รั้วที่กั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดย : กล้า สมุทวณิช

ถ้าเราอาจจะเปรียบการใช้เสรีภาพได้เหมือนกับพื้นที่ว่างอันเป็นสนามขนาดใหญ่ ที่ใครๆ จะเข้าไปใช้ก็ได้ จะเข้าไปวิ่งเล่น เตะฟุตบอล หรือปลูกดอกไม้ก็เอาที่สบายใจ

เมื่อใครๆ ก็ชอบที่จะทำอะไรก็ได้ มากคนมากกิจกรรมเข้า ก็จะต้องมีการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันได้ สภาพที่ต่างคนต่างใช้เสรีภาพแบบสมบูรณ์ตามใจท่านเช่นนั้น ในที่สุดแล้วก็อาจจะไม่มีใครใช้เสรีภาพของตัวเองได้สมปรารถนาเลย เช่น คนวิ่งก็เสี่ยงไปชนกับคนอื่น คนเล่นฟุตบอลก็จะมีคนวิ่งผ่ากลางวง คนปลูกดอกไม้ก็จะมีรอยเท้าของเหล่านักวิ่งอยู่กลางแปลง ฯลฯ

เราจึงต้องมี “รั้ว” ขึ้นมากั้นขอบเขตของเสรีภาพ ให้สามารถใช้เสรีภาพไปได้เท่าที่จะไม่กินแดนล้ำเข้าไปกระทบในเสรีภาพของคนอื่นได้ ดังเช่นกั้นรั้วกันแปลงดอกลาเวนเดอร์เอาไว้เป็นเขตว่า พวกที่ชอบวิ่งนั้นจะวิ่งไปไหนก็ตามใจ แต่จะมาวิ่งผ่ากลางแปลงดอกไม้โลกสวยของเขาไม่ได้

ดังนั้น รั้วที่แม้จะเป็นเครื่องจำกัดกีดกั้นพื้นที่สำหรับคนนอกรั้ว แต่ในสำหรับผู้ที่อยู่อีกด้านนั้น รั้วคือเครื่องป้องกันความเสียหาย

Advertisement

ในความเป็นจริงแล้ว “รั้ว” คือกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของข้อตกลง กติกา จรรยาบรรณ หรือที่สำคัญและทรงอำนาจที่สุดก็คือ “กฎหมาย” ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ได้รับการรับรองและมีสภาพบังคับให้โดยอำนาจรัฐ

เสรีภาพที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ใช้กันถี่บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กยุคปัจจุบันนี้ คือ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เพราะในการกดโพสต์เฟซบุ๊กหนึ่งคลิก นั่นก็คือเราได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปแล้วหนึ่งครั้ง เช่นนี้คงจินตนาการกันได้ว่า ผู้คนในโลกปัจจุบันนี้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกี่ล้านล้านเสรีภาพต่อวินาที

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ก็มีรั้วแห่งกฎหมายกั้นเอาไว้ ทั้งรั้วที่กั้นเขตแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ (โดยเราจะขอยังไม่กล่าวถึงในขณะนี้) และรั้วที่กั้นระหว่างเอกชนพลเมืองด้วยกัน ที่ด้านหนึ่งคือทางวิ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังที่ว่าไปแล้ว ส่วนอีกด้านที่รั้วกั้นไว้ อาจจะเป็นเหมือน “แปลงดอกไม้” ส่วนตัวของผู้คน ที่ได้แก่เสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัวและชื่อเสียงเกียรติยศ

Advertisement

การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น หากแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคนอื่นเลย เช่น บ่นว่าวันนี้ร้อนจัง หรือโพสต์รูปแมวจรที่เจอแถวบ้าน ก็เหมือนกับการวิ่งในลานว่างที่ไม่กระทบกระเทือนเกี่ยวข้องกับใคร แต่กรณีเช่นนี้ก็มีไม่มากนัก เพราะในที่สุดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเรานั้น ก็จะต้องไปกระทบกับใครสักคนเข้าอยู่ดี เช่น การโพสต์รูปคนแปลกหน้าที่เราพบเจอบนรถไฟฟ้า พร้อมข้อความประกอบความคิดเห็น (สมมุติว่า – “หน้าตาก็ดี แต่ดันมายืนพิงเสา”) นั่นคือการวิ่งเฉียดเข้าไปใน “ขอบรั้ว” ของเขาแล้ว

รั้วที่ว่านี้สำหรับกฎหมายของไทยคือ “กฎหมายหมิ่นประมาท” ซึ่งแบ่งเป็นกฎหมายในส่วนแพ่งและส่วนอาญา และส่วนเสริมพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

โดยความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 ถึงมาตรา 333 ส่วนสิ่งที่เรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้น บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 หมวด 1 ความรับผิดเพื่อละเมิด ในมาตรา 423 ว่าด้วยการกระทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วยการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การกระทำที่ถือเป็นการ “หมิ่นประมาท” ผ่านเครือข่ายดังกล่าว ก็เป็นความผิดตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งแก้ไขกันไปในปี 2560 นี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้หมายใจไว้ว่าจะให้บทความนี้อธิบายรายละเอียดข้อกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของหนังสือและบทความในวิชากฎหมาย จึงจะขอนำเสนอข้อคิดเห็นบางอย่างเกี่ยวกับ “รั้วกั้น” เสรีภาพ ที่ชื่อว่า “กฎหมายหมิ่นประมาท” นี้สักสองสามประการ

ประการแรก นั่นคือ ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า กฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ว่าจะในทางอาญาหรือทางแพ่งก็ตามนั้น มี “คุณธรรมทางกฎหมาย” คือประโยชน์ที่กฎหมายมุ่งปกป้องคุ้มครอง ได้แก่ “ชื่อเสียงเกียรติคุณ” และ “ผลประโยชน์” ที่เกี่ยวข้องด้วยชื่อเสียงตัวตนของบุคคล

ดังนั้น การถูกละเมิดสิทธิที่จะเริ่มเข้าเขตที่กฎหมายหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญานั้นจะคุ้มครองได้ ก็จะต้องเกิดจากการละเมิดที่กระทบต่อ “ชื่อเสียงเกียรติคุณ” หรือ “ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของบุคคล” ดังหากพิจารณาการกระทำอันจะมีองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น จะต้องเป็นเหตุให้บุคคลอื่น “เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” หรือในทางแพ่ง ก็จะต้องเป็นเรื่องที่ “เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขา” เสียก่อน

เช่นนี้ จึงมีข้อสังเกตว่า การ “ก้าวล่วง” เข้าไปรบกวนใน “สิทธิส่วนบุคคล” เฉยๆ โดยยังไม่ถึงกับจะเป็นเหตุกระทบถึงชื่อเสียงเกียรติคุณหรือประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นของบุคคล ถ้าพิจารณาตามตัวบทกฎหมายปัจจุบัน ก็ยังไม่ล่วงเข้าแดนความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาททั้งแพ่งและอาญา

ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายรูปผู้คนบนรถไฟฟ้า หรือบุคคลอื่นในพื้นที่สาธารณะ และนำมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีการเขียนข้อความใดๆ ในทางไม่ดีหรืออาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เช่นนี้ก็อาจจะ “ยัง” ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหมิ่นประมาท เว้นแต่อาจจะเป็นเหตุที่ถือว่าเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ที่จะเป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลที่อาจถูกละเมิดในลักษณะที่ไม่ถึงกับเป็นการหมิ่นประมาทเช่นนี้ คงจะต้องมีกฎหมายพิเศษเข้ามารองรับในกาลต่อไป ในยุคที่กล้องและสื่ออยู่ในมือทุกคน ซึ่งโดยปกติแล้ว คงไม่มีใครอยากจะถูกถ่ายภาพโดยคนที่ไม่รู้จักและส่งกระจายไปทั่วโดยไม่รู้ตัวเป็นแน่

ข้อสังเกตอีกประการที่เกี่ยวด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ ก็ได้แก่สิ่งที่รั้วแห่งกฎหมายนี้กางขึ้นมากั้นไม่ให้ล่วงเข้าละเมิดในเสรีภาพในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลอื่นนั้น คือเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นนั้น เป็นเสรีภาพที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ “ประโยชน์สาธารณะ”

การแสดงความคิดเห็นของผู้คนนอกจากจะเป็นไปเพื่อการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของตน หรือรักษาผลประโยชน์ส่วนของตนแล้ว มันยังมีนัยของการรักษาประโยชน์ของสาธารณะด้วย ได้แก่ การแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะต่างๆ ทั้งในเรื่องของการดำเนินงานของรัฐในทุกระดับ ตั้งแต่การวิพากษ์รัฐบาล วิจารณ์หน่วยงานของรัฐ รวมถึงการติชมแสดงความคิดเห็นในกิจการของเอกชนที่ค้าขายหรือให้บริการต่อส่วนรวมเป็นการทั่วไป

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่นนี้ เป็นข้อพิจารณาที่ “รั้ว” แห่งกฎหมายหมิ่นประมาทจะต้องวางตำแหน่งของตัวเองให้ดี เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ “มีพื้นที่” ในการเคลื่อนไหวได้โดยเสรีเท่าที่ควร

ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญานั้นก็มีข้อยกเว้นอยู่ในมาตรา 329 ที่พอสรุปได้ว่า การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา

แต่อย่างไรก็ตาม การ “ไม่เป็นความผิด” นั้น ผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคือศาล ดังนั้นจึงเป็น “คนละเรื่อง” กับการ “ไม่ถูกดำเนินคดี” โดยความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญานั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายอาจจะร้องขอให้รัฐดำเนินคดีให้ ผ่านกระบวนการแจ้งความร้องทุกข์ หรืออาจจะฟ้องคดีเองก็ได้

ปัญหาประการหนึ่งที่ได้พบในกรณีการฟ้องร้องดำเนินคดี ก็คือการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเป็นการฟ้องร้องเชิง “ปิดปาก” เพื่อไม่ให้ผู้ใดมาตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า กลยุทธ์ SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) ซึ่งเป็น “กลยุทธ์” ที่ภาคธุรกิจและภาครัฐนั้นใช้กันอยู่ทั่วโลก เพื่อเล่นงานภาคประชาชนด้วยกลไกที่เหมือนจะชอบด้วยกฎหมาย

การฟ้องคดีแบบกลั่นแกล้งแบบดั้งเดิมที่นิยมสุด คือในกรณีของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องคดี อาจจะไปใช้สิทธิฟ้องร้องหรือแจ้งความในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หรือหน่วยราชการนั้นสามารถทำได้ง่ายดายเพราะมีตัวแทนของตัวเองทั่วประเทศอยู่แล้ว หรืออีกประการ คือการให้ทนายความหรือตัวแทนไปแจ้งความฟ้องร้องในพื้นที่ที่ห่างไกลจากผู้ถูกกล่าวหา อย่างที่เราเคยได้ยินกันมาว่า เขานิยมไปแจ้งความฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทกันที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หรือสุดเขตแม่สายชานแดนเชียงราย เพื่อ “แกล้ง” ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องเดินทางไกลไปรับทราบข้อกล่าวหาหรือต่อสู้คดีนั่นแหละ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาฉบับหนึ่งวางหลักไว้ว่า “สถานที่เกิดเหตุ” ของการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานี้ คือ “ทุกที่” ที่ข้อความนั้นกระจายไปถึง เช่น ถ้าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ คือทุกที่ที่สิ่งพิมพ์ฉบับนั้นส่งไปจำหน่ายได้ถึง ซึ่งบรรทัดฐานนี้ก็ถูกนำมาปรับกับกรณีการหมิ่นประมาทกันผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้ว่า หมายถึงทุกพื้นที่ซึ่งมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต สามารถเปิดเว็บหรือเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีข้อความที่อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นได้

การแกล้งฟ้องคดีในลักษณะนี้น่าจะเป็นการปกป้องเสรีภาพในชื่อเสียงเกียรติคุณของตนเองอย่างเกินสมควร จนรุกรานเข้ามากระทบกระเทือนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการบริหารและการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมตามสมควรเพื่อการรักษาประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย

ล่าสุดได้ทราบว่า ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งกันในลักษณะนี้ ซึ่งอาจถือเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลอาจจะไม่รับฟ้องคดีก็ได้ ดังนั้นหากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้สำเร็จ และศาลใช้ดุลยพินิจไว้เป็นบรรทัดฐานว่าการฟ้องคดีหรือร้องทุกข์ข้ามจังหวัดแบบนี้ถือเป็นการฟ้องคดีที่ไม่ชอบ ก็จะเป็นการลดปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปากในลักษณะนี้ได้

เพื่อวางรั้วที่กั้นระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีพื้นที่อันได้สัดส่วนสมประโยชน์ในการปกป้องเสรีภาพในชื่อเสียงเกียรติคุณ สมดุลกันระหว่างเสรีภาพทั้งสองนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image