คอลัมน์ Think Tank: ชื่อย่อในโลกของการค้าเสรี

Copyrighted free use, https://commons.wikimedia.org86449

ในโลกของการทูตและการค้า อักษรย่อ ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในช่วงที่ผู้นำโลกมาประชุมกันที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบบการเรียกชื่อเขตการค้าเสรีเหล่านี้ก็จะปรากฏขึ้นมา ทั้งนาฟต้า ทีพีพี อาร์เซ็ป เป็นต้น

สำหรับผู้ที่อยู่นอกวงการของระเบียงอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว อาจไม่คุ้นเคยกับความหมายของคำเหล่านี้เท่าไหร่

อันดับแรกเลยคือเอเปกที่เป็นตัวย่อของ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่เพิ่งจัดการประชุมสุดยอดผู้นำในเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เอเปกเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 ชาติในภูมิภาคแปซิฟิก คิดเป็นเท่ากับ 60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก และครอบคลุมประชากร 2,900 ล้านคน

Advertisement

ก่อตั้งเมื่อปี 1989 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ถือเป็นผลผลิตหลังยุคสหภาพโซเวียต ที่ต้องการผลักดันให้การค้ามีความเสรีมากยิ่งขึ้นและลดกำแพงภาษีลงทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ต่อมาคือทีพีพี หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

ก่อนหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทีพีพีเป็นความพยายามที่จะสร้างข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่และครอบคลุมที่สุด คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั่วโลก

แต่ทีพีพีต้องประสบกับอุปสรรคใหญ่หลวง เมื่อทรัมป์ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกทีพีพี ทั้งๆ ที่รัฐบาลวอชิงตันใช้เวลาหลายปีก่อนหน้านั้น ผลักดันข้อตกลงนี้ที่มี 12 ชาติในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่รวมเอาจีนที่เป็นคู่แข่งแย่งชิงอำนาจอิทธิพลในภูมิภาค

AFP PHOTO / Anthony WALLACE

นับแต่นั้นมา 11 ชาติสมาชิกที่เหลืออยู่ ซึ่งเรียกกันว่าทีพีพี-11 ประสบปัญหาในการผลักดันการเจรจามาโดยตลอด จนกระทั่งในการประชุมครั้งนี้เองที่ ทีพีพี-11เห็นพ้องในองค์ประกอบหลักของข้อตกลง ที่ตอนนี้มีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการให้ยาวมากขึ้นไปอีก เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ก้าวหน้าอย่างครอบคลุม (ซีพีทีพีพี)

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงของทีพีพี-11 ที่ปราศจากสหรัฐคิดเป็นเพียงแค่ 13.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั่วโลก ขณะที่หากมีสหรัฐจะเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งโลก

ก่อนหน้านี้ สหรัฐเชิดชูทีพีพีว่าเป็น “มาตรฐานระดับทองคำ” เนื่องจากเป็นข้อตกลงการค้าที่มากกว่าแค่การลดภาษี แต่ยังจะยกระดับมาตรฐานในการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

ลำดับต่อมาคือ อาร์เซป หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่ถูกระบุว่าเป็นคำตอบของจีนที่มีต่อทีพีพี

ข้อตกลงที่ถูกเสนอขึ้นมาและยังอยู่ระหว่างการเจรจานี้จะรวมเอา 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเข้ากับประเทศคู่ค้า คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยตั้งใจที่จะลดกำแพงภาษีมากกว่าทีพีพี แต่ยังไม่ยกระดับมาตรฐานด้านอื่นๆ ให้มากเท่า

สุดท้ายคือนาฟตา หรือความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ที่ลงนามกันเมื่อปี 1994 ระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก

นาฟต้าถูกยกให้เป็นบิดาแห่งข้อตกลงการค้าเสรี โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่า โดยรวมแล้วนาฟตายังผลประโยชน์ทางการเงินอย่างชัดเจนให้กับทั้ง 3 ชาติตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ทรัมป์บอกว่า ข้อตกลงนี้ทำให้อเมริกาสูญเสียการจ้างงานให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

และนับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศขอเจรจาใหม่ มีความเห็นพ้องเกิดขึ้นน้อยมากในสิ่งที่สหรัฐต้องการเปลี่ยนแปลงและอีก 2 ชาติสามารถยินยอมให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image