สธ.ร่วมป.ป.ส.ตรวจพบ’ยานอนหลับชนิดใหม่’ ฤทธิ์แรง 10 เท่า หลับนาน 8 ชม.อันตรายถึงชีวิต

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน  ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช รองผู้บัญชาการตำรวจภุธรภาค 9 (รอง ผบช.ภ.9) นายวชิระ อำพนธ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และน.ส.กัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แถลงข่าว “ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ระบาดในประเทศไทย”

นพ.สุขุมกล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2560 สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลารวม 10 ตัวอย่าง มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ “5” ส่วนอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ “4 แฉกพร้อมตัวพิมพ์ 028 ” บรรจุในแผงอะลูมิเนียมสีเงินพลาสติกใสสีแดงแผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น (MADE IN JAPAN) และชื่อยา “Erimin5”  หลังตรวจสอบ พบว่า เป็นยาปลอมเนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ที่ปกติจะพบอยู่ในยาอีริมิน( Erimin) 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิง เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

นพ.สุขุมกล่าวอีกว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของยา โดยใช้เทคนิคต่างๆ ในห้องปฏิบัติการประกอบกัน ได้แก่ เทคนิคโครมาโทกราฟีแผ่นบาง (TLC) การวัดการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องยูวี วิส สเปกโทรโฟโตมิเตอร์ การตรวจด้วยเครื่อง Gas chromatograph-Mass spectrometer และเทคนิค Infrared spectroscopy ทำให้สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม (Etizolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยาอีทิโซแลมมีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ ซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากกว่ายานอนหลับไดอาซีแพม (Diazepam) ถึง 10 เท่า ให้ระดับยาในเลือดสูงสุดภายในเวลา 0.5-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 6-8 ชั่วโมง เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และอินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรงต่างๆ กันสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ

“แต่มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัวใน และทำให้ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดใช้ทดแทนยาอี (Ecstasy) สำหรับในประเทศไทยเนื่องจากยาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายหรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศจึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท” นพ.สุขุมกล่าว

Advertisement

นพ.สุขุมกล่าวว่า มีการโฆษณาเป็นสารเคมีสำหรับในใช้ในการศึกษาวิจัย ในบางประเทศสามารถหาซื้อได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ตหรือร้านค้าท้องถิ่นในรูปแบบ ยาเม็ด ผง หรือเคลือบซับอยู่บนกระดาษ แต่ในหลายๆ ประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศ เดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ เช่น ฟลอริด้า อลาบามา เวอร์จิเนีย เท็กซัส เป็นต้น

นพ.สุขุมกล่าวอีกว่า ล่าสุด มีรายงานข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 รายในสกอตแลนด์เมื่อปี พ.ศ.2559 เนื่องจากใช้ยาไดอาซีแพมปลอมที่บางตัวอย่างมีส่วนผสมของยาอีทิโซแลม ประเทศสหราชอาณาจักรโดย The Misuse of Drug Act 1971 ได้ประกาศให้เป็นยาควบคุมกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอัลปราโซแลม (Alprazolam) และไดอาซีแพม (Diazepam) นอกจากนี้ ยาดังกล่าวเป็น  1 ใน 16 ชนิด ที่สหประชาชาติจะมีการทบทวนและพิจารณาการควบคุมทางกฎหมายระดับสากลในการประชุม ECDD (Expert Committee on Drug Dependence) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2560

Advertisement

“ยาอีทิโซแลมที่เริ่มมีการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดในประเทศไทย เป็นการตรวจพบครั้งแรก โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจและห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดชนิดใหม่เพื่อให้ทันการณ์ในยุคโลกไร้พรมแดน ทำให้ได้ข้อมูลที่พร้อมสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปใช้ได้ทันท่วงที” นพ.สุขุมกล่าว

นายวชิระกล่าวว่า ยาชนิดนี้ อย.ไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ไม่อนุญาตให้ใช้และยังไม่มีการควบคุมเนื่องจากเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ อย.จะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเอกสาร รวมถึงสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคอุตสาหกรรมด้วยว่ามีการใช้สารตัวนี้หรือไม่  ก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พิจารณาว่าจะจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์แบบไหน แต่เบื้องต้นอาจกำหนดเป็นประเภท 2 แต่หากพบว่าไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ ในทางการแพทย์จริงๆ ก็อาจจะเข้มงวดการควบคุมมากขึ้น

“การเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบนำเข้าและครอบครองยาตัวนี้ ขณะนี้จะเป็นการเอาผิดในเรื่องยาปลอม มาตรา 117 ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ผู้ใดผลิตยาปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(1) จำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต ปรับ 1-5 หมื่นบาท ผู้ขายและนำเข้าตาม มาตรา 119 จำคุก 1-20 ปี ปรับ 2,000-10,000 บาท และวัตถุออกฤทธิ์ปลอม มาตรา 57(1) พ.ร บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2559 ที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ปลอม โดยผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท ส่วนผู้ขายต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท” นายวชิระกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image