารพิสูจน์สัญชาติ เช่น พม่า จะเรียก CI และ 2.บัตรแสดงประจำตัว ซึ่งจะแสดงว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย และข้างหลังจะเป็นใบอนุญาตทำงานอยู่ในใบเดียวกัน ก็เหมือนบัตรประจำตัวประชาชน หากไม่มีก็จะมีความผิด ถูกปรับ และส่งตัวกลับ ขณะที่นายจ้างก็จะถูกปรับด้วย แต่บัตรนี้ยังไม่อนุญาตให้แรงงานออกนอกเขตจังหวัด แต่อนาคตหากเข้าระบบหมดอาจอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ เพราะ ไทยจะเปิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ก็จะมีคนมาลงทุนมาก และต้องการแรงงานที่ไม่มีฝีมือ อาจต้องมีการถ่ายเทแรงงานจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดหนึ่ง

 

  • ไทยจะพ้นประเทศที่ถูกจับตามองหรือไม่

ผมว่ามีส่วน เพราะเราปฏิบัติตามหลักสากล สามารถกำกับดูแล และให้ความคุ้มครองตามกฎหมายของเราได้ ปัญหานี้สะสมมานาน และการพิสูจน์อัตลักษณ์ถือเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง หากเราไม่ทำ ก็จะมีกระบวนการผิดกฎหมายอยู่อีก และสังคมไทยจะอยู่สงบได้อย่างไร ผมก็ทนไม่ได้ที่ให้คนต่างด้าวเข้ามาผิดกฎหมาย มาใช้สาธารณูปโภค รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการหากินที่ไม่สุจริตของคนบางกลุ่ม สังคมไทยปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ต่างชาติอาจจำกัดสินค้าบางประเภท ไม่รับซื้อจากเราก็ได้

 

  • ตลาดแรงงานไทยต้องการแรงงานต่างด้าวเท่าไร

เป็นเรื่องที่ต้องแสวงหาความชัดเจน แต่หลังจากนี้จะสอบถามความต้องการจากภาคเอกชน ซึ่งในสัปดาห์หน้าผมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะคนไทย ทั้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเอกชน บีโอไอ หารือว่าขณะนี้ความต้องการแรงงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาชาติมีอะไร อย่างไร ขณะเดียวกัน แรงงานที่มีทั้งคนไทยและต่างด้าว เพียงพอหรือไม่ และระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้เรียนนั้นตอบสนองภาคแรงงานหรือไม่ เพราะวันนี้เด็กเรียนจบปริญญาตรีแต่ตกงาน  ต้องทบทวน คราวนี้ต้องทำให้เป็นรูปธรรม

 

  • คนไทยตกงานมากน้อยเท่าไร

กำลังหาข้อมูลที่ชัดเจน เพราะจริงๆ คนไทยตกงานแบบถาวร ไม่ค่อยมี แต่ตกงานแบบเป็นครั้งเป็นคราวมาก เพราะเด็กสมัยนี้ ทำงาน 3-4 เดือน เปลี่ยนงาน ไม่มีความอดทน ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องปรึกษาหารือจะแก้ปัญหาให้คนไทยสู้งานอย่างไร ส่วนคนตกงาน ก็มีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานนำไปฝึกงานตามความต้องการตลาด เพื่อให้มีงานทำ ที่เล็งไว้คือ กลุ่มทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ จะชวนไปฝึกทักษะอาชีพ เป็นต้น เราจะต่อยอดให้สมบูรณ์

จริงๆ การทำงานที่เรียกว่า บูรณาการ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมมั่นใจว่า หากเราลดอัตตาและเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง จะได้ประโยชน์ ผมมีเพื่อนอยู่มหาดไทย  ก็ยังขอความร่วมมือกันได้ เพราะทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้พี่น้องประชาชน

 

  • อธิบดีกรมการจัดหางานเพิ่งถูกม.44

ม.44 ออกมาทุกครั้งเพราะเป็นเรื่องการทำงาน ก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นวิถีปฏิบัติของแต่ละคน ใครทำอะไรก็ได้ ส่วนผม มีหน้าที่อะไร ก็ทำเต็มที่

 

  • กระทรวงจะปรับโฉมหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไป จะที่ปรับให้ทุกกรมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน หากรู้เหมือนกัน มีทิศทางทำงานเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อประชาชนเป็นไปได้แน่นอน แต่หากยังต่างคนต่างทำ ประสิทธิภาพการทำงานก็คาดคะเนไม่ได้ว่าจะออกผลอย่างไร แต่หากวางระบบให้ดี มีทิศทางทำงานเดียวกัน ก็คาดคะเนได้ว่าข้างหน้าดีขึ้นแน่นอน ต้องวางระบบให้ดี เพราะข้าราชการกระทรวงแรงงานทั้งประเทศมีเพียง 7-8 พันคน เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image