สนช.จับมือ พม.ปรับปรุงกฎหมายความรุนแรงฯ เล็งแก้พ.ร.บ.ค้าประเวณี

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวสุนทรพจน์ หัวข้อ “พม.กับการสร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society” ในการสัมมนาปฏิบัติการ “สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society” จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนหนึ่งว่า พม.ได้กำหนด 3 แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือ 1.การสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง โดยเราได้ดำเนินการสร้างความตระหนัก เข้าใจ เข้าถึงสิทธิของประชาชน การรณรงค์ปรับทัศนคติของสังคมและครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และเครือข่ายในการเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวภายในพื้นที่ 2.การคุ้มครองช่วยเหลือ เราได้วางระบบงาน และปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพในการคุ้มครองช่วยเหลือครอบครัวตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พร้อมทั้งบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำแทนการลงโทษจำคุกเพื่อไม่ให้กลับมากระทำซ้ำ และ 3.การเสริมพลัง ซึ่งเราได้ดำเนินการทางสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ อาทิ การติดตามเยี่ยมบ้าน การสร้างอาชีพรายได้ ให้ความรู้เรื่องสิทธิ และกฎหมาย

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า สนช.โดยอนุกมธ.กิจการสตรีได้ร่วมดำเนินการรณรงค์ยุติความรุนแรงมาตลอด โดยที่ผ่านมาพัฒนาไปมาก ทั้งนี้ กมธ.กิจการสตรีก็กำลังศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในสภาฯ โดยในการแก้กฎหมายนั้น คงจะไม่ไปเพิ่มโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมายปัจจุบันก็กำหนดโทษรุนแรงอยู่แล้ว อาทิ คดีกระทำชำเรา แต่เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญ อาทิ ทำให้การหยอกล้อทางเพศที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ให้เป็นเรื่องน่าอับอายของผู้กระทำ

ขณะที่ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกมธ.กิจการสตรี สนช. กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ พบเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง ปี 2558 เฉลี่ย 66 รายต่อวัน ปี 2558 เฉลี่ย 55 รายต่อวัน ปี 2560 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยจากสุรา ยาเสพติด และส่วนใหญ่เป็นการกระทำของคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2560 พบจังหวัดที่มีการรายงานข้อมูลการช่วยเหลือผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ ชลบุรี กาญจนบุรี น่าน ราชบุรี พัทลุง เชียงใหม่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี แพร่ และสุโขทัย ทั้งนี้ จากการสัมมนานี้ สค.ก็จะรับประเด็นต่างๆไปดำเนินการ และขับเคลื่อนไปกับสนช.ที่รับผิดชอบด้านกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งสนช.ก็จะดูว่ากฎหมายเพียงพอหรือยังหรือจะต้องแก้ไขตรงไหน โดยขณะนี้ยังไม่มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามา แต่มี ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ. …  ขณะนี้อยู่ในขั้นกฤษฎีกา ขณะที่สนช.ยังมอง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2537 ที่ล้าสมัยไปแล้ว ก็อาจต้องร่วมกันปรับแก้เช่นกัน

 

Advertisement

นางสุวรรณี (ผู้หญิงจากซ้าย) ), พล.ต.อ.อดุลย์ และนายพรเพชร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image